วันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2566
จิปาถะ เรื่องสั้น “คำอธิบาย”
เรื่องคดีความ ผมบอกเพื่อนๆว่า “จบแล้วครับ ผมยอมแพ้” เพื่อนหลายคนบอกว่า “ดีแล้ว” แต่อีกหลายคนสงสัย ไม่เห็นด้วย อ้างว่า “คดีเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง ยอมแพ้เขาเสียแล้ว และต้องการคำอธิบาย
ความจริง การยอมแพ้ก็คือ ยอมแพ้ ไม่มีความหมายเป็นอย่างอื่น จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไร เพราะการอธิบายเป็นเพียงการแก้ตัวเพื่อให้ดูดีเท่านั้นเอง แต่นั่นแหละ สำหรับเพื่อน ก็ต้องอธิบาย
1.บางครั้ง การยอมแพ้ ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ เพราะเท่ากับ เรารู้ว่า “อัตตา” ตัวตนของเรา หรือตัวกูของกูนั้น เป็นเพียงสิ่งสมมุติ ไม่ได้มีอยู่จริง เมื่อไม่มีอยู่จริง การยอมแพ้จึงง่ายมาก ผมได้ปฏิบัติแล้ว ดีมากเลย รู้สึกโปร่งโล่งเป็นสุข นอนหลับสบายไร้กังวล ลองดูซิครับ รับรองไม่ผิดหวัง
เรื่องอัตตา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) อธิบายว่า “อัตตา” เป็นคำบาลี แปลว่า ตน ตัวหรือตัวตน (ในรูปสันสกฤตเป็น “อาตมัน”) พุทธธรรมสอนว่าตัวตนหรืออัตตานี้ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นเพื่อสะดวกในการสื่อสาร เพื่อความหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ในความเป็นอยู่ประจำวัน กำหนดตามชื่อที่บัญญัติขึ้นหรือตั้งขึ้นสำหรับเรียกหน่วยรวมหรือภาพรวมหนึ่งๆ
“อัตตา”นี้จะเกิดเป็นปัญหาขึ้น ก็ต่อเมื่อคนหลงผิดเกิดความยึดถือขึ้นมาว่ามีตัวตนจริงๆ หรือเป็นตัวตนจริงๆ เรียกว่า รู้ไม่เท่าทันความเป็นจริง หรือ “หลงสมมุติ”
อัตตาไม่ใช่เป็นกิเลส มิใช่สิ่งที่จะต้องละ เพราะอัตตาไม่มีอยู่จริง จึงไม่มีอัตตาที่ใครจะละได้
อัตตา มีอยู่แต่เพียงในความยึดถือ สิ่งที่จะต้องทำก็มีเพียงการรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า “ไม่มีอัตตา” หรือ “ไม่เป็นอัตตา” อย่างที่เรียกว่า “รู้ทันสมมติ” เท่านั้น
พูดอีกนัยหนึ่งว่า ละความยึดถือในอัตตา ละความยึดถือว่าเป็นอัตตา หรือถอนความหลงผิดในภาพของอัตตาหรือในบัญญัติแห่งอัตตาเสีย เท่านั้น”
ครับ และนี่คือคำแก้ตัวหรือคำอธิบายข้อแรก ครับผม
….
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ).ไตรลักษณ์” เรื่อง “อัตตา กับ มานะ”