จิปาถะ เรื่องสั้น อีแสบ  (ไปดูคลื่นกันเถอะ)

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564 (กรอบบ่าย)

จิปาถะ เรื่องสั้น อีแสบ  (ไปดูคลื่นกันเถอะ)

21

คำว่า “ปัจจัตตัง” เป็นบาลี แปลว่า เฉพาะตัว  บาลีอีกบทหนึ่งว่า “กัมมุนา วัตตติ โลโก” แปลว่า “สัตว์โลกทั้งหลายต้องเป็นไปตามกรรม” ฉะนั้นกรรม หรือการกระทำของสัตว์โลก ก็ต้องเป็นเรื่องเฉพาะตัว หรือ “ปัจจัตตัง”  คือกรรมใครกรรมมัน ใครทำใครได้ จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กระบวนการของแต่ละกรรม  เป็น อกาลิโก คือ ไม่ประกอบด้วยกาล จะได้รับกรรมเมื่อไร ก็เมื่อนั้น ที่ว่ามา ผิดถูกไม่รู้นะ แต่เชื่ออย่างนั้น

เพื่อให้เข้าใจชัดเจนของกระบวนการทำงานของกรรม ขอสมมุติว่า “กรรม” เป็นหน่วยงาน เช่น เป็นเหมือนหน่วยงานสรรพกร ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษี แต่เนื่องจากมีผู้เสียภาษีเป็นจำนวนมาก ก็ต้องค่อยๆทำไปที่ละรายสองราย หรือ สำนักงานปราปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ป.ป.ช  ก็เช่นเดียวกัน เพราะมีผู้ทุจริตประพฤติมิชอบเป็นจำนวนมาก  ก็ต้องค่อยๆตรวจสอบ เมื่อมีมูล ก็นำเรื่องส่งฟ้องศาลเป็นรายๆไป

ถ้าเชื่อตามที่สมมุตินี้ เราก็จะได้คำตอบว่า ทำไมนางแต้ม ตัวละครของคม หักศอก หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยสารขัณฑ์  ซึ่งทำกรรมกับคนโน้นคนนี้ต่างกรรมต่างวาระไว้มากมายก่ายกอง ทำไมจึงไม่ได้รับกรรมซักที  รอจนเบื่อแล้ว  คำตอบก็คือ หน่วยงานที่ทำเรื่องกรรม อาจมีเจ้าหน้าที่น้อย แต่ภาระงานเยอะมาก ก็ต้องค่อยๆสะสางไปที่ละรายสองราย บางรายทำกรรมไว้มาก กว่าจะสะสางเสร็จก็ต้องใช้เวลานาน ตรงนี้ก็สรุปได้ว่า กรณีของนางแต้ม กรรมอาจจะเพิ่งถูกส่งเข้ามา ก็ต้องรอเข้าคิว จะถึงคิวเมื่อไรก็ยังไม่รู้ แต่ไม่ต้องหวง ถึงแน่ เพราะกรรมนั้นไมประกอบด้วยกาล เป็น อกาลิโก คือ เมื่อไรก็เมื่อนั้น  และเมื่อเวลาถึงคิวนางแต้ม กรรมที่ทำไว้ก็จะทะยอยเข้ามาเป็นละลอก เหมือนคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ลูกแล้วลูกเล่าอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น

ถ้าคิดได้แบบนี้ ก็จะมีความสุข ไม่เอากรรมของคนอื่นมาเป็นอารมณ์ ไม่วิตกกังวลกับกรรมของคนอื่น เมื่อถึงคิวนางแต้ม เราค่อยนัดกันไปที่ชายฝั่งทะเล  นั่งดื่มเบียร์แก้มอาหารทะเล ดูความงามของคลื่นที่ลมพัดเข้าหาฝั่งลูกแล้วลูกเล่า อย่างมีความสุขและสะใจ ครับผม

“หญิงผู้กล้า ถึงวันนั้นเราไปด้วยกันนะ!”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *