เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก เล่นกอล์ฟกับเจ้า 3

golf

จิปาถะ

เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก เล่นกอล์ฟกับเจ้า  3

6

ตอนนี้ก๊วนของพวกเราเล่นกันมาจนถึงหลุม 17 แล้ว ก็สนุกสนานเป็นกันเองและสนิทสนมกับ “เจ้า” มากขึ้น ถึงแม้ว่าผมจะเกรงไปบ้าง แต่ก็สามารถสร้างบรรยากาศให้กลมกลืนกันไปได้ด้วยดี ระหว่างเดินจากหลุม 17 ไปที่แท่นตีหลุม 18 ซึ่งเป็นหลุมสุดท้าย   ผมถาม “เจ้า” ว่า “รำคาญคนแก่หรือเปล่าครับ ถามโน่นถามนี่ตลอดเลย”  เจ้าบอกว่า “ไม่หรอกครับ ยินดีมากเลย ผมชอบคุยกับผู้สูงวัยอยู่แล้ว  เพราะอีกไม่นานผมก็จะเป็นผู้สูงวัยเหมือนกัน”

“ขอบคุณครับ “เจ้า”

จากนั้น “เจ้า” อธิบาย เรื่องกอล์ฟให้ผมฟังต่อไปอีกว่า

“การออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬานั้นไม่ว่าจะเป็นกีฬาอะไร ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกาย คือ  ผู้เล่นจะต้องได้รับบาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้าง แต่อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายก็มีประโยชน์มากกว่าอยู่ดี  เพราะการไม่ยอมออกกำลังกายเลยยิ่งเป็นการทำร้ายร่างกายหนักขึ้นไปอีก”

“จริงครับ เจ้า”

“กีฬากอล์ฟเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ใช้กล้ามเนื้อเพียงด้านเดียว (One-Sided Sport) ดังนั้นอาจารย์อาจจะมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดแขนหรือปวดข้อต่างๆ ฯลฯ ฉะนั้นจะต้องรู้วิธีการป้องกัน ซึ่งได้แก่การวอร์มอัพก่อนการเล่น การไม่ซ้อมแบบหักโหมเกินไป  ควรเล่นกีฬาชนิดอื่นควบคู่กันไปด้วย  รู้จักการนำโยคะ ซี่กง ไทเก็ก และอื่นๆมาช่วยเสริมเพื่อสร้างความสมดุล ก็จะทำให้เล่นกอล์ฟได้ดีมีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บลดน้อยลง”

7

“เจ้า” อธิบายต่อไปอีกว่า “กอล์ฟนั้นเป็นเกมของความไม่แน่นอน แม้ว่าเราจะมีเครื่องมือและอุปกรณ์อย่างดีในการตีกอล์ฟ แต่หากว่าเราไม่มีเครื่องมือที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนเหล่านั้นทางด้านจิตใจ  เราก็คงจะตกที่นั่งลำบากในหลายๆสถานการณ์ก็ได้”(วิธาน.40)

“เจ้า” ทำอย่างไรครับ”

“ผมทำตามคำแนะนำของหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ ที่ว่าเราต้องฝึกการเข้าสู่ “สภาวะ” ที่เรียกว่า “มณฑลแห่งพลัง” หรือ ต้องฝึกให้มีสมาธินั่นเอง กล่าวคือ ร่างกายและจิตใจจะต้องสงบ นิ่ง ควรฝึกการหายใจด้วยท้อง (Abdominal Breating) คือ เมื่อหายใจเข้าท้องจะต้องป่องออกมาเพราะกะบังลมจะถูกดันตัวลงในช่องท้อง และเมื่อหายใจออกท้องจะแฟบแบนเพราะกะบังลมดันขึ้นบนในช่องอก การฝึกการหายใจก็เป็นไปตามหลักการที่ว่า ร่างกาย จิตใจและลมหายใจ คือตัวเรา เป็นการเชื่อมรวมร่างกายและจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียว…

สำหรับผู้ที่เล่นกอล์ฟได้ดี จะต้องประกอบด้วยร่างกายที่พร้อม สดชื่นกระฉับกระเฉง  มีจิตใจที่โปร่งโล่งผ่อนคลาย ปราศจากสิ่งรบกวน และตลอดเวลาการเล่นสามารถหลอมรวมร่างกายและจิตใจให้เข้าสู่สภาวะ  “มณฑลแห่งพลัง” ได้ตลอดเวลา ไม่เครียด ไม่โกรธ ไม่หงุดหงิด ไม่วิตกกังวล ยิ้มรับในทุกสถานการณ์ได้ด้วยอารมณ์ที่เป็นสุข  ก็จะเล่นกอล์ฟได้ดีและมีความสุข

เมื่อ “เจ้า” พูดมาถึงตรงนี้ ก็จบหลุม 18 พอดี จิตเพื่อนผมได้มารออยู่ที่หลุมสุดท้ายนี้แล้ว จากนั้นเราขึ้นไปรับประทานอาหาร และสนทนากันพอหอมปากหอมคอ จนได้เวลาสมควรก็จะแยกย้ายกันกลับ ก่อนกลับผมเข้าไปกระซิบถาม “เจ้า” เรื่องที่ผมสงสัยมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่า “ท่านเป็น “เจ้า”สายไหนครับ”

“เจ้า” ตอบว่า “ผมไม่มีสายมีเสยอะไรหรอกครับ ผมเป็น“เจ้า”พนักงานที่ดิน”

……….

วิธาน ฐานะวุฑฒ์,นพ.(2546).วิถีแห่งกอล์ฟ ภาค 2 ในมณฑลแห่งพลัง.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม.

สุดจิตต์ ทองผิว.พล.ร.ท.(ม.ป.ป.).กอล์ฟ : คู่มือสอนตนเอง.กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *