อกแตกตายเพราะรักลูก

sangtong

จิปาถะ
อกแตกตายเพราะรักลูก
เรื่องที่จะนำเสนอวันนี้เป็นเรื่องสะเทือนใจ เป็นเรื่องของแม่เลี้ยงที่รักและห่วงใยลูก อยากอยู่กับลูก ไม่อยากให้ลูกไปไหน แต่ลูกมีความจำเป็นจึงหนีไปตามหาแม่ที่แท้จริง เพราะเมื่อแพแตก ได้พลัดพรากจากกัน ไม่รู้ว่าแม่ที่แท้จริงนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร การที่ลูกเลี้ยงหนีไปตามแม่ที่แท้จริง ทำให้แม่เลี้ยงเสียอกเสียใจจนอกแตกตายนี้ ไม่ใช่เรื่องจริงครับ แต่เป็นเรื่องของนางพันธุรัตในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง หรือเรื่องเจ้าเงาะกับนางรจนาที่เรารู้จักกันดี นั่นเอง
วรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง เป็นวรรณคดีพื้นบ้านที่แพร่หลายทั่วไป มีเค้าเรื่องมาจาก ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค ภาคที่ 19 สุวรรณสังข์ชาดก สำหรับเรื่องสังข์ทองที่ผมนำมาเล่าในวันนี้ เป็นบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 บทละครนอกนี้ มีหลายตอนต่อเนื่องกัน ตอนที่ยกมากล่าวนี้ เป็นตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต เรื่องย่อๆ สำหรับตอนนี้มีอยู่ว่า ท้าวพุชงค์ ซึ่งเป็นนาค ได้พบพระสังข์มาจากแพแตก ได้นำมาให้นางพันธุรัต ซึ่งเป็นนางยักษ์ม่าย ไม่มีบุตรเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม นางมีฤทธิ์เดชมาก มีของวิเศษหลายอย่าง เช่น เกือกแก้ว ไม้เท้าวิเศษ และหน้ากากเงาะ เมื่อสวมแล้วสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ นอกจากนั้นยังมีบ่อน้ำวิเศษ สามารถลงไปชุบตัวให้งามสุกใสดังทองได้ พระสังข์ซึ่งต่อมารู้ว่าแม่บุญธรรมเป็นยักษ์ และแอบพบของวิเศษดังกล่าว วันหนึ่งเมื่อนางยักษ์ไม่อยู่ พระสังข์ได้ลงไปชุบตัวในบ่อน้ำวิเศษ และขโมยของวิเศษเหาะหนีไป นางยักษ์กลับมาไม่พบก็พาไพรพลยักษ์ติดตามไป จนไปพบพระสังข์นั่งอยู่บนต้นไม้ที่เนินเขา ดังความตอนหนึ่งว่า
“ยืนพินิจพิศเพ่งอยู่เป็นครู่ ลูกรักของกูแล้วสิหนา
ตบมือหัวเราะทั้งน้ำตา ร้องเรียกลูกยาด้วยยินดี”(84)
แต่เรียกอย่างไรพระสังข์ก็ไม่ยอมลงมา ส่วนนางยักษ์ก็ขึ้นไปไม้ได้ เพราะพระสังข์ได้ตั้งจิตอธิฐานไว้ ดังความว่า
“เมื่อนั้น พระสังข์ตริตรึกนึกพรั่น
แต่กูเหาะระเห็จมาเจ็ดวัน มันยังตามทันด้วยฤทธิไกร ….”
“พลางตั้งจิตพิษฐานด้วยสัจจา คุณพระมารดาปกเกศี
จงค้ำชูช่วยข้าครานี้ อย่าให้มีอันตรายสิ่งใด
ถึงแม้พันธุรัตจะพบข้า ขออย่าให้ขึ้นมาบนเขาได้
ให้ลูกแก้วตัวรอดปลอดภัย พลางยกมือไหว้ภาวนา”(84)
สุดท้ายนางพันธุรัตไม่รู้จะทำอย่างไร หลังจากพยายาม “ปีนตะกายตะเกียกขึ้นไปหา” และตกลงมา ก็ได้แต่ร้องไห้เสียใจตีอกชกตัวไปตามเรื่อง น่าสงสารจริงๆ ดังความว่า
“นางร้องไห้ร่ำแล้วซ้ำเรียก ปีนตะกายตะเกียกขึ้นไปหา
ด้วยเดชะอำนาจสัตยา เผอิญให้เลื่อยล้าสิ้นกำลัง
พลัดตกหกล้มนอนตะแคง ขาแข้งสีข้างขัดขึ้นดัดหลัง
โศกีตีอกเพียงจะพัง ทรุดนั่งกระแทกก้นจนใจ
ลูกน้อยกลอยสวาทของมารดา แม่บำรุงเลี้ยงมาจนใหญ่
มิให้ระคายเคืองสิ่งใด เจ้าหนีแม่มาได้ช่างไม่คิด
แม่อุตส่าห์ตามมาด้วยความรัก เจ้าไม่พูดไม่ทักแต่สักนิด
อกแม่จะแตกตายวายชีวิต สุดคิดอยู่แล้วนะลูกยา”(85)
ต่อไปนี้เป็นคำรำพึงรำพันของแม่(เลี้ยง)ที่สิ้นหวังที่จะให้ลูกลงมาหา ความว่า
“โอ้ลูกน้อยหอยสังข์ของแม่เอ๋ย กรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้
จะร่ำร้องเรียกเจ้าสักเท่าไร ก็ช่างเฉยเสียได้ไม่ดูดี
สิ้นวาสนาแม่นี้แน่แล้ว เผอิญให้ลูกแก้วเอาตัวหนี
จะขอลาอาสัญเสียวันนี้ เจ้าช่วยเผาผีมารดา(87)
แต่อย่างไรก็ตาม ความรักของแม่นั้นยิ่งใหญ่ ยังห่วงใยลูกอยู่เสมอ และพร้อมให้ทุกอย่างที่แม่มี ดังความว่า
“อันรูปเงาะไม้เท้าเกือกแก้ว แม่ประสิทธิ์ให้แล้วดังปรารถนา….”(86)
“อันพระเวทวิเศษของแม่ไซร์ ก็จะเขียนลงให้ที่แผ่นผา
จงเรียนร่ำจำไว้เถิดขวัญตา รู้แล้วอย่าว่าให้ใครฟัง
เขียนพรางทางเรียกลูกน้อย มาหาแม่สักหน่อยพ่อหอยสังข์
แต่พอให้ได้ชมเสียสักครั้ง ขอสั่งสักคำจะอำลา”
แต่สังข์ทองก็ใจแข็ง ไม่ยอมลงมาหาแม่ ทำให้นางพันธุรัตทั้งโกรธทั้งแค้นใจ ดังความว่า
“แม่อ้อนวอนว่านักหนาแล้ว น้อยหรือลูกแก้วไม่มาหา
ทุ่มทอดตัวลงทรงโศกา สองตาแดงเดือดดังเลือดนก
ทั้งรักทั้งแค้นแน่นจิต ยิ่งคิดเครื่องขุ่นมุ่นหมก
กลิ้งกลับสับส่ายเพ้อพก นางร่ำร้องจนอกแตกตาย”(87)
ขอเสนอข้อคิดเห็น ดังนี้
1.พ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่ เป็นความงดงามของความเป็นครอบครัว ยามลูกเดือดร้อนมีภัยถึงตัวลูกก็จะขอให้พ่อแม่ช่วย “คุณพระมารดาปกเกศี” ส่วนคนที่ทำลายครอบครัวคนอื่น กรีดกันขัดขวางความรักของพ่อแม่ -ลูก ที่มีความกตัญญูรู้คุณ ตัวอย่าง เช่น นางแต้มใช้อำนาจขัดขวางกรีดกัน ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ยอมให้ดูแลครอบครัวนั้น ผมเห็นว่าน่าเกลียดน่ากลัว โสโครก น่าชิงชังเป็นที่สุด จึงต้องนำมาประจานให้ได้รู้ได้เห็นกันอย่างกว้างขวางต่อไปอีกนานเท่านาน ไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อจะไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบต่อไป
2. ปีใหม่แล้วครับ ใครที่ยังไม่ได้ไปหาพ่อแม่ขอให้รีบไปซะ (ความจริงไปหาพ่อแม่ได้ตลอดเวลา) ไปขอ“คุณพระมารดาปกเกศี” อย่าให้เป็นเหมือนที่นางพันธุรัต ที่ต้องรำพึงรำพันด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่า “แม่อ้อนวอนว่านักหนาแล้ว น้อยหรือลูกแก้วไม่มาหา” นะครับผม
………
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย,พระราชนิพนธ์.(2513).บทละครนอก รวม 6 เรื่อง.พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพฯ:
ศิลปาบรรณาคาร.