วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
เรื่องสั้น เหตุเกิดที่สารขัณฑ์ (ชีวิตคนก็เป็นเช่นนั้น)
20
ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสกับเหล่าสาวกว่า “อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” อ่านว่า “อับ-ปะ-มา-เท-นะ, สัม-ปา-เท-ถะ” แปลว่า “ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”
ตามประวัติศาสนาในอินเดีย เรื่องความไม่ประมาทนี้ ได้มีการสั่งสอนกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว นอกจากเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์กล่าวแล้ว ในศาสนาพระชิน ซึ่งเป็นศาสนาร่วมสมัยกับศาสนาพุทธ ปรากฏคัมภีร์อิษโฏปเทศ เป็นมรณานุสติ ซึ่งเป็นโอวาทของพระมหาวีระ ประทานแก่สาวกองค์หนึ่งชื่อโคตมะ ดังต่อไปนี้
“ใบไม้เหลืองที่ถึงกาล ร่วงจากต้นลงสู่พื้นดินฉันใด
ชีวิตคนก็เป็นเช่นนั้น โคตมะ จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด
หยาดน้ำค้างที่กลิ้งอยู่บนใบหญ้า อยู่ได้เพียงขณะเดียวฉันใด
ชีวิตคนก็เป็นเช่นนั้น โคตมะ จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด
วิญญาณ ซึ่งมีทุกข์เพราะความประมาท ต้องหมุนกลิ้งไปในสงสารวัฎ
ด้วยกรรมดีและกรรมชั่ว โคตมะ จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด
เมื่อร่างกายชราลง และผมเปลี่ยนเป็นสีขาว และกำลังก็ถอยลง ความเซื่อมซึมและโรคเกิดขึ้น
เนื้อหนังก็เหี่ยวแห้ง โคตมะ จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด
จงตัดอุปทานเสียให้สิ้น มีความบริสุทธิ์เหมือนดอกบัวหรือน้ำเมื่อแล้ง
พ้นจากอุปทานทั้งปวง โคตมะ จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด”*
ครับ วันนี้ ผมนำ มรณานุสติ จากคัมภีร์โบราณ ของศาสนาชิน ซึ่งเป็นคำสอนที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนาที่เราเชื่อถือ เพื่อย้ำเตือนว่า ชีวิตเราเกิดมาก็เท่านี้ จะเบียดเบียนกันไปทำไม? สุดท้ายทุกคนก็ต้องลาโลกไป ไม่มีใครขัดขืนได้ ดังนั้น รักและเมตตาต่อกันมิดีกว่าหรือ? เพื่อจะได้มีเวลาระลึกถึงความตาย เป็นการพัฒนาจิตให้รู้โลกตามที่เป็นจริง และเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เมื่อวันเวลานั้นมาถึง ด้วยการหมั่นเจริญมรณานุสติ จะช่วยให้วาระสุดท้ายของชีวิตจากไปได้อย่างสงบ
….