มรดกโลก “พลาสติก” ที่อยุธยา รสนิยมที่ไร้สุนทรี

มรดกโลก “พลาสติก” ที่อยุธยา รสนิยมที่ไร้สุนทรี

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

มติชนรายวัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 6450  วันจันทร์ที่ 6  พฤศจิกายน 2538

ในปัจจุบันการนำพลาสติกมาใช้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ นั้นได้รับความนิยมสูงขึ้นเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติของพลาสติกมีค่อนข้างสูงสามารถนำมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ทำเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่ง และเครื่องเรือน เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม พลาสติกนั้นถึงแม้จะมีคุณสมบัติค่อนข้างสูง แต่มีคุณค่าค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับวัสดุชนิดอื่น เช่น จานที่ทำด้วยดิน ( จาน กระเบื้อง ) ย่อมมีคุณค่าสูงกว่าจากที่ทำด้วยพลาสติก เป็นต้น
จึงอาจกล่าวได้ว่า คุณค่าของวัสดุนั้นมีความสำคัญไม่น้อยกว่าคุณสมบัติของวัสดุ ดังนั้นการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องการให้มีคุณค่าการเลือกวัสดุจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะต้องคำนึงถึงคุณค่าของวัสดุที่นำมาสร้างสรรค์ด้วย และถ้าสิ่งที่จะสร้างนั้น มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง เช่น สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่มีความสำคัญการเลือกวัสดุเพื่อใช้สร้างจะต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ เพื่อให้สัญลักษณ์นั้นมีคุณค่าสูงยิ่งขึ้น


กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นงานด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม หรืองานประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจในคุณค่าความดีความงานของสิ่งต่าง ๆ        ฉะนั้นจึงถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบในการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของชาติ
เกี่ยวกับเรื่องคุณค่ากับกรมศิลปากร มีเรื่องที่ขอนำเสนอให้พิจารณา 2 เรื่อง
เรื่องแรก คือ สัญลักษณ์
ตั้งแต่ปี 2534 นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในการนี้ได้มีการจัดงานฉลอง และได้ทำเครื่องหมายสัญลักษณ์มรดกโลก เพื่อติดตั้งไว้ตามสถานที่สำคัญ ๆ เช่น วัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสร็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดงานฉลองมรดกโลก และทรงเจิมสัญลักษณ์มรดกโลก ณ วิหารมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า สัญลักษณ์มรดกโลกนี้มีความสำคัญอย่างไม่มีข้อสงสัย

แต่อนิจจาโครงการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรทำสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญนี้ด้วยพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณค่าค่อนข้างต่ำ
ดังนั้น ใครก็ตามที่นำพลาสติกมาทำสัญลักษณ์มรดกโลก จะทำให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะเพระขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณค่า หรือไม่ก็มักง่าย ทำเอาสักแต่ว่าทำใช้วัสดุที่มีคุณค่าต่ำ และปลอมแปลงให้ดูเหมือนวัสดุที่มีคุณค่าสูง
เมื่อเวลาผ่านไป ความจริงได้ปรากฏให้เห็นว่า สัญลักษณ์มรดกโลกนั้นทำขึ้นจากพลาสติก เพราะทนสภาพอากาศร้อนหนาวไม่ไหวเกิดรอยแตก แสดงให้เห็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อลวงตาประชาชน
และเมื่อพิจารณาถึงงบประมาณตามแผนแม่บทพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่มียอดงบสูงถึงสามพันกว่าล้านบาทแล้ว ก็ทำให้เกิดความสงสัยไปได้สารพัด

เรื่องที่สอง การสร้างนภศูล

เรื่องมีอยู่ว่า โครงการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ได้ทำนภศูลซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมส่วนปลายสุดของเครื่องยอด แบบที่เรียกว่า ลำภุขัน หรือ ฟักเพกา ซึ่งเป็นโลหะที่ใช้ประดับยอดปรางค์ มีคลีบคล้ายใบมีด มีแฉกซ้อน 2 ชั้น หรือ 3 ชั้น ที่ปลายมีรูปคล้ายพระขรรค์ เพื่อนำไปติดตั้งบนยอดปรางค์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3 แห่ง  คือปรางค์ประธานวัดบูรณะ ปรางค์ประธานวัดพระราม และปราค์ประธานไชยวัฒนาราม ซึ่งได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยทำด้วยโลหะ ( ทองหลือง ) แต่ปรากฏว่ามีขนาดเล็กเกินไป ไม่สัมพันธ์กับขนาดขององค์ปรางค์ จึงได้ทำขึ้นใหม่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม แต่คราวนี้ทำด้วยพลาสติกโดยทำโครงเหล็กไว้ภายใน ใช้ท่อน้ำโลหะขนาด 4 นิ้วเป็นแกนมีน้ำหนักประมาณไม่น้อยกว่าอันละตันครึ่ง ขณะนี้ยังไม่ได้นำไปติดตั้ง คงเก็บไว้ที่สำนักงานโครงการนครประวัติศาสตร์ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทรา
จากทั้งสองเรื่องที่กล่าวมา มีข้อสังเกตหลายประการ ดังนี้
1.  สัญลักษณ์มรดกโลกนี้ โครงการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรทำด้วยพลาสติก ติดตั้งอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ 3 แห่งด้วยกัน คือ ที่ประตูทางเข้าด้านทิศใต้ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่ประตูทางเข้าวัดไชยวัฒนาราม และริมทางเดินในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจไขว้เขวไปได้ว่า สถานที่ 3  แห่งนั้น ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ซึ่งในความเป็นจริงมรดกโลกที่ได้รับ คือ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์โบราณวัตถุสถานวัดวาอารามและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คงหมายถึงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและบริเวณโดยรอบ
ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง และเห็นความสำคัญของนครประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์มรดกโลกนี้ควรมีชิ้นเดียว มีขนาดใหญ่พอสมควรใช้วัสดุที่มีคุณค่าและคงทนถาวร เช่น โลหะ และติดตั้งไว้ในที่ที่สามารถมองเห็นได้ง่าย มีความเด่นชัด เช่น ติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าเกาะเมืองด้านทิศ-ตะวันออก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ คือ นครประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นมรดกโลก
2.  ยอดนภศูล เป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ประดับไว้ในส่วนที่สำคัญสูงสุด และหมายถึงโลกและจักรวาล รวมไปถึงพลังอำนาจของเทพเจ้า ซึ่งตามปกติจะทำด้วยโลหะ ฉะนั้น การใช้พลาสติกทำก็ชี้ให้เห็นว่าผู้ทำขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณค่า เช่นเดียวกับการใช้พลาสติกทำสัญลักษณ์มรดกโลก เป็นที่น่าเสียดายว่า สำนักงานโครงการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นจำนวนมาก แต่ทำไมถึงทำตัวเหมือนกับคนไม่มีความรู้ ขาดการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่คิดทำนภศูลจากพลาสติกเพื่อนำไป ติดบนยอดปรางค์ 3 แห่งนั้น ไม่มีความเคารพในสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเลย
3.  ยอดปรางค์ทั้ง 3 แห่ง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ โครงสร้างคงไม่มีความมั่นคงแข็งแรง เท่ากับเมื่อแรกสร้าง อาจมีปัญหาในเรื่องการรับน้ำหนักนภศูลที่จะนำไปติดตั้ง หรือต้องการให้พังลงมา เพื่อจะได้ของบฯ มาซ่อนอีก
4.  จากการที่โครงการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร สร้างนภศูลถึง 2 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ขาดการวางแผนที่รอบคอบรัดกุม ทำให้รัฐต้องเสียเงินเพื่อการนี้ไปเป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็น
5.  ถ้าพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะทำนภศูลไปติดตั้งบนยอดปรางค์เปรียบเทียบความจำเป็นกับสิ่งอื่น ๆ ที่จะต้องทำ จะเห็นว่ายังมีงานสำคัญเร่งด่วนอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก แต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไรถึงได้ไปเลือกทำสิ่งที่มีความจำเป็นน้อยกว่าได้ “ ก็เห็นจะต้องตรวจสอบกันดูบ้างเสียแล้วกระมัง”

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………

ป้ายสัญลักษณ์มรดกโลก
หน้าจดหมาย หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
วันศุกร์ที่ 24  พฤศจิกายน  2538 หน้า 29

ตามที่หนังสืออ้างอิงถึงคอลัมน์มติชนสุขสรรค์ โดยนายวิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ ประธานชมนมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ได้เสนอบทความเกี่ยวกับป้ายสัญลักษ์มรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา   ว่าทำด้วยพลาสติกซึ่งเป็นวัตดุที่ไม่คุณค่าและไม่คงทนถาวรนั้น
สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ขอเรียนชี้แจงว่าสำนักงาน ฯ ทำหน้าที่ประสานงานเรื่องมรดกโลกตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนี้มีมรดกโลกไทยที่ได้รับประกาศเป็นมรดกโลก จำนวนทั้งสิ้น 4 แห่ง ใน 7 พื้นที่ คือ
1.  แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี
2.  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร จ. สุโขทัยและ กำแพงเพชร
3.  อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา
4.  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง จ.กาญจนบุรี และ อุทัยธานี
ในปีงบประมาณ 2538 ที่ผ่านมา สำนักงาน ฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำ ป้ายสัญลักษณ์มรดกโลก  ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันสำหรับติดตั้งที่แหล่งมรดกโลก 7 พื้นที่ และสำนักงานฯได้ประสานงานขอให้กรมศิลปากรรับเป็นเจ้าของเรื่องในการออกแบบ จัด สร้าง กำหนดจุดที่ตั้งที่เหมาะสม และดำเนินการติดตั้ง โดยมีเงื่อนไข
สรุปได้ว่า มรดกโลกแต่ละพื้นที่จะติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ที่ละ 1 ป้าย ในจุดที่เหมาะสมบริเวณทางเข้าแหล่งมรดกโลกนั้น ๆ มีรูปแบบที่แสดงเอกลักษณ์ไทย มีขนาดใหญ่พอสมควร ( สูงไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ) เพื่อให้มองเห็นเด่นชัดแต่ไกล และใช้วัสดุที่คงทนสวยงาม เช่น หินแกรนิค หินอ่อน ทั้งนี้ที่แท่นฐานของป้ายสัญลักษณ์ จะมีข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษอธิบายความสำคัญของแหล่งโลก และวันที่แหล่งมรดกโลกดังกล่าวได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ขณะนี้กรมศิลปากรโดยกองหัตถศิลป์ได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการจัดสร้างเพื่อนำไปติดตั้งต่อไป
สำนักงานฯ  จึงใคร่ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์มติชน  และนายวิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ  ที่ให้ความสนใจต่อมรดกโลกของไทย  และเสนอแนวทางในเชิงสร้างสรรค์และโปรดแจ้งข้อเท็จจริงตามที่ได้กล่าวข้างต้นให้  นายวิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ  ทราบด้วยจักขอบคุณยิ่ง
นางสาวจีรวรรณ  พิพิธโภคา
รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ
สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม

12 thoughts on “มรดกโลก “พลาสติก” ที่อยุธยา รสนิยมที่ไร้สุนทรี

  1. ขอบคุณอาจารย์มากครับ….

    บทความของอาจารย์มีประโยชน์ต่อการเรียนของผมมากครับ

    ขอให้เว็บไซด์นี้คงอยู่ต่อไปนะครับ

    นศ. ประวัติศาสตร์

Comments are closed.