จิปาถะ : สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันจันทร์ที่ 24  เมษายน  2566

จิปาถะ : สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (โพสต์เมื่อ 2558)

ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ.2182 นั้น ดูเหมือนว่าวันวลิตจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่บ้างพอสมควร  เขามักจะนำเรื่องที่แสดงถึงความโหดร้ายต่างๆนาๆในการปกครองของพระองค์มากล่าวเสมอ เช่น “นี่เป็นวิธีที่จะปกครองพวกเจ้าชาวสยาม เพราะว่าเจ้าเป็นพวกที่มีธรรมชาติที่ดื้อดึง  น่าขยะแขยง ในอาณาจักรที่แสนเลวนี้  แต่ข้าจะปฏิบัติเช่นนี้ต่อเจ้าจนกว่าจะทำให้เจ้าเป็นชนชาติที่น่านับถือได้  เจ้าเป็นเสมือนหญ้าที่ขึ้นบนท้องทุ่งที่อุดมสมบูรณ์ ถ้าตัดให้สั้นได้เท่าไร  เจ้าก็จะขึ้นได้สวยงามมากเท่านั้น  ข้าจะหว่านทองไว้ในท้องถนนสายต่างๆเป็นเวลาหลายเดือน ใครก็ตามที่มองทองเหล่านี้ด้วยความละโมภจะต้องถูกฆ่าตาย”(วันวลิต.85)

แต่อย่างไรก็ตาม วันวลิต ก็มิได้ได้เขียนถึงแต่ความโหดร้ายของพระองค์เท่านั้น แต่ได้สอดแทรกให้เห็นถึงความเป็นผู้มีเมตตาของพระองค์ที่มีต่อพระสกนิกรด้วย และที่สำคัญ ได้แสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณ อันเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ ดังความโดยย่อว่า

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จล่องเรือไปตามแม่น้ำนั้น เกิดพายุฝน ทำให้ไม่สามารถเสด็จกลับวังได้ แต่ได้เสด็จอย่างเร่งรีบไปยังบ้านเล็กๆและเก่าของหญิงชรายากจนผู้หนึ่ง โดยไม่มีใครสังเกตเห็น

หญิงชราผู้นั้นตกใจมาก กล่าวว่า “ลูกแม่ เจ้าไม่รู้หรือว่าพระเจ้าแผ่นดินอาจจะเสด็จมาใกล้ๆ แถวนี้”

พระองค์ตอบอย่างไม่เกรงกลัวว่า “จะเป็นไรไปจ๊ะแม่ ถ้าท่านจะเสด็จมาได้ยิน และมีพระประสงค์จะฆ่าลูกก็จะเป็นไรไป  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ แล้ว ก็เป็นคราวเคราะห์ของลูกเอง เคราะห์ย่อมเกิดแก่คนทั่วๆไปโดยไม่ทราบล่วงหน้า”

หญิงชราได้คุกเข่าลงต่อหน้าและขอร้องว่า อย่าได้พูดถึงพระองค์เช่นนั้น

นางกล่าวว่า “เทพยดาได้ประทานพระองค์ให้แก่พวกเรา ดังนั้นการกระทำของพระองค์ย่อมจะไม่เป็นสิ่งชั่วร้าย พระองค์ทรงเป็นผู้ลงโทษแทนเทพยดา และเป็นผู้รับคำพิพากษาความผิดชั่วร้ายของเรามาลงโทษ เราจะต้องเชื่อฟังบุคคลที่เทพยดาสั่งมาปกครองเรา”

หญิงชราได้ขอร้องพระองค์ให้ทรงเงียบ แต่ไม่เป็นผล พระองค์ยิ่งส่งเสียงดังมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหญิงชราจึงขอร้องให้พระองค์ออกจากบ้านของนางไป เพราะว่านางไม่ต้องการมีส่วนร่วมในความประพฤติผิดๆเช่นนี้

พระองค์ทรงยินยอม แต่ขอดื่มกะแช่ก่อน  หญิงชรากล่าวว่า “ลูกแม่ เจ้ารู้ดีว่าเวลานี้เป็นระยะเข้าพรรษา และจะไม่มีใครซื้อหรือดื่มกะแช่ได้ จนกว่าจะออกพรรษา แต่ถ้าหากลูกต้องการเสื้อผ้าที่แห้งอย่างที่แม่ใส่อยู่นี้ แม่ก็จะให้เจ้า แม่จะซักและผึ่งเสื้อของเจ้าให้แห้ง ขอให้เจ้าพักผ่อน และนอนหลับสักครู่หนึ่งเถิด”

พระองค์ทรงยินยอมรับเสื้อผ้ามาเปลี่ยนให้หญิงชราซัก แต่พระองค์ไม่ยอมหยุดยั้งที่จะดื่มกะแช่  ทรงกล่าวว่า พระองค์ไม่ต้องการผูกมัดตัวเองตามกฎหมายที่เข้มงวดของพระเจ้าแผ่นดิน

ในที่สุดหญิงชราก็รินกะแช่ใส่จอกเล็กๆถวายพระองค์  นางสาบานว่าได้ซื้อกะแช่นี้มาก่อนเริ่มพรรษา และยังมิได้ดื่มแม้แต่น้อย นางขอให้พระองค์สัญญาว่าจะไม่เล่าเรื่องนี้แก่ผู้ใด

เมื่อเสวยแล้ว หญิงชราจึงนำเสื่อผืนเล็กๆของนางให้พระองค์บรรทม

เมื่อตื่นบรรทม พระองค์ทรงเปลี่ยนเสื้อผ้าซึ่งแห้งแล้ว และตรัสอำลา

หญิงชรากล่าวว่า “ลูกแม่ เจ้าจงพักอยู่ที่นี่จนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้นเถิด หรือมิฉะนั้นเจ้าจะต้องพายเรือไปอย่างเงียบๆ เพื่อว่าเจ้าจะได้ไม่ส่งเสียงไปให้พระเจ้าแผ่นดินได้ยิน เป็นเหตุให้เกิดโชคร้ายแก่เจ้า.

พระเจ้าแผ่นดินทรงรับสั่งว่า “ลูกจะทำเช่นนั้น”  และเสด็จออกจากบ้านหลังนั้นไป (วันวลิต.87-88)

รุ่งขึ้นพระองค์ได้ส่งเรือหลวงมารับหญิงชรามาเข้าเฝ้า ซึ่งนางตกใจมาก และพยายามจะหนีไปพึ่งพระ เมื่อไปถึง พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรเห็น ได้เสด็จเข้ามาจูงนางและตรัสว่า พระองค์คือบุคคลที่ไปอาศัยอยู่ ณ บ้านของนางในคืนนั้น และตรัสต่อไปว่า “และเพราะว่าในยามยาก นางได้รับฉันเป็นลูกของนาง  ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ลูกก็จะเรียกนางว่าแม่ และจะรักยิ่งต่อไป.(วันวลิต.89)

ที่ว่ามาอย่างยาวเหยียดนี่ก็เพียงเพื่อให้ท่านที่ยังไม่เคยอ่าน ได้อ่านพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182. เพื่อเพิ่มเติมเสริมปัญญา ลองอ่านดูครับ สนุกมากด้วย

อ้างอิง : วันวลิต(2546)พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิดต พ.ศ. 2182.กรุงเทพฯ : มติชน

.….

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *