
เสาร์ที่ 3 กรกฏาคม 2564 (กรอบบ่าย)
จิปาถะ เรื่องสั้น เหตุเกิดที่ ม.สารขัณฑ์ (หัวนก) (เรื่องนี้โพสต์เมื่อ 1 ปีมาแล้ว)
3
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมวยหรือเรื่องการศึกสงคราม วิธีการต่อสู้ จะมีทั้งแบบรุก และ แบบตั้งรับ การรบในสมัยอยุธยาจะใช้ทั้ง 2 แบบ คือรุกและตั้งรับ แต่ จะใช้วิธีตั้งรับเป็นส่วนใหญ่ เพราะกรุงศรีอยุธยาเป็นเกาะ มีแม่น้ำล้อมรอบ ดังนั้น การรบจึงตั้งรับอยู่ในเมือง รอเวลาให้ธรรมชาติช่วย นั่นหมายความว่า รอน้ำเหนือหลาก ซึ่งศัตรูก็มักจะถอยทัพกลับไปก่อนที่น้ำจะมา แต่การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2310 นั้น ผิดแผน ศัตรูไม่ยอมกลับ กรุงศรีอยุธยาก็เลยแตก
การต่อสู้ที่มหาวิทยาลัยสารขัณฑ์ ก็เช่นกัน เราใช้วิธีเดียวกับสมัยอยุธยา คือทั้งรุกและตั้งรับ แต่ใช้การตั้งรับเป็นส่วนใหญ่ และรอคำพิพากษาของศาลฯ
แต่จุดอ่อนของเราคือ เราขาดหางเสือ เรือเราจึงแล่นไปอย่างไร้ทิศทาง ยกตัวอย่างเช่น การพูดคุยกัน แบบ 5 ต่อ 1 หมายถึงฝ่ายหนึ่ง 5 อีกฝ่ายหนึ่ง 1 เริ่มต้นก็เจ้งแล้ว เพราะ 5 คน หมายถึง “คิด 5 อย่าง” เดี๋ยวก็ทะเลาะกันเองให้เขาดู วิธีการก็คือ ส่งตัวแทนเข้าไปเพียง 1 เท่านั้น ทุกอย่างไม่มีการตกลง ต้องขอกลับมาปรึกษาพวกก่อน แต่ถ้า 5 ต่อ 1 เป็นมวยปล้ำแบบแท็คทีมละก็โอเค จัดการได้เลย
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ต้องไม่ลืมเป้าหมายสำคัญ คือ “หัวนกเท่านั้น” หรือ “ผมเห็นแต่ทอง” เป็น 2 ตัวอย่างที่เคยยกมาบ่อยๆ ตัวอย่างแรก ในมหากาพย์ภารตะ เมื่อพราหมณ์โทรณะ ได้สอนศิษย์ยิงธนูจนจบหลักสูตรแล้ว จึงมีการทดสอบโดยอาจารย์นำนกไม้ไปแขวนไว้ที่ยอดไม้ และให้ศิษย์ยิงหัวนก อาจารย์ถามศิษย์คนหนึ่งว่า “เธอเห็นอะไรบ้าง” ศิษย์ตอบว่า “ผมเห็นต้นไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ และนก” อาจารย์ผงกศีรษะ “ดี” และถามอรชุนว่า “เธอเห็นอะไรบ้าง” อรชุนตอบว่า “ข้าไม่เห็นอะไรเลย นอกจากหัวนก” ส่วนตัวอย่างที่ 2 มีคนร้ายนายหนึ่ง เข้าไปปล้นร้ายทอง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เฝ้าร้านจับได้ ตำรวจถามคนร้ายว่า “ฉันใส่ชุดตำรวจนั่งอยู่ตรงนี้ แกไม่เห็นฉันรึ ถึงได้กล้าปล้น” คนร้ายตอบว่า “ผมไม่เห็นอะไรเลย นอกจากทอง” ดังนั้น เป้าหมายต้องชัดเจนแน่นอน
แต่ “บ่อเซียงกัง” แปลว่า “ไม่เป็นไร” ไม่ว่าจะสู้แบบไหน เราก็ชนะวันยังค่ำ สามัคคีกันไว้ เป็นพอ
ตอนนี้ได้ข่าวว่า กองปราบฯเรียกตัวนางแต้มและนายกสภาฯไปให้ปากคำ อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า “ขีปนาวุธเริ่มทำงาน”
“อุ้ยตาย! เขาใช้ Missile กันแล้ว ผมยังใช้ดาบแบบอยุธยาอยู่เลย” เชยแหลก.
…