ภควัทคีตา : บทเพลงของพระเจ้า

charot

จิปาถะ
ภควัทคีตา : บทเพลงของพระเจ้า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิพนธ์ ทวีกาญจน์ ได้แสดงความคิดเห็นในจิปาถะ เรื่องผลบุญผลบาป ที่โพสต์ไว้เมื่อ วันที่ 26 สิงหาคม 2557 ความว่า มีกรรมใช้กรรม ถ้ามองผู้พิการ ผู้ทุกข์ยาก ผู้เจ็บป่วย ผู้ผิดหวัง เจ็บปวด ขุ่นข้อง เคืองแค้น เป็นผู้มีกรรม ได้รับกรรม หากผู้นั้นๆไม่โกรธ ไม่อาฆาต อภัยทานแก่เจ้ากรรมนายเวร ก็คงทำให้กรรมนั้นๆลุล่วงไม่มาเพิ่มแก่ชีวิต ความสุขสงบแห่งจิตก็คงเกิดขึ้นแทน..ผมคิดของผมอย่างนี้นะ คนที่ผมเคยโกรธ เคยรังเกียจ ปัจจุบันผมลืมไปแล้ว ว่าเคยโกรธเคยเกลียดด้วยเรื่องอะไร แต่จะไม่พบปะเสวนาด้วย คิดเสียว่าไม่มีคนนั้นในโลกนี้ แค่นี้พอ..

ผมเห็นด้วยกับ ผศ.นิพนธ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อยากปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำ คือ ทำกรรมนั้นให้ลุล่วง ไม่มาเพิ่มแก่ชีวิต เพื่อความสุขสงบแห่งจิต แต่เนื่องจากผมเป็นนักต่อสู้ ผมจึงต้องมีหัวใจของนักต่อสู้ สิ่งที่ทำให้ผมเป็นนักต่อสู้ที่สมบูรณ์ ก็คือ ปรัชญาภควัทคีตา

ภควัทคีตา เป็นเรื่องแทรกในมหากาพย์ภารตะ มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของอินเดียโบราณ เป็นเรื่องของสงคราม ระหว่างพี่น้องสองตระกูล ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน คือ ตระกูลเการพ กับตระกูลปาณฑป ณ ทุ่งกุรุเกษตร เป็นเวลานานติดต่อกัน 18 วัน สาเหตุของสงครามก็คือการแย่งกันปกครองแผ่นดิน ชาวฮินดูทั่วไปถือกันว่า มหาภารตะเป็นเรื่องการทำสงครามระหว่างฝ่ายธรรม (ปาณฑป) กับฝ่ายอธรรม (เการพ) ซึ่งสุดท้ายฝ่ายธรรมเป็นฝ่ายชนะ

ภควัทคีตา เป็นเรื่องของอรชุนซึ่งเป็นฝ่ายปาณฑปกำลังตกอยู่ภาวะวิกฤต เพราะเกิดรู้สึกท้อใจที่จะต้องต่อสู้กับญาติพี่น้องและครูบาอาจารย์ เขาไม่แน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง จึงได้ปรึกษากับพระกฤษณะซึ่งก็คือพระเจ้าแต่มาในรูปลักษณ์ของมิตร และทำหน้าที่เป็นสารถีให้เขา พระกฤษณะได้สอนอรชุนให้มีกำลังใจในการรบ คำสอนของกฤษณะ คือ ภควัทคีตา

“คำว่า ภควัท หมายถึงผู้เป็นที่เคารพอย่างสูง,นาย หรือพระเจ้า ส่วนคำว่า คีตา แปลว่า เพลง ภควัทคีตา อาจแปลได้ว่า เพลงของพระเจ้า หมายถึงคำสอนของพระเจ้าที่ประทานให้แก่มนุษย์เพื่อชี้ทางเข้าถึงพระเจ้า”( ศรีสุรางค์ พูนทรัพย์.5)

คำสอนของพระกฤษณะ มีจุดมุ่งหมายเพื่อชักชวนให้อรชุนเลิกท้อใจ และทำการรบด้วยความมั่นใจว่า สิ่งที่กำลังทำนั้นถูกต้อง ฉะนั้นสิ่งแรกที่ พระกฤษณะ ชี้ให้อรชุนเห็นความจริงว่า มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ ร่างกายนั้นเสื่อมสภาพไปตามกาลแต่วิญญาณยังอยู่ เมื่อร่างกายถูกฆ่า แต่วิญญาณมิได้ถูกฆ่า ดังนั้นจึงไม่ควรโศกเศร้าเสียใจถึงผู้ใด เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้ ดังความในโศลกที่ 20,22,และ 25 ในบทที่ 2)

(โศลกที่ 20) “เขามิได้เกิด เขามิได้ตาย ฤาครั้นเป็นอยู่แล้ว เขาจักไม่เป็นอยู่อีกก็หามิได้ มีความไม่เกิด ความยั่งยืน ความไม่มีที่สิ้นสุด ความเก่าแก่ เขามิได้ถูกฆ่า เมื่อร่างกายถูกฆ่า”
(โศลกที่ 22) “ฉันใด บุคคลเปลื้องทิ้งเสียซึ่งเสื้อผ้าอันคร่ำคร่า ขาดวิ่น แล้วสวมตัวใหม่ ฉันนั้น ผู้ที่สิงอยู่ในร่างกายก็ทอดทิ้งเสียซึ่งร่างกายอันบุบสลายแล้ว เข้าสู่ร่างใหม่”
(โศลกที่ 25 )” “เขาได้ชื่อว่า เป็นผู้สังเกตดูมิได้ คิดไปไม่ถึง รู้สึกเอาก็ไม่ได้ เหตุดั่งนี้ สำคัญในเขาเช่นนั้นแล้ว เธอไม่พึงเป็นทุกข์” (อินทรายุธ.162-163)

ปรัชญาภควัทคีตา เป็นปรัชญาที่เน้นถึงการกระทำว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่มีใครเลยที่จะอยู่ได้โดยไม่กระทำอะไรเลย เพราะทุกคนย่อมถูกบังคับให้ประกอบกรรม โดยแรงผลักดันของธรรมชาติ ผู้ที่ไม่กระทำด้วยกายแต่คิดกระทำอยู่ในใจ ถือว่าเป็นผู้ประพฤติลวง ส่วนผู้ที่ประกอบกรรมโดยสำรวมใจมิให้มุ่งหวังผลถือว่าเป็นคนดีพิเศษ ฉะนั้น การกระทำจึงดีกว่าการอยู่นิ่ง (ศรีสุรางค์ พูนทรัพย์.10) ดังความในโศลกที่ 5-7 บทที่ 3)

“โศลกที่ 5 ไม่มีใคร แม้เพียงชั่วกษณหนึ่ง จะตั้งอยู่ใน ความปราศจากกรรมโดยแท้จริง เพราะบุคคลทั้งปวงถูกคุณลักษณทั้งหลายอันเกิดแต่ธรรมดาต้องไปสู่กรรม อย่างไม่อาจช่วยเหลือได้
โศลกที่ 6 ผู้ใด นั่งลงบังคับอินทรียแห่งกรรม แต่ยังมีอารมณ์อยู่ในใจของเขา ผู้ลุ่มหลงนั้น ได้ชื่อว่ามิถยาจาร (คนลวงโลก คนหน้าไหว้หลังหลอก)
โศลกที่ 7 แต่ผู้ใด บังคับอินทรียด้วยใจ อรชุนเอย มีอินทรียแห่งกรรมอันปราศจากเยื่อใย ประกอบกรรมโยค ผู้นั้นเป็นผู้เลิศ”(อินทรายุธ.178.)

ที่ผมว่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า เมื่อผมเริ่มต่อสู้ ผมก็จะพลิ้วไปตามจังหวะลีลาบทเพลงของพระเจ้า

อ้างอิง
กฤษณไทวปายนวยาส รจนา อินทรายุธ* แปล.(2522).ภควัทคีตา.กรุงเพทฯ สำนักพิมพ์ศิวลัย.
ศรีสุรางค์ พูนทรัพย์ (2522).ภควัทคีตา : ปรัชญาสำหรับผู้ที่ไม่พอใจสวรรค์ ใน ภควัทคีตา..กรุงเพทฯ สำนักพิมพ์ศิวลัย.
* อินทรายุท เป็นนามปากกาของอัศนี พลจันทร์ หรือนายผี เจ้าของบทเพลง “เดือนเพ็ญ”

 

 

Comments are closed.