วันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566
เนื่องจาก มีผู้ที่ผมไม่เคยรู้จัก อ้างว่า ตัวละครใน จิปาถะ เหตุเกิดที่สารขัณฑ์ บางตอนนั้น คือตัวเขา พร้อมพยานบุคลยืนยันหลายปาก และฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายผม กับ น.ส. มณัญญา สง่ากลาง คนละ 250,000 บาท (หมายศาลถึง น.ส. มณัญญา แล้ว แต่ของผมยังมาไม่ถึง ได้รับแล้วจะแจ้งให้ทราบครับ ) ดังนั้น ช่วงนี้ผมกำลังเตรียมตัวสู้คดี จึงขอนำเรื่องเก่ามาฉายซ้ำไปพลางๆก่อน และขอเรียนว่า ไม่ควรแสดงความคิดเห็นกับเรื่องสั้นของผม เพราะอาจตกเป็นจำเลยไปพร้อมกับผมได้.
……………………………………………………………………………………………..
จิปาถะ เรื่องสั้น อิงเหตุการณ์ปัจจุบัน โพสต์เมื่อ 20 ธันวาคม 2561
1
เมื่อพูดถึงคุกตะราง จะไม่ค่อยมีใครอยากรู้อยากฟังสักเท่าไร เพราะแค่ได้ยินก็รู้สึกสยองขวัญแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีประสบการ์ตรงก็ตาม ส่วนคนที่เคยมีประสบการณ์ตรงก็คงจะเข็ดขยาดในความโหดร้ายทารุณสารพัดมีในช่วงที่ถูกคุมขังอยู่ในนั้น แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่ามีบางคนไม่กลัว เช่น นางแต้ม เป็นต้น นางช่างกล้าหาญชาญชัยเสียจริงๆ
ต่อไปนี้เป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคุกตะราง เพราะพวกพ้องนางแต้มหลายคนที่อาจเข้าข่าย
มีนา จัน อธิบายว่า คุกกับตะรางนั้น มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ ที่คุมขังนักโทษ, เรือนจำ. ในอดีต เรือนจำสังกัดอยู่กับส่วนราชการต่าง ๆ แบ่งเป็นเรือนจำในกรุงเทพฯ และเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก เรือนจำในกรุงเทพฯ มี 2 ประเภท คือ “คุก” เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษ ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป อยู่ในสังกัดกระทรวงนครบาล ส่วน “ตะราง” ใช้เป็นที่คุมขัง ผู้ต้องขังที่มีโทษต่ำกว่า 6 เดือน หรือนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ที่บังคับกิจการนั้น ๆ ส่วนเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก มีที่คุมขัง ผู้ต้องโทษ เรียกว่า “ตะราง” การคุมขังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการ
ในปัจจุบัน คุกตะราง หรือที่คุมขัง เปลี่ยนมาใช้คำว่า “เรือนจำ” ขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม แบ่งออกเป็น
1. เรื่อนจำกลาง 2. เรือนจำพิเศษ 3. เรือนจำจังหวัด 4. เรือนจำอำเภอ 5.ทัณฑสถาน 6. สถานกักขัง 7. สถานกักกัน
1. เรือนจำกลาง หมายถึง เรือนจำปกติสำหรับคุมขังผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาแล้ว และนักโทษเด็ดขาด ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มี 34 แห่ง ที่รู้จักกันดีคือ เรือนจำกลางบางขวางและเรือนจำกลางคลองเปรม
2. เรือนจำพิเศษ เป็นเรือนจำสำหรับผู้ต้องขัง แบบเดียวกับเรือนจำส่วนภูมิภาค มีอำนาจคุมขัง ผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี จนถึงจำคุกไม่เกิน 15 ปี มี 30 แห่ง
3. เรือนจำจังหวัด เป็นเรือนจำส่วนภูมิภาคที่มีอำนาจคุมขัง ผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี มี 49 แห่ง
4. เรือนจำอำเภอ เป็นเรือนจำส่วนภูมิภาคที่มีอำนาจคุมขัง ผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี จนถึงจำคุกไม่เกิน 15 ปี มี 26 แห่ง
5.ทัณฑสถาน เป็นสถานที่ควบคุม กักขังผู้ต้องขังที่ได้รับการคัดแยกประเภทแล้ว เพื่อประโยชน์ในการควบคุม บำบัดรักษา การอบรมแก้ไข และการฝึกวิชาชีพ เช่น หญิง วัยหนุ่ม บำบัดพิเศษ มี 25 แห่ง
6..สถานกักขัง เป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องกักขัง ซึ่งถูกกำหนดโทษกักขัง มี 5 แห่ง
7.สถานกักกัน มี 1 แห่ง
ใครอยากจะไปอยู่ที่ไหนก็เลือกเอานะครับ แต่อย่าดีกว่า
…..