มารู้จักเทพเจ้าฮินดูกันเถอะ

“ทั้งนี้เพราะเทพเจ้ามิเคยปฏิเสธให้มนุษย์ต้องได้รับความเจ็บซ้ำน้ำใจ ทุกครั้ง ที่มนุษย์ได้รับความเดือนร้อน หาที่พึ่งหรือขอความช่วยเหลือจากมนุษย์ด้วยกันเองไม่ได้ ก็จะยกมือขึ้นขอความช่วยเหลือจากเทพเจ้า และก็ไม่เคยผิดหวัง ได้รับความสุขทางใจไปทุกครั้งและทุกผู้ทุกนาม”

มารู้จักเทพเจ้าฮินดูกันเถอะ

เทพเจ้านั้นมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่เริ่มต้น เชื่อกันว่า เทพเจ้าให้ทั้งคุณและโทษ ในทางที่เป็นคุณดูเหมือนว่า เทพเจ้าจะเป็นที่พึ่งที่มนุษย์ให้ความเชื่อถือและไว้วางใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะเทพเจ้ามิเคยปฏิเสธให้มนุษย์ต้องได้รับความเจ็บซ้ำน้ำใจ ทุกครั้ง ที่มนุษย์ได้รับความเดือนร้อน หาที่พึ่งหรือขอความช่วยเหลือจากมนุษย์ด้วยกันเองไม่ได้ ก็จะยกมือขึ้นขอความช่วยเหลือจากเทพเจ้า และก็ไม่เคยผิดหวัง ได้รับความสุขทางใจไปทุกครั้งและทุกผู้ทุกนาม
เทพเจ้ามีทั้งเทพเจ้าของฝรั่ง แขก จีน ไทย ฯลฯ กล่าวได้ว่ามีมากมายจนนับกันไม่ถ้วน เทพเจ้าแต่ละองค์มีชีวิตความเป็นอยู่และมีอำนาจมากมายตายแต่ที่มนุษย์จะ เชื่อและต้องการที่จะให้เป็นอย่างนั้น ตามปกติแล้วเทพเจ้าจะไม่มีตัวตน เป็นนานธรรม แต่มนุษย์ก็พยายามสร้างให้เป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงมักปรากฏรูปเทพเจ้าหรือสัญลักษณ์ของเทพเจ้าทั้งหลาย อยู่ตามศาสนสถานทั่วไป

เทพเจ้าฮินดูนั้น เป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ของอินเดีย แต่เดิมก็มีนับถือกันสามองค์ เรียกว่า ตรีมูรติ ซึ่งประกอบด้วย พระพรหม เป็นเพทเจ้าผู้สร้าง พระนารายณ์หรือพระวิษณุ เป็นเทพเจ้าผู้รักษา และพระศิวะเป็นเทพเจ้าผู้ทำลายเริ่มต้นเป็นมาอย่างนั้น แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนจากการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ หรือเทพเจ้าสามองค์ มานับถือเทพเจ้าองค์เดียว จึงเกิดเป็นหมู่ เป็นพวก หรือนิกายขึ้น นิกายที่สำคัญมี 2 นิกายคือ ไศวนิกาย คือนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด และไวษณพนิกายคือนิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด ดังนั้น ถ้าต้องการทราบว่าเทวสถานนั้นสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าองค์ใด ก็สามารถดูได้ที่รูปเคารพที่เป็นประธานของเทวสถานนั้น ๆ เช่น ถ้าเป็นเทวสถานที่สร้างขึ้นบูชาพระศิวะ รูปเคารพที่เป็นประธานก็จะเป็นศิวลึงค์(เครื่องหมายเพศของพระศิวะ) แต่ถ้าเป็นรูปพระวิษณุ ก็เป็นไวษณพนิกาย เป็นต้น

ทีนี้ เรามารู้จักเทพเจ้าทั้งสามองค์นี้แต่พอสังเขปกันเถอะเหตุที่ต้องสังเขปก็เพราะเทพเจ้าแต่ละองค์มีความเป็นมา ที่เรียกว่าตำนานหรือคัมภีร์ต่าง ๆ มากมายซึ่งแสดงที่มาของเทพเจ้าแต่ละองค์แตกต่างกัน ถ้าไม่สังเขปก็คงจะพูดเรื่องของเทพเจ้าเหล่านี้ไม่ได้ เพราะความรู้ไม่พอ เทพเจ้าทั้งสามองค์ที่จะแนะนำให้รู้จักคือ
พระพรหม เป็นหนึ่งในตรีมูรติ เป็นเทพเจ้าผู้สร้าง “ตามคัมภีร์วราหบุราณะว่า พระพรหมธาดา ได้บังเกิดในดอกบัว อันผุดผาดขึ้นจากพระนาภีของพระพิษณุ (นารายณ์) ในขณะที่บรรทมหลับอยู่บน หลังอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร แล้วพระพรหมองค์นี้จึงได้สร้างมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้ง 3 โลกแต่คัมภีร์ปัทมบุราณะ กล่าวถึงพระพรหมาไปอีกทางหนึ่งว่า เมื่อพระพิษณุเป็นเจ้ามีประสงค์จะสร้างโลก จึงทรงแบ่งภาคพระองค์เองออกเป็น 3 คือ สร้างพระพรหมาจากปรัศว์เบื้องขวา สร้างพระพิษณุ (พระองค์เอง) จากปรัศว์เบื้องซ้าย สร้างพระศิวมหากาฬ จากบั้นกลางพระองค์(สัจจาภิรมย์.2517.48) พระพรหมมีรูปกายสีแดง มีเครื่องหมายตรีปุณทร (ขีดสามขีดบนพระนลาฏ) มี 4 พักตร์ 4 กร สองหัตถ์ด้านหน้าแสดงปางประทานพรและปางประทานอภัย หัตถ์ด้านหลัง ทรงถือซ้อนและหม้อใส่เนยเหลว หรือลูกประคำ และคณโฑน้ำหรือหนังสือและต้นหญ้า มีหงส์เป็นพาหนะ พระชายาชื่อพระสุรัสวดีสถิตอยู่ ณ พรหมพฤนทา อยู่ในพรหมโลก
พระศิวะ เป็นเทพสูงสุดในไศวนิกาย เป็นเทพเจ้าผู้ทำลายพระองค์มีรูปกายสีขาว (บางตำนาน ว่ามีรูปกายสีแดงบ้าง สีดำบ้าง) นุ่งหนังเสือ สวมนาคเป็นสังวาลย์ ศอสีนิล เกล้าผมเป็นมวยมีพระจันทร์เสี้ยวประดับมีตาที่สามอยู่บนหน้าผาก ตานี้จะปิดอยู่เสมอหากลืมขึ้นเมื่อใดไฟบัลลัยกัลป์จะเผาผลาญโลก มีตรีศูลเป็นอาวุธ มีโคนนทิเป็นพาหนะ มีชายาสององค์คือ พระแม่อุมา และพระแม่คงคา มีโอรส 2 องค์ คือ พระคเณศ และพระขันธกุมาร มีศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์ สถิตอยู่ ณ เขาไกรลาส
พระวิษณุ เป็นเทพสูงสุดในไวษณพนิกาย เป็นเทพเจ้าผู้รักษามีรูปกายสีนิลแก่ สวมอาภรณ์อย่างกษัตริย์ เสื้อทรงสีเหลือง มี 4 กร เรียกว่า วิษณุจตุรภุช ทรงถือสังข์ จักร คทา และธรณี ซึ่งใช้ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แทน หมายถึงแผ่นดิน ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีชายา 2 องค์คือ พระนางลักษมีและพระภูมิเทวี มีอนันตนาคราชเป็นบัลลังก์ ที่สถิตเรียกว่า ไวยกูณฐ์ ณ เกษียรสมุทร เมื่อเกิดยุคเข็ญ พระวิษณุหรือพระนารายณ์จะอวตารลงมาช่วยเหลือ อวตารที่สำคัญและรู้จักกันดีมี 10 เรื่อง คือ

  1. มัสยาวตาร (เป็นปลา)
  2. กูรมาวตาร (เป็นเต่า)
  3. วราหาวตาร (เป็นหมูป่า)
  4. นรสิงหาวตาร (เป็นนรสิงห์)
  5. วามนวตาร (เป็นพราหมณ์เตี้ย)
  6. ปรศุรามาวตาร (เป็นพราหมณ์ถือขวานชื่อ ปรศุราม)
  7. รามาวตาร (เป็นพระราม)
  8. กฤษณาวตาร (เป็นพระกฤษณะ)
  9. พุทธวตาร (เป็นพระพุทธเจ้า)
  10. กัลหยาวตาร (เป็นบุรุษขี่ม้าขาวชื่อ กัลกี)

ศิลปะเขมร และศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ เทวสถานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า เทวสถานเหล่านี้ เขมรเรียกปราสาท เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร อยู่เขตชายแดนจังหวัดศรีสะเกษ ไทยเรียกปรางค์หรือปราสาท เช่น ปราสาทหินพิมาย หรือ ปรางค์บ้านสีดา อ.บัวใหญ่ จ. นครราชสีมา ส่วนลาวเรียกกู่ เช่น กู่สวนแตง อ. บ้านใหม่ไชยพจน์ (เดิมอยู่ในเขตอำเภอพุทไธสง) จ. บุรีรัมย์ เป็นต้น
และเนื่องจากศาสนสถานเหล่านี้เป็นเทวสถาน ดังนั้น ภาพแกะสลักที่ใช้ตกแต่ง หรือประติมากรรมที่ประดิษฐานไว้ จึงมักจะเป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทพเจ้าทั้งสามองค์ เช่น ภาพแกะสลักเรื่อง ศิวนาฏราช ทับหลังปราสาทศีขรภูมิ จ. สุรินทร์ หรือภาพแกะสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังกู่สวนแตง จ. บุรีรัมย์ เป็นต้น
ดังนั้น การที่จะศึกษาศิลปะเขมร และศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทยให้ได้รสชาติ จึงจำเป็นต้องรู้เรื่องราวของเทพเจ้าฮินดูทั้งสามองค์ รวมทั้งเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ด้วย และถ้ารู้เรื่องของเทพเจ้าเหล่านั้นดีแล้ว ก็รับรองได้เลยว่าจะเที่ยวชมปราสาทต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชาได้อย่างสนุกและอย่างมีความหมายแน่นอน

63 thoughts on “มารู้จักเทพเจ้าฮินดูกันเถอะ

  1. ดีครับ เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก

Comments are closed.