จิปาถะ เรื่องสั้น เหตุเกิดที่สารขัณฑ์ (ทะ ทะ ทะ

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
จิปาถะ เรื่องสั้น เหตุเกิดที่สารขัณฑ์ (ทะ ทะ ทะ)
3
วันนี้ขอนำเอาวรรณกรรมโบราณหรือนิทานมาเล่าให้ฟัง เป็นนิทานเรื่องขจัดความโกรธ ความโลภ ความหลง จากคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเป็นวรรณกรรมหรือวรรณคดีของศาสนาพราหมณ์ มีอายุอยู่ในสมัยพุทธกาล แสดงให้เห็นว่า มนุษย์นั้น มีความโกรธ ความโลภ ความหลง ซึ่งน่าจะเป็นความไม่ดีของมนุษย์ ถึงได้มีนิทานสอนเพื่อที่จะขจัดความโกรธ ความโลภ และความหลงของมนุษย์ ให้พ้นไป ในพุทธศาสนา เรื่องโลภ โกรธ หลง หรือ โลภะ โทสะ โมหะ ปรากฏอยู่ใน อกุศลมูล หรือรากเหง่าของอกุศล หรือต้นตอของความชั่ว คือ 1. โลภะ ความอยากได้ 2 โทสะ ความคิดประทุษร้าย 3 โมหะ ความหลง แต่ไม่ว่าจะสอนกันอย่างไร ก็ยังไม่สามารถขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ของมนุษย์ให้พ้นไปได้ และในปัจจุบันปัญหาความโกรธ โลภ และหลง ของมนุษย์ก็ยังดำรงอยู่ และดูเหมือนจะยิ่งมากและหนักขึ้นทุกวัน
ก่อนจะฟังนิทาน มารู้จักคัมภีร์ ภาษาสันสกฤตโบราณซึ่งเป็นพื้นฐานของศาสนาพราหมณ์กันพอสังเขปก่อน คัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ยุคแรก มี 4 ได้แก่ 1. ฤคเวท ว่าด้วยบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลาย 2. ยชุรเวท ว่าด้วยรายละเอียดการประกอบยัญพิธีและลำดับมนตร์ที่นำมาจากคัมภีร์ฤคเวท 3. สามเวท ว่าด้วยบทขับที่คัดเลือกมาจากฤคเวทประมาณหนึ่งในหก 4. อถรรพเวท หรือ อาถรรพเวท เป็นเวทมนตร์คาถาเพื่อให้เกิดผลดีแก่ฝ่ายตนหรือผลร้ายแก่ฝ่ายศัตรู ตลอดจนการบันดาลสิ่งที่เป็นมงคลหรืออัปมงคล การทำเสน่ห์ การรักษาโรค และอื่น ๆ สามคัมภีร์แรกเรียกว่า ไตรเวท หรือ ไตรเพท ต่อมารับอถรรพเวทหรืออาถรรพเวทเข้ามารวมเป็น 4 คัมภีร์เรียกว่า จตุรเวท หรือ จตุรเพท, เป็นยุคแรกของศาสนาพราหมณ์จนถึงประมาณสมัยพุทธกาลว่า ยุคพระเวท มีวรรณกรรมหลักประกอบด้วยคัมภีร์พระเวท คัมภีร์พราหมณะ คัมภีร์อารัณยกะและคัมภีร์อุปนิษัทรุ่นแรก (Longdo Dict).
เรื่องการขจัดความโกรธ ความโลภ และความหลงนั้น มาจากพฤหทารัฒยกะ อุปนิษัท มีเรื่องราว ดังต่อไปนี้
“ผู้สืบชาติจากพระประชาบดีทั้งสามคือ เทวดา มนุษย์ และอสุร ได้พากันไปเฝ้าพระประชาบดี เพื่อศึกษาหาความรู้จาก พระประชาบดีผู้ให้กำเนิดแก่ตน เมื่อจบการศึกษาแล้วเหล่าเทวดา ก็ทูลว่า “เทวะ ขอจงประทานพระโอวาทเพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด พระประชาบดีก็ตรัสตอบด้วยพยางค์เดียวว่า “ทะ” เหล่าเทวดาจึงทูลว่า “ข้าพระองค์เข้าใจแล้ว โอวาทที่พระองค์ ตรัสนั้นคือ ทมยต ความสำรวมตน” พระประชาบดีก็ตรัสตอบว่า “เจ้าเข้าใจแล้วจริง”
ฝ่ายมนุษย์ก็ทูลขอโอวาทเช่นเดียวกับเทวดา พระประชาบดี ก็ตรัสแต่เพียงพยางค์เดียวว่า “ทะ” อีก
มนุษย์ก็ทูลว่า “ข้าพระองค์เข้าใจแล้ว โอวาทที่พระองค์ตรัส นั้นคือ ทตฺต คือการให้” พระประชาบดีก็ตรัสตอบว่า “เจ้าเข้าใจแล้วจริง” พวกอสุรก็ทูลขอโอวาทเช่นเดียวกับมนุษย์ และพระประชาบดี ก็ตรัสว่า “ทะ” อีกเป็นครั้งที่สาม อสุรก็ทูลว่า “ข้าพระองค์เข้าใจแล้ว โอวาทที่พระองค์ตรัสนั้น. คือ ทยธวมฺ คือกรุณา” พระประชาบดีก็ตรัสว่า “เจ้าเข้าใจถูกแล้ว”
ด้วยเหตุนี้เสียงฟ้าร้องจึงดังว่า “ทะ ทะ ทะ” หมายความว่า จงสำรวมตน จงให้ และจงกรุณา เพราะฉะนั้นความสำรวมตน เมตตา และกรุณา จึงควรจะสอนกันต่อ ๆ ไปมิให้ขาดได้”(61-62)*

*ศึกฤทธิ์ ปราโมช.2537.ธรรมแห่งอริยะ.สำนักพิมพ์สยามรัฐ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *