กรณี ปราสาทพระวิหาร คนไทยจะพูดจาเป็นเสียงเดียวกันมิได้เชียวหรือ

กรณี ปราสาทพระวิหาร คนไทยจะพูดจาเป็นเสียงเดียวกันมิได้เชียวหรือ
รศ. วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 22 กันยายน 2552

ผมมีคำถามที่ต้องตอบตัวเองว่า ในฐานะที่เป็นคนไทย จะทำอย่างไร และจะยืนอยู่ตรงไหน เกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทเรื่องดินแดนปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ก็อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ให้ได้รับรู้กันครับว่า ผมคิดอย่างไร

แต่ก่อนจะเริ่ม ผมได้นำข้อเขียนของ ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เรื่อง กรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ในหนังสือ “กรณีปราสาทพระวิหาร จากมรดกอาณานิคมสู่มรดกโลก” มาเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อน และนำมาเกือบทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องของข้อมูลทางกฏหมาย ไม่อยากให้ขาดตกบกพร่อง ก็ลองพิจารณา กันดูก่อน ครับ

1. คดีปราสาทพระวิหาร
เป็นคดีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหาร ระหว่าง พ.ศ. 2502 – 2505 โดยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 กัมพูชาเป็นโจทย์ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเพื่อฟ้องไทยเป็นจำเลย ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

2. คำพิพากษาของศาล ฯ
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิจารณาพิพากษา ดังนี้
2.1 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
2.2 สืบเนื่องมาจาก 2.1 วินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ว่าไทยมีพันธกรณีจะต้องถอนทหารและตำรวจหรือยามผู้รักษาการณ์ออกจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงที่อยู่บนดินแดนกัมพูชา
2. 3 ด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 วินิจฉัยว่าไทยมีพันธะจะต้องคืนให้กัมพูชาบรรดาวัตถุที่กัมพูชาอ้างถึงในคำแถลงสรุปข้อ 5 ซึ่งอันตรธานไปจากปราสาทหลังจากวันที่ไทยเข้าครอบครอง เมื่อปี พ.ศ. 2497

3. สถานภาพของแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา
ศาลไม่เห็นความจำเป็นตามคำขอของกัมพูชาที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่อง
3.1 สถานภาพของแผนที่ ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา หรือ
3.2 เส้นเขตแดนในบริเวณที่พิพาท

annex 1

แผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา หรือ Annex I
ที่มา : คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คดีปราสาทพระวิหาร.สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. 2505. หน้า 241.

ดังนั้น ศาลฯ จึงงดเว้นการวินิจฉัยความถูกต้องของเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา รวมทั้งสถานภาพของแผนที่ผนวก 1 ทั้งฉบับ หรืออีกนัยหนึ่ง ศาลฯ ไม่ทำหน้าที่กรรมการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

4. คำพิพากษาของศาลฯ และทางปฏิบัติของรัฐคู่กรณี
4.1 ผลผูกพันของคำพิพากษา ข้อ 59 ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า
“คำพิพากษาของศาลฯ ไม่มีผลผูกพันผู้ใด นอกจากคู่กรณีและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น”
ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลฯ จึงผูกพันเฉพาะไทยและกัมพูชา ใช้อ้างยันกับผู้อื่นมิได้ และไม่ผูกพันประเทศที่ 3 หรือองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ยูเนสโกหรือคณะกรรมการมรดกโลก และไม่มีผลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่อย่างใด เนื่องจากการขึ้นทะเบียนมิใช่ข้อพิพาทในคดีที่ศาล ฯ ตัดสิน
4.2 ข้อ 60 ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า
“คำพิพากษาของศาลนั้นถึงที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์ ในกรณีที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลฯ จะเป็นผู้ตีความเมื่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ”

โดยที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีมาตรการบังคับคดี จึงสุดแต่ความสมัครใจของคู่กรณีที่จะพิจารณาดำเนินการ หากคู่กรณีไม่เห็นด้วย และไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลฯ ก็ไม่มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแต่ประการใด
ฉะนั้น ถึงแม้คำพิพากษาของศาลฯ จะถึงที่สุด แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมีผลในการระงับกาณีพิพาท หากคู่กรณีโต้แย้งคัดค้านและไม่ยอมรับคำพิพากษาเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม กรณีพิพาทนั้นๆก็ยังคงอยู่ต่อไป จนกว่าจะได้รับการพิจารณาใหม่ หรือจนกว่าจะระงับไปโดยสันติวิธีอื่นๆ อาทิ โดยการเจรจา การประชุมปรึกษาหารือ หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน ไกล่เกลี่ย กรรมการประนอม หรืออนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ตามข้อ 33 แห่งกฏบัตรสหประชาชาติ
5. จุดยืนและท่าทีของประเทศไทย
5.1 ประเทศไทยพิจารณาเห็นว่า ศาลฯมิได้วินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหารตามกระบวนการที่ชอบ แต่ได้ตัดสินคดีโดยขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฏหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม พ.ศ. 2505 ให้ประกาศจุดยืนของประเทศไทยให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลฯ แต่ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติจึงได้ปฏิบัติตามพันธะ ข้อ 94 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งนี้ โดยยื่นคำประท้วงคัดค้านไปยังสหประชาชาติและตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนว่าไทยสงวนสิทธิที่มีอยู่หรือพึงมีในอนาคตที่จะดำเนินการเรียกคืนซึ่งการครอบครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี
5.2 รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 และในวันรุ่งขึ้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แจ้งให้ประชาชนทราบทั่วกัน
5.3 ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 กรกฏาคม 2505 ถึง ฯพณฯ อู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ค อ้าง
ถึงคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยว่าไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านคำพิพากษาซึ่งขัดต่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ 1907 นอกจากนั้นยังขัดโดยตรงต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฏหมายระหว่างประเทศ แต่จะปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ นอกจากนั้น ไทยยังได้ตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่และจะพึงมีในการครอบครองปราสาทพระวิหารในอนาคตตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฏหมาย อนึ่ง ข้อสงวนดังกล่าวมีผลตลอดไปโดยไม่จำกัดเวลา
5.4 ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ 17 พ.ศ. 2505 นายสมปอง สุจริตกุล ผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่ 6 (กฏหมาย) ได้รับมอบหมายจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นผู้แถลงย้ำให้ผู้แทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติในคณะกรรมการกฏหมายให้ทราบถึงจุดยืนของประเทศไทยตลอดจนเหตุผลทางกฏหมายในการคัดค้านคำพิพากษาโดยละเอียด ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าผู้แทนจากประเทศอื่นรวมทั้งกัมพูชาได้แสดงความคิดเห็นหรือโต้แย้งแต่ประการใด

5.5 ไทยได้ดำเนินการถอนบุคลากรจากปราสาทพระวิหาร และได้ล้อมรั้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบตัวปราสาทตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย และได้ย้ายเสาธงไทยออกจากบริเวณปราสาทโดยไม่มีการลดธง ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กัมพูชาส่งบุคลากรเข้าไปในบริเวณปราสาท โดยไทยมิได้สละอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ หรือยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาแต่อย่างใด บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่เดียวซึ่งอาจจะเรียกว่า “พื้นที่ทับซ้อน”

จากคำพิพากษาของศาลฯ ก็มาถึงคำถามแรกว่า เราเป็นคนไทย กรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนี้ เราควรจะมีความเป็นชาตินิยมหรือไม่
สำหรับคำว่าชาตินิยม หรือลัทธิชาตินิยม (nationalism ) มีคนเขียนกันไว้เยอะแยะ ผมหยิบเอาของศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกุล www.BioLawCom.De มาอันเดียว คือ “กล่าวอย่างกว้างที่สุดก็คือ การถือมั่นพึงพอใจในอัตลักษณ์หรือตัวตนรวมหมู่ (collective identity) ชนิดหนึ่ง หากถือมั่นพอใจมากก็จะกลายเป็นการยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูชนิดหนึ่ง เรียกว่าหลง (ชาติพวก) ตัวเอง หากหลงหนักกว่านั้นก็อาจกลายเป็นความคลั่งชาติ”
ส่วนผมเองคิดเอาง่ายๆว่า ทุกคนเกิดมาต้องมีชาติ ถ้าคุณไม่มีชาติคุณจะมีความรู้สึกแย่มาก เหมือนบางคน กลับบ้านไม่ได้ ต้องร่อนไปร่อนมาไม่รู้จะไปไหน น่าสงสารจริงๆ ฉะนั้นเมื่อมีชาติ ก็ต้องมีความนิยมในชาติ ถ้าไม่นิยมในชาติก็ดูจะผิดปกติไป เหมือนเราเกิดมามีพ่อมีแม่ ก็ต้องนิยมในพ่อแม่ อ้ายพวกที่ด่าแม่ล่อพ่อนั้น ก็ไม่ควรคบหาสมาคมด้วย เพราะขนาดพ่อแม่ของมันมันยังไม่เคารพ ไม่นิยมเลย มันจะมานิยมเราหรือนิยมอย่างอื่นได้อย่างไร ฉะนั้น คำตอบข้อนี้ของผมก็คือ คนไทยต้องมีความเป็นชาตินิยม ใครก็ตามที่เป็นคนไทย และไม่มีความนิยมในความเป็นไทย ก็ไม่น่าจะเสวนาด้วยอย่างยิ่ง และไม่ควรจะอยู่ในประเทศไทยด้วย ส่วนที่ถึงกับหลงชาติ หรือคลั่งชาตินั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งไม่เกี่ยวกัน
สืบเนื่องมาจากคำตอบข้อแรกก็โยงมาถึงคำถามข้อที่สองที่ว่า เมื่อเป็นคนไทย ถ้าต้องตีความข้อกฏหมายใดๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ก็ต้องตีความเข้าข้างคนไทย หรือชาติไทย ไม่ควรทำหรือพูดอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตรงข้ามเป็นอันขาด ตัวอย่างเช่น การตีความเรื่องที่ไทยสงวนสิทธิที่มีอยู่หรือพึงมีในอนาคตที่จะทำการเรียกคืนซึ่งการครอบครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี นั้น มีคนไทยหลายคนรวมทั้งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายนพดล ปัทมะ ตีความในข้อกฏหมายว่า หมดอายุความแล้ว

ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยคนปัจจุบัน นายกษิต ภิรมย์ ก็พูดในทำนองเดียวกัน ท่านได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 เมื่อคืนวันที่ 7 กันยายน 2552 ซึ่งขัดแย้งกับทัศนะของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ในการอภิปราย เมี่อวันที่ 24 มิถุนายน 2551 ความตอนหนึ่งว่า “ตราบเท่าที่ไม่มีการกระทำอะไรไปลบล้างข้อสงวนในปี 2505 สิทธิของประเทศไทยก็จะยังดำรงอยู่ แต่แน่นอนการจะได้คืนมาหรือไม่ ย่อมต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่จะปรากฏขึ้นในอนาคต และการใช้สิทธิตามกฏหมายและกฏหมายระหว่างประเทศ” และยังตอกย้ำ

ในการอภิปรายคราวเดียวกันอีกว่า “ผมเองนึกไม่ถึงครับ ผมนึกไม่ถึงว่าคนที่จะหยิบยกเรื่องอายุความ 10 ปีนั้นจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ถ้ามาจากทนายของรัฐบาลกัมพูชาผมจะเชื่อ เพราะคนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยนั้น ต้องรักษาผลประโยชน์ของคนไทย หยิบยกเฉพาะข้อกฏหมายที่เป็นประโยชน์กับไทยขึ้นมา” ( กรณีปราสาทพระวิหาร . 2551 : 33-37 )

ท่านนายกครับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลท่านยังรักษาผลประโยชน์ของชาติและของคนไทยอยู่หรือเปล่าครับ สำหรับคุณกษิต ภิรมย์ ทีแรกมีคนขับไล่ท่าน ผมก็ว่าไม่มีเหตุผลอะไร แต่ตอนนี้ผมกลับเห็นว่า ท่านควรจะลาออกไป ครับ
หรืออีกกรณีหนึ่ง เกี่ยวกับเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา กัมพูชาอ้างแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา ที่ฝรั่งเศสทำไว้ แต่เราใช้เขาปันน้ำ ตามหนังสือสัญญา ระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ทำเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 ( คศ. 1904)  ข้อ 1 เขตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมพูชานั้น…ทิศเหนือขึ้นไปจนบันจบถึงภูเขาพนมดงรัก (คือภูเขาบันทัด) ต่อนั้นไป เขตร์แดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำเสนและดินแดนน้ำตกแม่น้ำของฝ่ายหนึ่ง กับดินแดนน้ำตกน้ำมูลอีกฝ่ายหนึ่ง และ “สัญญาว่าด้วยปักปันเขตร์แดน ติดท้ายหนังสือสัญญา ลงวันที่23 มีนาคม ร.ศ. 125 (คศ. 1907) ข้อ 1 เขตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น …ตั้งแต่ที่เขาดงแรก (ดงรัก) ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เขตร์แดนต่อไปตามเขาปันน้ำที่ตกทะเลสาบแลแม่น้ำโขงฝ่ายหนึ่ง กับที่ตกน้ำมูนอีกฝ่ายหนึ่ง” ( กรณีปราสาทพระวิหาร . 2551 :4-7 )

ดังนั้น เมื่อเรายืนยันตามหนังสือสัญญานี้ ที่ทับซ้อนจึงไม่มี เพราะมันเป็นที่ของเรา และเมื่อใครบุกรุกเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเรา มีวิธีเดียวก็คือ ต้องไล่ออกไป ต้องกดดันให้ชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ให้ได้ จะด้วยวิธีการใดก็ตาม
ส่วนที่กัมพูชา อ้างแผนที่ผนวก 1 ก็ต้องไปว่ากันในศาล กรณีนี้ ใครพูดถึงที่ทับซ้อน แสดงว่าไม่เข้าใจ ไม่มีความเป็นชาตินิยม ไม่น่าคบ แต่ถ้าต้องพูดถึงที่ทับซ้อน ก็มีแห่งเดียวคือ บริเวณที่ปราสาทตั้งอยู่นั่นแหละ เพราะเรายังสงวนสิทธิการครอบครองอยู่ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้
ดังนั้น พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงไม่ใช่ที่ทับซ้อน แต่เป็นที่ของเรา คนไทยต้องพูดอย่างนี้ เหมือนกัมพูชา เขาไม่เคยพูดถึงที่ทับซ้อนเลย เขาพูดแต่ว่าเป็นที่ของเขา…. เราก็ต้องพูดให้เป็นเสียงเดียวกันว่า พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น เป็นที่ของเรา เราต้องมั่นคงในหลักฐานของเรา

สุดท้ายก็มาถึงคำถามที่ว่า เมื่อพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ดังกล่าวเป็นของเรา เราปล่อยให้ชาวกัมพูชาบุกรุกเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเราได้อย่างไร คำตอบง่ายๆก็คือ เราปล่อยปละละเลย (หมายถึงทุกหน่วยงาน) ถ้าว่าตามนิทาน ก็ตรงกับเรื่องม้าอารี หรือ ตรงกับเรื่อง การซื้อที่ดิน แล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่เคยไปดูเลย ปรากฏว่ามีคนเข้าไปอยู่ อยู่นานเข้า ก็เลยกลายเป็นของเขาไป ไล่เขาออกไม่ได้ ตอนนี้เราก็ทำท่าจะไล่ชาวกัมพูชาออกไปไม่ได้เหมือนกัน (อย่างนี้เขาเรียกเสียดินแดนหรือเปล่า ครับ)

ในระยะนี้ ปรากฏว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เตรียมระดมพลไปที่ชายแดน เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย เรื่องนี้ ท่านฟังคุณสุเทพ พูดซิครับ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 กรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมระดมพลวันที่ 19 กันยายนนี้ เพื่อขับไล่ชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร ว่า ไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่จะไปเขาพระวิหารจะไปทำไม ถ้าไปเพียงเพื่อแสดงออกถึงความรักหวงแหนแผ่นดินก็แสดงได้ แต่ควรระมัดระวังอย่าไปกระทบกับทางกัมพูชา พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น ทั้งไทยและกัมพูชาก็ตกลงกันแล้วว่า จะให้คณะกรรมการปักปันเขตแดนไปศึกษา ไม่ควรจะเข้าไปวุ่น” (มติชนรายวัน 16 กย.52:1)

ชาวกัมพูชาบุกรุกเข้ามาในแผ่นดินของเรา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยังไม่รู้เลยว่ากลุ่มคนที่จะไปเขาพระวิหารนั้น เข้าไปทำไม และยังปรามอีกว่าอย่าเข้าไปวุ่น…. ฮ่วย ! (เรามีนักการเมืองที่หลากหลายคุณภาพแบบนี้ ก็ต้องทำใจหน่อยครับ )

เรื่องข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร เราหลงประเด็น ปล่อยปละละเลยมานานแล้ว ตอนเปิดให้ประชาชนขึ้นไปชมความงามของปราสาท ผมยังจำได้แม่นยำว่า ไปครั้งแรกนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2541 บริเวณที่เป็นร้านค้าด้านล่างยังไม่มี ชาวกัมพูชาขายของกันที่บริเวณข้างทางดำเนินจากโคปุระชั้นที่ 1 ไปยัง โคปุระชั้นที่สอง และปีถัดมา ผมไปอีกครั้ง ปรากฏว่าพวกร้านค้าย้ายลงมาอยู่ข้างล่างหมดแล้ว เราปล่อยให้เขาเข้ามาเอง เพราะขาดการใส่ใจ เดี๋ยวนี้ทำเป็นหมู่บ้าน แถมมีวัดวาอารามเสียด้วยผมมีข้อสังเกต เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารอยู่หลายประการ คือ

  1. เมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ วินิจฉัยว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา เราไม่ยอมรับคำวินิจฉัยนั้น แต่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้ล้อมรั้วลวดหนามรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบตัวปราสาท และย้ายเสาธงไทยออกจากบริเวณปราสาทโดยไม่มีการลดธง เกียรติประวัติอันนี้ผมชื่นชมจริงๆ แต่ที่สงสัยก็คือ เมื่อเราล้อมรั้วและย้ายเสาธง ทำไมเราไม่ปักเสาธงไว้ในพื้นที่ของเราบนเขาพระวิหาร แต่เราอุตสาห์ขนไปปักไว้ถึงบน ผามออีแดง คำถามก็คือ ทำไมเราถึงทำอย่างนั้น
  2. ถ้าใครเคยไปเที่ยวชมปราสาทพระวิหาร หรือได้ดูข้อมูลภาพถ่ายจากนักวิชาการต่างๆนำมาเสนอกัน ท่านจะเห็นว่า ตรงบริเวณทางขึ้นบันไดนาค สุดบันไดทางขึ้นปราสาท จะมีรั้วลวดหนาม และ ประตูเหล็กทางเข้า ข้างประตู ด้านทิศตะวันตกจะมีเก้าอี้สองตัว ด้านบน 1 ตัว ด้านล่าง 1 ตัว มีทหารนั่งอยู่ ผมยังไปนั่งพักเหนื่อยตรงบริเวณนั้นเลย แสดงให้เห็นว่า ส่วนที่เป็นบันไดนาคขึ้นไปเป็นเขตที่เรากำหนดให้ตามคำวินิจฉัยของศาลฯ ส่วนที่เป็นบันไดทางขึ้นปราสาทลงมาทั้งหมดเป็นของไทย ตอนผมไปทีแรก ผมซื้อบัตรผ่านประตูจากซุ้มจำหน่ายบัตรข้างล่าง และมีเจ้าหน้าที่เก็บบัตรที่ประตู เหล็กระหว่างตีนบันไดนาคกับสุดบันไดทางขึ้นปราสาท ไปคราวหลังปรากฏว่า กัมพูชาลงมาเก็บบัตรผ่านประตูที่ตีนบันไดทางขึ้นปราสาทเสียแล้ว เอาบันไดทางขึ้นของเราไปดื้นๆ ทำไมเราถึงปล่อยให้เขาทำอย่างนั้น
  3. ช่วงหลังๆที่ผมไปปราสาทพระวิหาร นอกจากผมต้องเสียค่าบัตรผ่านประตูเข้าชมปราสาทแล้ว ยังต้องเสียค่าผ่านทางให้กับอุทยานประวัติศาสตร์เขาพระวิหารอีกต่อหนึ่งด้วย และยังเสียค่าธรรมเนียมอย่างอื่นอีก ผมไม่อยากบอก

และในขณะนี้ กรณีพิพาทเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารกำลังเข้มข้นดุเดือดรุนแรงขึ้นเรื่องๆ ยิ่งมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำลังเดินทางไปที่ปราสาทเพื่อประกาศเจตนารมย์ที่จะขับไล่ชาวกัมพูชาที่บุกรุกออกไปจากเขตแดนประเทศไทย โดยมี คุณวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น เป็นแกนนำ ยิ่งน่าเป็นห่วง ผมได้ฟังข่าวแล้วอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเกิดเสียงปืนดังขึ้นสัก 1 ครั้ง อะไรจะเกิดขึ้น ผมจะไม่พูดถึงผู้คนที่อาจจะล้มตายกันเป็นจำนวนมาก เพราะหวาดเสียวเกินไป แต่จะพูดถึงธุรกิจของคนไทยที่อยู่ในเสียมเรียบ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ จะเป็นอย่างไร และรถบรรทุกสินค้าที่จอดกันเป็นแถวยาวเหยียดรอด่านเปิดเพื่อขนสินค้าออกไปทางด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จะทำอย่างไร คิดแล้วก็หวาดวิตก แต่ที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้นก็คือ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2552 ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ กำลังเดินทางไปยังผามออีแดงเพื่อประกาศเจตนารมย์ ได้มีกลุ่มชาวบ้าน ต. ภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ. ศรีสะเกษ ออกมาต่อต้าน มีการทำร้ายกัน ทั้งฝ่ายพันธมิตรฯและฝ่ายชาวบ้านบาดเจ็บกันไปหลายคน เห็นภาพแล้วก็สลดใจ เพราะยังไม่ทันไร พวกเราคนไทยก็ตีกันเองเสียแล้ว มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร
ผมอยากจะจบด้วย วรรคสุดท้ายคำปราศรัย ของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 4
กรกฎาคม 2505 ซึ่งผมยังจำได้อย่างแม่นยำว่า “พี่น้องชาวไทยที่รัก ในวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้ “
“แต่พอมาถึงวันนี้ เราคนไทยก็มาตีกันเองเสียแล้ว”
…………….

เอกสารอ้างอิง
ทำเนียบนายกรัฐมนตรี,สำนัก.คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คดีปราสาทพระวิหาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี.2505.
ธงชัย วินิจจะกูล. ประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย อันตรายของลัทธิชาตินิยมไทย .เผยแพร่บนเว็ปไซท์ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. www.BioLawCom.De
สมปอง สุจริตกุล. กรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ใน กรณี ปราสาทพระวิหาร จากมรดกอาณานิคมสู่มรดกโลก.(อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ บก). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต.2551.

65 thoughts on “กรณี ปราสาทพระวิหาร คนไทยจะพูดจาเป็นเสียงเดียวกันมิได้เชียวหรือ

  1. เราก็ต้องพูดให้เป็นเสียงเดียวกันว่า พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น เป็นที่ของเรา เราต้องมั่นคงในหลักฐานของเรา

    ผมชอบครับ ประโยคนี้ จด ๆ

  2. อีกหน่อยคนไทยจะไม่มีประเทศอยู่เพราะว่า ไม่มีเอกลักษณ์ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง แก่งแย่งชิงดี นี่ล่ะที่พระราชดำรัสกล่าวไว้ว่า “อย่าให้คนไม่ดีได้ปกครองบ้านเมือง” พวกนักการเมืองก็ห่วงแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เท่านั้นแหละ !!!

    ไม่ว่า เหลี่ยมหรือหล่อ ก็ไม่ได้รักประเทศนี้มากกว่าตัวเองหรอก!!!

Comments are closed.