เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน ถูกค้น (3)

coples

จิปาถะ

เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน ถูกค้น (3)

9

กระสอบป่านมองไปที่แม่น้ำ  กระแสน้ำไหลพลิ้วเป็นระลอกสะท้องแสงอาทิตย์ยามเย็นเป็นประกาย  เงาของต้นไม้ตามชายฝั่งทอดไปบนกระแสน้ำลำต้นสั่นพลิ้วเป็นระลอก “บ้าชะมัด ให้ตายซิ อยู่ดีๆจะมา “สวัสดี” ได้อย่างไร” กระสอบป่านทักท้วงตัวเอง “เพราะเรื่องการค้นตามสถานการณ์สมมุติที่คิดขึ้นนั้น ยังว่าไม่จบครบถ้วยกระบวนความเลย  ยังเหลืออีกตั้ง 2  ประเด็นคือ การค้นตัวบุคคล และเวลาค้น  แล้วจะมาหยุดด้วยการกล่าว “สวัสดี” ถือว่าไม่ถูกต้อง”

“แล้วเรื่องนี้กฎหมายเขาว่าอย่างไรล่ะ” กระสอบป่านเปิดหนังสือ “บุญร่วม เทียมจันทร์(2544.102)   อดีตอธิบดีกรมอัยการ กล่าวถึงเรื่องนี้ ซึ่งสรุปได้ว่า

การค้นตัวบุคคล  มีหลักดังนี้

  1. ห้ามมิให้ค้นบุคคลใดในที่สาธารณะสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุควรสงสัยว่า บุคคลนั้นมีสิ่งของครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด
  2. การค้นตัวบุคคลในที่รโหฐาน คือ ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าคนที่อยู่ในบ้านได้เอาสิ่งของที่ต้องการค้นซุกซ่อนอยู่ในร่างกาย เช่น เอายาบ้าซ่อนอยู่ในกางเกงใน ดังนี้ ตำรวจค้นตัวคนที่อยู่ในบ้านนั้นได้
  3. ค้นตัวผู้ต้องหา หมายความว่า คนนั้นถูกจับเป็นผู้ต้องหาแล้ว ตำรวจมีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหาได้ เพื่อยึดสิ่งของต่างๆ  อย่างไรก็ตาม การค้น

ตัวบุคคลต้องกระทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้หญิงต้องให้ตำรวจหญิงค้น ห้างผู้ชายค้นตัวผู้หญิง เพราะอาจจะกลายเป็นอนาจารได้

10

เวลาการค้น

หลักการค้นในที่รโหฐาน จะค้นได้เฉพาะในเวลากลางวัน คือ ต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก เว้นแต่

  1. เมื่อลงมือค้นในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จสามารถค้นต่อในเวลากลางคืนได้
  2. ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้ จะค้นในเวลากลางคืนก็ได้
  3. ค้นหรือจับผู้ดุร้าย หรือผู้ร้ายสำคัญ จะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าในการตรวจค้นต้องเป็นนายอำเภอ หรือนายตำรวจตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป

11

“มีอะไรอีกไหม” กระสอบป่านถามตัวเอง “มีซิ อยากจะเตือนไว้สักนิด ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้ประกอบสัมมาอาชีพ หากรู้ซึ่งสิทธิ และรับรู้ข้อปฏิบัติเมื่อถูกค้น ก็จะสามารถมีข้อต่อสู้  จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อด้วยความกลัว ความตื่นตกใจ หรือด้วยความไม่รู้  จากผู้ที่แอบอ้าง เข้ามาขอทำการตรวจค้นหรือจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ การจับแพะ หรือ การยัดข้อหา ฯลฯ แล้วแต่กรณี ประเด็นก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักฝ่ายปกครองเท่านั้นที่มีอำนาจค้นตามกฎหมาย ส่วนยาม เทศกิจ บอดี้การ์ด ไม่มีสิทธิ และ อำนาจ ในการตรวจค้นประชาชนอย่างเด็ดขาด”

“จบหรือยัง” เขาถามตัวเอง “จบแล้วละ และจะไม่คิดสถานการณ์สมมุติอีกแล้ว เพราะไม่ได้เรียนกฎหมายมา พูดไปก็ดูจะไม่เข้าท่า ทีแรกคิดว่าจะไปลงทะเบียนเรียนนิติศาสตร์ที่ ม. รามฯ สัก 1 วิชา  เพื่อเป็นไม้กันหมา แต่คิดไปคิดมา ไม่เอาดีกว่า  “ยุ่งตายโหง”

……

บุญร่วม เทียมจันทร์.(2544).ทำอย่างไรเมื่อไปโรงพัก. (7) กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์บุ๊คแบงก์.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *