วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2566
จิปาถะ เรียนอินเดีย 4
1
เมื่อได้ฟังแขกที่ขายของในตลาดพูดภาษาอังกฤษว่า “I go to the market yesterday.”
เพื่อนนักเรียนไทยที่เรียนด้านภาษาบอกว่า “แขกพูดผิดหลักไวยากรณ์ ที่ถูกคือ
I went to the market yesterday.”
นักเรียนไทยที่เรียนรัฐศาสตร์ถามว่า “แล้วท่านเข้าใจไหมละว่า เมื่อวานนี้เขาไปตลาด”
นักเรียนไทย ที่เรียนด้านภาษาตอบว่า “เข้าใจ”
นักเรียนไทยที่เรียนรัฐศาสตร์จึงว่า “แล้วท่านจะเอาอะไรอีก”
นักเรียนไทย ที่เรียนด้านภาษาก็เลยเงียบไป
ส่วนนักเรียนไทยที่เรียนศิลปะอ่อนภาษาก็ได้แต่ฟังเฉยๆ
2
วันหนึ่งเราสามคนไปกินชากันที่ร้านเล็กๆริมถนนในตลาด เมื่อได้ที่นั่งแล้ว เพื่อนบอกให้ผมไปสั่งแขกที่ขายว่า
“ตีน คับ ใจ”
“มันคืออะไร” ผมถาม
“ไปเถอะ สั่งแล้วจะอธิบายให้ฟัง”
เมื่อผมกลับมานั่ง เพื่อนอธิบายว่า
เอก แปลว่า หนึ่ง โด แปลว่าสอง ตีน แปลว่า สาม เป็นภาษาฮินดี ซึ่งน่าจะมาจากภาษาบาลีสันสกฤต ที่คนไทยคุ้นกันดี คือ
เอก แปลว่า หนึ่ง โท แปลว่า สอง และ ตรี แปลว่า สาม
“ตีน คับ ใจ” คือ
“ตีน” เป็นภาษาฮินดีแปลว่า “สาม”
“คับ cup” เป็นภาษาอังกฤษ แปลว่า “ถ้วย”
“จาย” เป็นภาษาฮินดีแปลว่า “ชา”
เมื่อเพื่อนผมอธิบายเสร็จ แขกก็ยกชามาเสริฟ สาม ถ้วย พอดี
“ตีน คับ จาย”
ส่วนตีนใครจะไปคับใจใครไม่เกี่ยวกับชาสามถ้วยนะครับ
…………