เราสู้: อนุสาวรีย์สดุดีวีรกรรมของประชาชน

เราสู้: อนุสาวรีย์สดุดีวีรกรรมของประชาชน

วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย อนาคตต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่ยอมหนีหาย ส฿ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้ เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว

จากบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช “เราสู้” ที่ยกมานี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นคุณลักษณะของชาวบุรีรัมย์ ที่ปรากฏตรงตามเพลงพระราชนิพนธ์ คือ มีความกล้าหาญ อดทน เด็ดเดี่ยว ในการต้อสู้เพื่อป้องกันรักษาชาติบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลานสืบไป เริ่มตั้งแต่สมัยพระยาทสมเด็จ….(รัชกาลที่ 3 ) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์เป็นกบฏต่อราชอาณาจักรไทย ได้ยกกองทัพมาตีหัวเมืองน้อยใหญ่จนถึงเมืองพุทไธสง เมืองนางรอง และเมืองแปะ หรือเมืองบุรีรัมย์ในปัจจุบัน พระนครภักดี (หงษ์ ) (พ.ศ. 2350-2370) เจ้าเมืองแปะ ได้นำชาวเมืองออกต่อสู้ด้วยความกล้าหาญ แต่เนื่องจากมีกำลังน้อยกว่า จึงได้ถอยหนีไปตั้งหลักที่เมืองไผทสมัน พวกเวียงจันทน์ได้ติดตามจับได้ที่ช่องเสม็ด เทือกเขาดงรัก เขตชายแดนไทย-กัมพูชา และนำไปจองจำไว้ ณ ทุ่งสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันคือ อ.สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด) แต่อย่างไรก็ตาม ความคิดที่จะเป็นอิสระจากเมืองเวียงจันทน์มิได้จางหายไปจากหัวในอันแน่วแน่ของพระนครภักดี คื่นหนึ่ง ได้รวบรวมผู้คนที่ถูกจับมาด้วยกันต่อสู้กับกองทัพเวียงจันทน์และเสียชีวิตหมด เหลือพระนครภักดีเพียงคนเดียว ซึ่งอยู่ยงคงกระพัน ยิง ฟัน ไม่เข้า สุดท้านพวกเวียงจันทน์ต้องใช้หลาวเสียบเข้าทวารหนักถึงเสียชีวิต วีรกรรม อันกล้าหาญของชาวบุรีรัมย์ เช่นเดียวกับสมัยของพระนครภักดีได้ปรากฏอีกครั้ง ในระหว่างปี พ.ศ. 2517-2522 เมื่อประชาชนชาวบุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ของทางราชการทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจและทหาร ได้ผนึกกำลังกันต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ซึ่งขัดขวางการสร้างทางยุทธศาสตร์ สายละหานทราย – ตาพระยา การต่อสู้ดำเนินต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน มีผู้ได้รับบาดเจ็บทุพลภาพและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความกล้าหาญและเสียสละ ในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ สามารถสร้างทางยุทธศาสตร์สายนี้ได้สำเร็จ ทำให้ผู้ก่อการร้ายพ่ายแพ้ไปอย่างราบคาบ จากวีรกรรมทั้งสองครั้งที่กล่าวมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของชาวบุรีรัมย์ที่มีความกล้าหาญ อดทน และเสียสละได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายที่ขัดขวางการสร้างทางสายละหานทราย – ตาพระยา ที่เกิดขึ้นเมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น อนุสาวรีย์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “อนุสาวรีย์เราสู้” ปรากฏเป็นประจักษ์พยานให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งชาวบุรีรัมย์มีความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติและวีรกรรมอันกล้าหาญของผู้คนเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง อนุสาวรีย์เราสู้ ตั้งอยู่ที่ริมทางสายละหานทราย –ตาพระยา (ทางหลวงหมายเลข 348)อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเกียรติประวัติและสดุดีวีรกรรมของประชาชน เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร และบรรดาผู้ที่ได้ผนึกกำลังเข้าต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ขัดขวางการสร้างทางยุทธศาสตร์สายสำคัญที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งด้านการปกครองป้องกัน และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ที่ส่งผลถึงความมั่นคงของชาติโดยตรง เป็นเส้นทางตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งกรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างให้เป็นทางลาดยาง ระยะทางทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร เริ่มจากหลักกิโลเมตรที่ 61 ท้องที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ผ่านบ้านโนนดินแดง (ปัจจุบันเป็นอำเภอโนนดินแดง) และช่องตะโก อันเป็นช่องทางที่ไปบรรจบกับทางสายตาพระยา ตรงหลักกิโลเมตรที่ 118 อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดสระแก้ว) งบประมาณในการสร้าง 72,010,053 บาท บริษัทเกอร์สันแอนด์ซัน และบริษัทฟ้าสางหนองแคเหรียญเจริญ เป็นผู้ประมูลก่อสร้างตามลำดับ แต่เนื่องจากผู้ก่อการร้ายขัดขวางการก่อสร้างทาง และได้มีการต่อสู้กันในระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 110 คน ได้รับบาทเจ็บทุพลภาพและทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก การสร้างทางใช้เวลานานถึง 5 ปี 8 เดือน เราสู้ เป็นอนุสาวรีย์สดุดีวีรกรรมของประชาชน เป็นประติมากรรมรูปคนแบบลอยตัว คือ สามารถมองเห็นได้รอบด้าน ประกอบด้วยภาพราษฏรชาย-หญิง ทหาร ตำรวจ อส. และ ทสปช. จำนวน 5 คน อยู่ในท่าหันลังชนกัน มือถือธงชาติไทยและอาวุธในท่ารวมพลังกันต่อสู้ หล่อด้วยโลหะรมดำ ขนาดเท่าตัวจริง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูง ที่ฐานทั้ง 4 ด้าน มีภาพนูนสูง หล่อด้วยปูนซีเมนต์ ปั้นเป็นภาพเรื่องราวต่างๆ คือ ภาพแสดงการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างสงบสุข สนุกสนานรื่นเริงกันตามปกติ ภาพแสดงการสร้างทางสายละหานทราย- ตาพระยา ภาพแสดงการร่วมมือกันระหว่าง ทหาร ตำรวจ ประชาชน อส ทสปช ต่อสู้กับผู้ที่ขัดขวางการสร้างทาง และภาพแสดงถึงชัยชนะของรัฐบาลต่อผู้ก่อการร้าย ละหานทราย-ตาพระยา เส้นทางสายยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อการเมืองการปกครองและความมั่นคงของชาติ สร้างขึ้นเพื่อสกัดกั้นการเจริญเติบดตของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นเส้นทางที่ปูลาดทับด้วยชีวิต เลือดเนื้อ และแขนขาของประชาชน ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน และข้าราชการพลเรือนชาวไทยเป็นจำนวนร้อยๆชีวิต ซึ่งพี่น้องชาวบุรีรัมย์ได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นไว้ ซึ่งนอกจากจะเพื่อสดุดีวีรกรรมอันกล้าหาญในครั้งนั้น ให้ได้ประจักษ์ในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้รักสามัคคีในการป้องกันชาติบ้านเมืองอีกด้วย อนุสาวรีย์นี้ออกแบบและสร้างโดยชาวบุรีรัมย์ จึงมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากอนุสาวรีย์แห่งอื่นๆ คือมีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นท้องถิ่น ใบหน้าของวีรชนแต่ละคน จึงเป็นใบหน้าที่คุ้นเคยของญาติพี่น้องชาวบุรีรัมย์ ที่ถึงแม้จะมีร่องรอยของความวิตกกังวลอยู่บ้าง แต่ดวงตาที่แสดงถึงความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ในการต่อสู้เพื่อป้องกันชาติบ้านเมือง อันเป็นคุณลักษณะของชาวบุรีรัมย์ที่เราท่านได้ประจักษ์มาแล้วตั้งแต่สมัยพระนคาภักดีนั้น ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน และในวันที่ 27 สิงหาคม ของทุกๆปี พวกเราชาวบุรีรัมย์จะพากันไปที่บริเวณอนุสาวรีย์แห่งนี้ เพื่อระลึกถึงเกียรติประวัติ ร่วมสดุดีวีรกรรมอันกล้าหาญ และคารวะดวงวิญญาณของบุคคลเหล่านั้นที่สละชีวิต เลือดเนื้อ พิทักษ์ชาติบ้านเมืองของเราไว้ ท่านละครับ ได้เคยไปร่วมกิจกรรมอันสำคัญและทรงเกียรตินี้บ้างแล้วหรือยัง

หนังสืออ้างอิง

จังหวัดบุรีรัมย์.(2530).รายงานประจำปี 2530.ธีระการพิมพ์.

กอ.รมน.จว.บร.(2523)เราสู้.(ม.ป.ท.)

ข้อมูลจำเพาะ การวางศิลาฤกษ์ 27 สิงหาคม 2522 เวลา 11.40 น. โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ตินสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผอ.ปค.

ออกแบบ/ปั้น อาจารย์ไสว แกล้วกล้า อาจารย์วิรุฬห์ ไทรทอง อาจารย์สมปอง ทองประสม (เพ็งจันทร์) อาจารย์อัญชลี เปล่งวิทยา อาจารย์ภาควิชาศิลปะ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ อาจารย์เฉลิม ศิริมาตย์ อาจารย์โรงเรียนปทุมวิไล จ.ปทุมธานี และนักศึกษาภาควิชาศิลปะ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์

ช่างหล่อ นายกระสวย พึ่งปรีดา เจ้าของโรงหล่อจิตปฏิมาการหล่อ บ้านช่างหล่อ ธนบุรี พิธีเทโลหะหล่อ 5 พฤษภาคม 2533 โดย นายบำรุง สุขบุษย ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ติดตั้ง 5-6 สิงหาคม 2533 โดยจังหวัดบุรีรัมย์ และภาควิชาศิลปะ พิธีเปิด 26 สิงหาคม 2533 โดย โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ตินสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ ผอ.ปค. งบประมาณ 1,814,583 บาท

93 thoughts on “เราสู้: อนุสาวรีย์สดุดีวีรกรรมของประชาชน

  1. ขอบคุณมากครับ ผมเคยเห็นอนุสาวรีย์นี้แต่ไม่รู้ชื่อและที่ตั้ง หามานานแล้ว เพิ่งมารู้ที่นี่ อีกอย่างเรื่องสัญญลักษณ์มรดกโลกที่อยุธยาที่ทำด้วยพลาสติกแล้วด้อยค่าเพราะไม่ใช่โลหะนั้น ผมเคยคิดเหมือนอาจารย์ แต่บางทีก็วาบความคิดไปถึงสมัยที่ทำเหรียญกษาปณ์กับธนบัตร แล้วคนหัวเก่าเอาไฟมาจุดที่ธนบัตรกับเหรียญเพื่อแสดงว่าเหรียญดีกว่า หรือกรณีที่นีพระเอกละครเรื่องหนึ่งรู้สึกว่าจะเป็นชาส์ล บรอนสันกล่าวว่าอนาคตโลกเราคือ พลาสติก บางทีตอนนี้อาจารย์อาจเปลี่ยนความคิดแล้วก็ได้ เหมือนที่ มรว.คึกฤทธิ์ เคยกล่าวว่า ทางศาสนาพุทธกล่าวว่า เราวันนี้เป็นคนละคนกับอดีต ไม่มีสิ่งใดทียึดเป็นตัวเราได้เลย มีแต่ตัณหาและอุปาทานที่ไปเกิดใหม่

Comments are closed.