จิปาถะ
จากยักษ์รับใช้กลายเป็นเจ้าเมืองลงกา
……
ที่จั่วหัวไว้เป็นเรื่องในวรรณคดีไทย รามเกียรติ์ ตอนกำเนิดทศกัณฐ์ เรื่องย่อมีอยู่ว่า นนทก หรือ นนทุก เป็นอสูรเทพบุตร หน้าสีเขียว ไม่สวมมงกุฎ ทำหน้าที่ล้างเท้าเทวดาที่จะขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร หมู่เทวดาได้หยอกล้อตบหัวและถอนผมเล่นอยู่ทุกวันจนนนทกหัวล้าน
นนทกโกรธ จึงได้ไปเฝ้าพระอิศวรขอให้มีนิ้วเพชรสามารถชี้ไปที่ผู้ใดก็จะตาย พระอิศวรก็ประทานให้ เมื่อได้นิ้วเพชรแล้วก็กลับไปปฏิบัติหน้าที่ล้างเท้าเทวดาตามเดิม
เมื่อเทวดาจะขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรและตบหัวนนทกหยอกล้อเล่นเหมือนเดิม แต่คราวนี้นนทกไม่ยอม จึงใช้นิ้วเพชรชี้เทวดาตายไปเป็นจำนวนมาก ร้อนถึงพระอิศวรต้องให้พระนารายณ์อวตารลงมาปราบ เพราะนนทกเหิมเกริมเหลือเกิน ดังความว่า “กลับทรยศกระบถใจ ทำการหยามใหญ่ถึงเพียงนี้” (2537.5)
แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะปราบนนทกให้ได้นั้น พระนารายณ์ก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมเหมือนกัน ได้แปลงกายเป็นนางสุบรรณอับสร ร่ายรำเย้ายวน ทำให้นนทกเกิดปฏิพัทธ์เข้าเกี้ยวพาราสี นางให้สัญญาว่าถ้านนทกสามารถรำฟ้อนตามได้ทุกท่าก็จะยินยอมด้วย นนทกจึงรำตามจนถึงท่า นาคาม้วนหางวง ก็ชี้ตรงเพลาทันที ทำให้ขานนทกหักพับ นางสุบรรณอัปสรกลับกลายเป็นพระนารายณ์เหยียบอกนนทกไว้
นนทกโกรธมาก Complained ว่าตนนั้นมีแค่สองมือ ถ้ามีสี่มือเท่ากันแล้วคงไม่แพ้ฤทธิ์แน่นอน แต่พระนารายณ์ก็แก้ตัวว่า
“เพราะมึงจะถึงแก่ความตาย ฉิบหายด้วยหลงเสน่หา
ใช่ว่าจะกลัวฤทธา ศักดานิ้วเพชรนั้นเมื่อไร
ชาตินี้มึงมีแต่สองหัตถ์ จงไปอุบัติเอาชาติใหม่
ให้สิบเศียรสิบพักตร์เกรียงไกร เหาะเหินเดินได้ในอัมพร
มีมือยี่สิบซ้ายขวา ถือคฑาอาวุธธนูศร
กูจะเป็นมนุษย์แต่สองกร ตามไปราญรอนชีวี
ให้สิ้นวงศ์พงศ์มึงอันศักดา ประจักษ์แก่เทวาทุกราศี
ว่าแล้วกวัดแกว่งพระแสงตรี ภูมีตัดเศียรกระเด็นไป” (2506.63)
ก็เป็นอันว่า นนทก ไปเกิดเป็นทศกัณฐ์ คือ จากยักษ์รับใช้กลายเป็นทศกัณฐ์เจ้าเมืองลงกา ด้วยประการละฉะนี้
ส่วนข้อความที่ว่า “กลับทรยศกระบถใจ ทำการหยามใหญ่ถึงเพียงนี้” สามารถนำมาเปรียบกับผู้บริหารบางคนที่ได้อำนาจไปแล้วก็หึกเหิมได้ใจ ใช้อำนาจ ไม่เป็นธรรม ขดขี่ข่มเหง สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทั่ว เหมือน
นนทกไม่มีผิดที่ “กลับทรยศกระบถใจ ทำการหยามใหญ่ถึงเพียงนี้” ผมว่าชาติก่อนคงเป็นยักษ์รับใช้แบบเดียวกับ
นนทกแน่นอน และที่แน่นอนไปกว่านั้นอีกก็คือ ไม่ช้าพระนารายณ์ก็จะอวตารลงมาปราบ “ว่าแล้วกวัดแกว่งพระแสงตรี ภูมีตัดเศียรกระเด็นไป”
…………
อ้างอิง
กุสุมา รักษมณี (2537) สีสันวรรณคดี ชุด บทวิจารณ์ชีวิต. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.
ฑิภากร บารเมษฐ์ (2548) นามานุกรมตัวโขน รามเกียรติ์.กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม.
พุทยอดฟ้าจุฬาโลก,พระบาทสมเด็จพระ.(2506) บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เล่ม 1.กรุงเทพฯ : คลังวิทยา.
สายชล สุนธนารักษ์.ผศ.(2540).ตัวละครและสถานที่ในรามเกียรติ์ ร. 1.บุรีรัมย์ : สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์.
Comments are closed.