ทับหลังปราสาทบ้านน้อย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว

ทับหลังปราสาทบ้านน้อย อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว
วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

ทับหลังปราสาทบ้านน้อย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว

เนื่องมาจากคุณอรพิน คงหมุน ได้อ่านบทความของผม เรื่อง “ทับหลังจำลอง : เจตนาที่แฝงเร้น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจำลองทับหลังจากปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ และตั้งแสดงไว้ที่บริเวณทางเข้าปราสาท ส่วนทับหลังของจริงได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา“ และคงมีความสนใจเกี่ยวกับทับหลัง ได้ถามมาว่า

“ทับหลังปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย อ วัฒนานคร จ. สระแก้ว เก็บรักษาไว้ที่ไหน ได้ไปดูที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรีก็บอกไม่มี ได้เรียนถามไปที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครก็บอกว่าไม่มี ดิฉันสงสัยจริงๆว่าอยู่ที่ไหน”
เมื่อมีคำถามมา ผมก็ต้องพยายามหาคำตอบให้ได้ การหาคำตอบของผมก็ทำเช่นเดียวกับคุณอรพิน คือสอบถามไปที่ พช.ปราจีนบุรี ได้คำตอบว่าไม่มี ถามไปที่ พช.พระนคร ที่แรกก็บอกว่าไม่มี น่าจะอยู่ที่ปราจีนบุรี ผมบอกว่าได้ตรวจสอบไปที่ พช. ปราจีนบุรีแล้ว ได้รับคำยืนยันว่าไม่มี น่าจะอยู่ที่ พช. พระนคร เมื่อผมยืนยันอย่างนี้ ฝ่ายวิชาการของ พช. พระนครก็บอกว่าจะตรวจสอบให้ ขอเวลาประมาณ 20 นาที ตรงนี้ต้องขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ จากการตรวจสอบปรากฏว่า มีทับหลังจาก อ. วัฒนานคร จัดแสดงอยู่ที่ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาถ 1 ชิ้น แต่ไม่ได้ระบุว่ามาจากปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย บอกแต่เพียงว่า เป็นทับหลังจาก อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
และคงเนื่องจากข้อมูลที่อธิบายไว้ใต้ทับหลังมิได้ระบุว่าเป็นทับหลังจากปราสาทบ้านน้อย เจ้าหน้าที่เลยไม่ทราบ เมื่อถามไปก็มักจะบอกว่าไม่มี


ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2552 ผมก็เลยไปดู ก็เข้าชมฟรีครับ เพราะเป็นผู้สูงอายุ เริ่มต้นจากหน้าพิพิธภัณฑ์ฯ เดินตรงตามถนนเข้าไปเลยครับ ตรงหน้าจะเป็นศาลาสำราญมุขมาตย์ ด้านซ้ายจะเป็นตำหนักแดง บริเวณนี้มีเจ้าหน้าที่จำหน่ายบัตรเข้าชมครับ จากนั้นเดินแยกซ้ายไปตามถนน อาคารที่อยู่ซ้ายมือนี่แหละ คือ อาคารมหาสุรสิงหนาถ มีที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ บริเวณระเบียงของอาคารทางเดิน จะมีรูปแกะสลักหินทรายศิลปะแบบเขมรจัอแสดงอยู่ ทับหลัง อ.วัฒนานครจะอยู่ชั้นล่างนี่แหละครับ เดินไปทางซ้านมือ ประตูที่ 3 แล้วเปิดเข้าไปก็จะพบรูปแกะสลักศิลปะเขมรจัดแสดงอยู่เป็นจำนวนมาก เดินเลยเข้าไปในส่วนที่ 3 ก็จะเป็นบริเวณที่จัดแสดงทับหลัง

ทับหลังจากวัดทองทั่ว อ.เมือง จ. จันทบุรี

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์  กู่สวนแตง อ. บ้านใหม่ไชยพจน์  จ.บุรีรัมย์

บริเวณนี้มีทับหลังที่สำคัญๆหลายชิ้น เช่น ทับหลังแกะสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากกู่สวนแตง จ. บุรีรัมย์ ทับหลังแกะสลักเรื่องพระกฤษณะต่อสู้กับนาคกาลียะ จากปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ทับหลังจากปราสาทพระโค จังหวัดนครราชสีมา ทับหลังจากปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา ทับหลังจากวัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี และทับหลังจาก อ.วัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว


ทับหลังจาก อ. วัฒนานคร แกะสลักด้วยหินทรายแกร่งสีเทาอ่อน ขนาดสูง 42 ซม. ยาว 175 ซม. การออกแบบลวดลายเป็นแบบซ้ายขวาเท่ากัน โดยแกะสลักเป็นลายท่อนพวงมาลัยจากกึ่งกลางทับหลังปลายแยกออกไปทั้งสองข้างและม้วยเข้าหากัน บนท่อนพวงมีวงกลมรูปเหรียญ วางอยู่ 3 วง เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ ใต้ท่อนพวงมาลัย ทำเป็นลายพวงมาลัยห้อย ภายในพวงมาลัยและระหว่างลายพวงมาลัยเป็นพวงอุบะห้อย ถัดจากท่อนพวงมาลัยทั้งซ้ายและขวา ทำเป็นรูปหงส์นั่งแท่นหันหน้าออก คาบพวงอุบะ เหนือหงส์ทำเป็นลายดอกไม้ 8 กลีบ ครึ่งซีก
นักวิชาการระบุว่า เป็นศิลปะเขมร แบบไพรกเม็ง มีอายุราว พุทธศตวรรษที่ 13 และได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “รูปหงส์หันหน้าออกคาบพวงอุบะเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในกัมพูชา” (สมิทธิ ศิริภัทร์ และมยุรี วีระประเสริฐ.2533.72.
ปัญหาก็คือ ทับหลังชิ้นนี้มาจากปราสาทบ้านน้อยใช่หรือไม่ ผมได้ตรวจสอบจากข้อมูลที่มีอยู่ คือ
ภาพในหนังสือ ปราสาทหินและทับหลัง มรดกไทย โครงการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไทย ศ.ดร.มรว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ บรรณาธิการ ที่หน้า 23 ภาพทับหลัง มีคำบรรยายว่า “ ทับหลังแบบ ไพรกเมง ปราสาทบ้านน้อย จังหวัดสระแก้ว
หนังสือ ทับหลัง การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา โดย อ.สมิทธิ ศิริภัทร์ และ ผศ. มยุรี วีระประเสริฐ หน้า 73 รูปที่ 27 มีคำบรรยายในหน้า 72 ว่า ทับหลังจากปราสาทบ้านน้อย อำเภอวัฒนานคร ศิลปะแบบไพรกเมง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13
ฉะนั้น ผมจึงขอสรุปไว้ในเบื้องต้นว่า ทับหลังจาก อ. วัฒนานคร จ.สระแก้ว ที่จัดแสดงอยู่ที่ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาถ พช.พระนคร เป็นทับหลังที่มาจากปราสาทบ้านน้อย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว แต่จะให้แน่จริงๆ ก็คงต้องตรวจสอบจากทะเบียนของกรมศิลปากร ซึ่งกรมศิลปากรจะช่วยอนุเคราะห์ตรวจสอบให้ก็จะเป็นประโยชน์มากครับ จะได้หายสงสัยกันเสียที
และเนื่องจากผมยังไม่เคยไปชมปราสาทบ้านน้อย จึงของดที่จะพูดถึง แต่จากข้อมูล กล่าวว่าปราสาทบ้านน้อย เป็นอโรคยาศาล เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่อเทียบกับทับหลัง ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 มีอายุแตกต่างกันมากกว่า 450 ปี ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ครับ
ก็ขอขอบคุณ คุณอรพิน ครับ ที่ถามมา ทำให้ผมพลอยได้รู้เรื่องนี้ไปด้วย มีอะไรก็ถามมาได้เลย ตอบแน่ ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับเวลา ครับ
…………………….
เอกสารอ้างอิง
สมิทธิ ศิริภัทร์ และ มยุรี วีระประเสริฐ.ทับหลัง : การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทย
และประเทศกัมพูชา.กรมศิลปากร.2533.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์.ปราสาทหินและทับหลัง.จัดพิมพ์โดย มรดกไทย โครงการสืบสานมรดก
ทางวัฒนธรรมไทย.2542.

127 thoughts on “ทับหลังปราสาทบ้านน้อย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว

  1. สวัสดี…อาจารย์
    ผมได้อ่านเรื่องทับหลังปราสาทบ้านน้อย แล้ว รู้เหมือนกันว่า เป็นความไม่ถูกต้องของ พช. ซึ่งอาจเกิดจากคนที่ ตอบ ไม่ใช่ภัณฑารักษ์จริง ๆ หรือ ตรวจสอบแล้วไม่พบชื่อตามที่ผู้ถาม ๆ บางครั้งโบราณวัตถุ ดังกล่าวถูกสะสมมานาน ยังไม่ได้มีการชำระในทะเบียน ทำให้หาไม่เจอ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขออภัยไว้ณ.ที่นี้ด้วย ตอนนี้ผมเป็น สว.แล้ว คงช่วยเหลืออาจารย์ได้บ้าง…สวัสดี

  2. ผมได้อ่านเรื่องทับหลังปราสาทบ้านน้อย แล้ว รู้เหมือนกันว่า เป็นความไม่ถูกต้องของ พช. ซึ่งอาจเกิดจากคนที่ ตอบ ไม่ใช่ภัณฑารักษ์จริง ๆ หรือ ตรวจสอบแล้วไม่พบชื่อตามที่ผู้ถาม ๆ บางครั้งโบราณวัตถุ ดังกล่าวถูกสะสมมานาน ยังไม่ได้มีการชำระในทะเบียน ทำให้หาไม่เจอ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขออภัยไว้ณ.ที่นี้ด้วย ตอนนี้ผมเป็น สว.แล้ว คงช่วยเหลืออาจารย์ได้บ้าง…สวัสดี

    ผมได้อ่านเรื่องทับหลังปราสาทบ้านน้อย แล้ว รู้เหมือนกันว่า เป็นความไม่ถูกต้องของ พช. ซึ่งอาจเกิดจากคนที่ ตอบ ไม่ใช่ภัณฑารักษ์จริง ๆ หรือ ตรวจสอบแล้วไม่พบชื่อตามที่ผู้ถาม ๆ บางครั้งโบราณวัตถุ ดังกล่าวถูกสะสมมานาน ยังไม่ได้มีการชำระในทะเบียน ทำให้หาไม่เจอ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขออภัยไว้ณ.ที่นี้ด้วย ตอนนี้ผมเป็น สว.แล้ว คงช่วยเหลืออาจารย์ได้บ้าง…สวัสดี

  3. ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

  4. ต้องขอขอบพระคุณเช่นกันนะคะ ที่ได้เขียนเกี่ยวกับทับหลังปราสาทบ้านน้อย (น่าจะเป็นที่ ต.ผักขะ เส้นทางไปอรัญฯ) ทำให้ได้ทราบเรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้น จริงๆ เป็นคนพื้นที่ ก็ไม่ทราบประวัติความเป็นมาอย่างไร ต้องขอบขอบพระคุณอย่างมากเลยค่ะ

Comments are closed.