จิปาถะ เรื่องสั้น เหตุเกิดที่สารขัณฑ์  (หิกไม่กระดู๋)

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

จิปาถะ เรื่องสั้น เหตุเกิดที่สารขัณฑ์  (หิกไม่กระดู๋)

16

เมื่อวานนี้ ผมบอกว่า นางแต้ม ตัวละครของผม  นางคิดว่าการทำร้ายคนอื่น เช่น ปลดเขาออกจากงานโดยที่เขาไม่มีความผิด  เท่ากับทุบหม้อข้าวเขา ทำให้เขาตกงาน ไม่มีรายได้ ครอบครัวต้องลำบาก  เพราะนางมีเจตนาจะให้พวกเขาอดตาย ซึ่งไม่ต่างไปจากการฆ่าสัตว์ แต่ทรมานให้ตายช้าๆ เหมือนการนำสัตว์มาฆ่าเพื่อบูชายัญ ถือเป็นบาปอย่างยิ่ง แต่นางแต้มกลับเข้าใจว่าเป็นการทำกรรมดี จึงมีความสุข ซึ่งตามคำสอนทางศาสนาพุทธ ความเข้าใจดังกล่าว เป็น มิจฉาทิฏฐิ  หรือ เห็นผิด เพราะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แบบเดียวกับการจับสัตว์มาฆ่าบูชายัญในสมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นความเชื่อของศาสนาพรามณ์ส่วนศาสนาพุทธ “พระพุทธองค์ทรงห้ามการฆ่าสัตว์บูชายัญอย่างเด็ดขาด ในคัมภีร์ภาษาสันสกฤตชื่อพุทธจารีต แต่งโดยท่านอัศวโฆษ มีเรื่องอยู่ว่ามีผู้ขอให้พระพุทธเจ้าทรงทำพิธีบูชายัญตาม ลัทธิพราหมณ์ พระพุทธเจ้าตรัสตอบเป็นพระคาถาว่า

“ยทาตถ จาปิษฎผลามฺ กุโลจิตามฺ กุรุษวธรรมาย มขกริยามฺ อิติ นาม มเขภโย น หิ กามเย ปรสย ทุหฺข กริยายท อิษยเต”

แปลว่า “ตามที่ท่านกล่าวว่า เราพึ่งทำพิธีบูชายัญเพื่อธรรม ตามประเพณีแห่งชาติสกุลของเรา เพื่อยังผลให้เกิดนั้น เราไม่เห็นชอบด้วยกับการบูชายัญ เพราะเราไม่ปรารถนาสุขซึ่งแสวงหาได้จาก

ทุกข์ของผู้อื่น”

พระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้านั้นมีผลโดยตรงถึงศาสนาพราหมณ์ เพราะในศาสนาฮินดูซึ่งเกิดขึ้นสืบต่อมาจากศาสนาพราหมณ์นั้น พิธีบูชาเทพเจ้าได้เปลี่ยนจากการฆ่าสัตว์บูชายัญ ไปเป็นการบูชาด้วยอัคคีบุปผา คือดอกไม้และไฟ ซึ่งศาสนาพุทธได้เริ่มขึ้น การบูชาด้วยอัคคีนั้น สืบเนื่องมาจากกองกูณฑ์ (กองไฟที่ใช้ในพิธีบูชาไฟ. )ของพราหมณ์ แต่แทนที่จะฆ่าสัตว์แล้วเอาเผาไฟบูชายัญ ได้เปลี่ยนเอาดอกไม้ เข้ามาแทนที่ ใครที่จุดธูปเทียนแล้วเอาดอกไม้บูชาพระทุกวันนี้พึงรู้ไว้ด้วยว่าธูปเทียนนั้นเป็นอัคคีและสืบสาวกลับไปได้ถึงกองกูณฑ์  ของพราหมณ์เมื่อสามหรือสี่พันปีมาแล้ว”*

ส่วนการเผาพริกเผาเกลือเพื่อสาปแช่งให้บรรลัยนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก   ที่ยกมาให้อ่านอย่างยาวเหยียดนี้ เพราะเห็นว่าเป็นความรู้ แต่สิ่งที่ต้องการจะบอกจริงๆก็คือ พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราไม่ปรารถนาสุขซึ่งแสวงหาได้จากทุกข์ของผู้อื่น”

“แต้มเอ๋ย อ่านแล้วพอจะกระดิกหูบ้างไหม หรือว่า หิกไม่กระดู๋?

…..

*คึกฤทธิ์ ปราโมช.2537.ธรรมแห่งอริยะ.สำนักพิมพ์สยามรัฐ : 101

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *