เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ค ตอน “อย่าให้กำเริบ”

hengs

จิปาถะ
เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ค ตอน “อย่าให้กำเริบ”
1
ขึ้นชื่อว่าตลาดนัด ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ ก็ยังเป็นสถานที่ของผู้คนต่างวัย ต่างฐานะ และหลากหลายสาขาอาชีพนิยมไปเดินเที่ยวชม บางคนก็ไปเพื่อจับจ่ายใช้สอยหรือไม่ก็เดินดูสรรพสินค้าที่ตนเองสนใจ ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบไปเดินตลาดนัด ก็เดินดูโน่นดูนี่ไปตามเรื่อง และเมื่อพบถากถางกับจานจินโดยบังเอิญ ถากถางรีบจูงมือผมเข้าไปในร้านกาแฟ เมื่อนั่งเป็นที่เรียบร้อย และถามสารทุกข์สุขดิบกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ถากถางถามผมว่า “อาจารย์อ่าน บทความวิจัย เรื่อง “พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย (สถานที่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานอยู่ในไทย) โดย ศาสตราจารย์ ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์หรือเปล่าครับ”
ผมตอบว่า “อ่าน แต่ยังอ่านไม่จบ”
“เรื่องนี้อาจารย์เชื่อไหมครับ” ถากถางจ้องหน้าผมอย่างคาดครั้นเอาจริงเอาจัง
แทนคำตอบ ผมยกคำกล่าวของ ออกัสต์ สตรินด์เบิร์ก (สวีเดน) ความว่า “ความเชื่อเกิดจากความปรารถนา เพราะยอมที่จะเชื่อจึงเชื่อ มีความหวังในความเชื่อจึงเชื่อ มีผลประโยชน์ต่อกันจึงเชื่อ” (อ้างจาก เจิง เสี่ยวเกอ.2550.41)
และเสริมว่า “การเรียนรู้นั้นบางครั้งต้องรู้จักการเปิดใจเพื่อรับสิ่งใหม่ มิใช่จมอยู่กับความเชื่อเก่าๆ”
2
ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ชิงหรือแมนจู ครั้งหนึ่งเมื่อกองทัพเรือพันธมิตร เดินทางมาถึงอ่าวเทียนจิน จะเข้าโจมตีกรุงปักกิ่ง มีเรื่องเล่ากันว่า หน่วยข่าวกรองของจีนได้มีหนังสือด่วนแจ้งข่าวไปยังกรุงปักกิ่งฉบับแล้วฉบับเล่า แต่เหล่าขุนนางมิได้สนใจ ขยำทิ้งไปอย่างไม่แยแส และพากันหัวเราะว่า “ กุเรื่องพูดส่งเดชไปได้” เจ้าพวกนี้
นายทหารถามขุนนางที่นั่งอยู่ข้างๆว่า ข่าวกรองว่าอย่างไรบ้าง
ขุนนางใช้มือตบโต๊ะ พูดด้วยเสียงอันดังว่า “ดูซิ มันเขียนข่าวมั่วไปหมด บอกว่าเรือรบอังกฤษ ทำด้วยเหล็ก ปืนใหญ่ของเราไม่สามารถทำลายเรือรบของพวกมันได้ บ้าชัดๆ มันเป็นไปได้อย่างไร”
นายทหารรีบบอกว่า “ใต้เท้าครับ มันเป็นความจริง ข้าฯ เห็นมากับตา”
คำตอบดังกล่าวทำให้ขุนนางโกรธมากขึ้นกว่าเดิม แล้วหยิบแท่งหมึกที่ทำด้วยทองเหลือง โยนไปข้างหน้าทหารนายนั้น และกล่าวว่า “ นี่ เอาไปลอยน้ำให้ข้าดูหน่อยซิ”
ในที่สุดกองทัพเรือพันธมิตรที่เป็นเรือรบเหล็ก ก็ทำให้รัฐบาลแมนจูพ่ายแพ้ต้องลงนามในสนธิสัญญานานกิง (เจิง เสี่ยวเกอ.2550.41)
“แสดงว่าอาจารย์เชื่อตามงานวิจัยที่ว่านั้นนะซิ”
“ผมก็เป็นคนเปิดใจนะ แต่ไม่ใช่จะทุกเรื่อง”
“แล้วเรื่องนี้ละครับ อาจารย์คิดอย่างไร”
3
“สมมุติก็แล้วกันนะ สมมุติว่าเรื่องราวที่กล่าวถึงในงานวิจัยเป็นความจริงถูกต้องโดยแท้ หรือ “จริงแท้” ตามที่ได้เคยเกิดขึ้นจริงเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่ปรากฏว่า ได้มีเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง “จริงแท้” แต่เป็นความรู้ที่มีคนคิดค้นหาหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวเนื่องมากมายก่ายกองตลอดจนสถานที่และเหตุผลมาอ้างอิงจนเรื่อง “จริงแท้” นั้นถูกบิดเบือนไป เกิดเป็นเรื่องใหม่ที่ยอมรับกันโดยทั่วว่าเป็นเรื่องจริง ถึงแม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่ใช่เรื่อง “จริงแท้” เป็นเรื่องเท็จ เรื่องไม่จริง สำหรับผมคงไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะต้องไปคิดถึงเรื่อง “จริงแท้” อีกต่อไป เพราะเรื่องที่ไม่จริงที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้นั้น เชื่อกันว่าเป็นเรื่องจริงที่สมบูรณ์ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้ว ดังนั้น การที่จะยกเอาเรื่อง “จริงแท้ๆ” มาพูดอีกก็มีแต่จะทำให้ถูกกล่าวหาว่า “เพี้ยน”ไปได้ ดังนั้น ผมเองซึ่งค่อนข้างจะเพี้ยนอยู่บ้างแล้วจึงไม่อยากจะหาเรื่องให้ต้องเพี้ยนเพิ่มขึ้นไปอีก
ความรู้เรื่องพุทธมาตุภูมิที่รู้กันอยู่นี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง แต่จากหลักฐาน ตลอดจนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ที่ค่อนข้างชัดเจน จนไม่อาจจะทำให้เปลี่ยนใจเชื่อไปเป็นอย่างอื่นได้ ถึงแม้ว่าเรื่องที่นำมาเสนอใหม่นี้อาจเป็นเรื่องจริงแท้ก็ตาม
4
บางครั้งความคิดของคนบางคนตกอยู่ในอกุศลมูล คือ ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกว่ามีฤทธานุภาพมาก ก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ไปตามเรื่อง เหมือนกับเรื่อง ไซอิ๋ว “บุคคลที่สมมุติขึ้นในเรื่องไซอิ๋ว ว่าเป็นศิษย์ไปเชิญคัมภีร์กับพระถังซัมจั๋งด้วยกัน ล้วนเป็นตัวอุปมาแห่งอกุศลมูล และในหมู่ศิษย์เหล่านั้น ที่เด่นยิ่งกว่าผู้อื่นก็คือตัวแสดงสภาพมนุษย์ซึ่งมีฤทธานุภาพมาก แต่ลุกลนกระวนกระวายอยู่ไม่สุข ก็และตัวอุปมาเช่นว่านี้จะมีอะไรเล่าที่เหมาะไปกว่าครึ่งมนุษย์ครึ่งวานร อันได้แก่ “เห้งเจีย” ภายหลังเมื่อรู้จักผิดชอบบ้างแล้ว แม้หวังประพฤติดีก็ยังตกอยู่ในอำนาจโทสะ โมหะ ครอบงำไม่ใคร่หลุดพ้นไปได้ เหตุนั้นพระผู้เป็นใหญ่จึงต้องบันดาลให้มีมงคล (ศีลธรรม) ครอบศีรษะไว้เสมอ เมื่อกำเริบถึงขั้นรั้งไม่อยู่ พระถังซัมจั๋ง ก็อ่านคาถาให้มงคลรัดศีรษะเจ็บปวดจนได้สติ หันมาประพฤติอยู่ในครรลองต่อไป”(เคงเหลียน ศรีบุญเรือง.2509:2)
ถึงตรงนี้ ผมคิดอยากจะได้มงคลไปครอบศีรษะนางแต้มของผมไว้ เวลานางกำเริบถึงขั้นรั้งไม่อยู่ จะได้อ่านคาถาให้มงคลรัดศีรษะเจ็บปวดจนได้สติ กลับมาประพฤติอยู่ในศีลธรรมต่อไปได้.
………
เคงเหลียน ศรีบุญเรือง.(2509) ประวัติพระถังซัมจั๋ง.กรุงเทพฯ : ร.พ.เลี่ยงเซียงจงเจริญ.
เจิง เสี่ยวเกอ.2550.อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี แปล.ชีวิตนี้ไม่มีสิทธิ์ซ้อม.กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *