จิปาถะ : สถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปฯ

วันเสาร์ที่ 6  พฤษภาคม  2566

จิปาถะ : สถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปฯ (7 พฤษภาคม 2558) 

6

ขอพูดเรื่องการประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อพิจารณา ดังนี้

ตามข้อมูล คณะกรรมการจัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พิจารณาเปลี่ยนสถานที่ไปมาหลายครั้ง  แต่ท้ายที่สุดได้ตกลงเลือกประดิษฐานพระบรมรูปฯ ที่กลางสี่แยกสายบุรีรัมย์-สตึก ตัดกับถนนสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ซึ่งเป็นถนนสายเลี่ยงเมือง  ดังนั้น บริเวณสี่แยกจึงต้องทำเป็นวงเวียน ปัจจุบันเรียกว่าวงเวียนอนุสาวรีย์ จากการที่นำพระบรมรูปฯที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ แต่ได้นำไปประดิษฐานไว้บริเวณที่เป็นเส้นทางคมนาคม มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

การสร้างอนุสาวรีย์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเฉลิมพระเกียรตินั้น ผู้ออกแบบมักจะหลีกเลี่ยงที่จะนำไปประดิษฐานไว้ตามสี่แยก อันเป็นรูปแบบที่นิยมทำกันในอดีต ทั้งนี้เพราะในอดีตการจราจรยังไม่คับคั่งเหมือนในปัจจุบัน เช่น เมื่อคราวสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นวงเวียนที่ใหญ่มาก แต่ในปัจจุบัน มีอาคารร้านค้าหนาแน่น มีรถราสัญจรไปมามากขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวซึ่งเคยดูกว้างขวางเหมาะสมกลับดูคับแคบไป ดังนั้น การเลือกประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์  ร. 1 ที่บริเวณสี่แยกดังกล่าว จึงไม่เหมาะสมกับยุคสมัย  เพราะการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็นการเฉลิมพระเกียรติ ส่วนสี่แยกเป็นเรื่องของการสัญจรไปมา ดังนั้น เมื่อนำสองสิ่งมารวมกันทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินการมากมายหลายประการ เช่น การจะเข้าไปถวายสักการะพระบรมรูปฯ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือหน่วยงานราชการจะไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปก็อาจมีปัญหาเรื่องที่จอดรถ มีปัญหาในการต้องเดินข้ามถนนเข้าไปในวงเวียน ส่วนหน่วยงาน เมื่อมีพิธีก็ต้องปิดถนน  ทำให้การจราจรติดขัด เช่น วันที่ทำพิธีประดิษฐานพระบรมรูปฯ จราจรก็ติดขัดให้เห็นแล้ว ปัญหาต่อมาก็คือ เสาไฟฟ้าที่มีเป็นจำนวนมาก ยิ่งนำเสาหงส์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันมาประดับตกแต่ง ทำให้ดูเกะกะรกรุงรัง การปรับภูมิทัศน์ก็ยุ่งยากเนื่องจากพื้นที่โดยรอบมีหลายเจ้าของ ขาดเอกภาพไม่สะดวกต่อการดำเนินงาน ส่วนปัญหาในอนาคตก็คือ อาคารสูงที่จะสร้างขึ้นมาบดบังพระบรมรูปฯ และเมื่อบริเวณดังกล่าวมีชุมชนหนาแน่นขึ้นจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของผู้คนที่สัญจรไปมา จะทำสะพานลอยเดินข้ามก็ทำไม่ได้

การใช้วงเวียนเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นอกจากมีปัญหาเรื่องการเข้าไปถวายสักการะ  เรื่องภูมิทัศน์และเรื่องความปลอดภัย ฯลฯ แล้ว ยังมีปัญหามุมมองที่ค่อนข้างจำกัด กล่าวคือ ส่วนฐานที่ประดิษฐานพระบรมรูปฯ ทำเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนฐานของพระบรมรูปฯ และส่วนฐานล่าง  ปรากฏว่าได้ออกแบบส่วนฐานพระบรมรูปฯค่อนข้างสูง ทำให้ขาดความสัมพันธ์กลมกลืนกับพระบรมรูปฯ ดังนั้น พระบรมรูปฯซึ่งมีขนาดเท่าครึ่ง และอยู่สูงมาก จึงดูเล็กลงไปถนัดตา อีกประการหนึ่ง ช้างกับคนนั้นมีสัดส่วนแตกต่างกันมากอยู่แล้ว เมื่อรูปคนต้องอยู่บนที่สูง ก็เลยทำให้ดูมีขนาดเล็กลงไปอีก การแก้ปัญหาเรื่องนี้ มีตัวอย่างคือพระราชานุสาวรีย์พระศรีสุริโยทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งออกแบบส่วนฐานล่างให้เป็นลานกว้าง เมื่อขึ้นไปยืนบนลานจะสามารถลดระยะการมองได้  แต่พระบรมราชานุสาวรีย์ฯที่บุรีรัมย์ ส่วนฐานล่างทำเป็นลานแคบๆจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ของฐานช่วยลดระยะการมองพระบรมรูปฯได้  ยิ่งบริเวณโดยรอบเป็นวงเวียน มีเนื้อที่จำกัด เมื่อมองในระยะไกลจะเห็นแต่ช้าง  แต่เมื่อเข้าไปมองใกล้ๆ เช่น ไปยืนที่ขอบวงเวียนด้านหน้ามองไปที่พระบรมรูปฯ แทนที่จะเห็นพระพักตร์ของพระบรมรูปฯ กลับเห็นหน้าของควาญช้าง และเมื่อเดินเข้าไปใกล้ฐาน มองขึ้นไปจะเห็นแต่ เศียรช้าง

ในปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ที่ยอมรับกันว่าออกแบบได้ค่อนข้างสมบูรณ์สามารถเป็นตัวอย่างได้ คือ พระราชานุสาวรีย์พระศรีสุริโยทัย ที่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งรอบๆราชานุสาวรีย์ฯจะทำเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ มีบริเวณที่จะสัมผัสความงามของราชานุสาวรีย์ฯได้ทุกด้าน ที่ส่วนฐานออกแบบให้เป็นลานกว้างเพื่อสามารถขึ้นไปสักการะราชานุสาวรีย์ฯได้อย่างใกล้ชิด นอกจากสนามหญ้าที่ใช้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังมีอาคารที่เป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการศึกษาหาความรู้ รอบๆบริเวณทำเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในทางการเกษตรอีกด้วย บุรีรัมย์เป็นเมืองที่กล่าวกันว่ากันดารน้ำ ในอดีตถึงกับตำน้ำกิน ตอนออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ไม่มีใครคิดถึงปัญหาเหล่านี้กันบ้างเลยหรือครับ

……..

วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ.(2541).การประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. จังหวัดบุรีรัมย์.อยุธยา: สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

ศิลปากร,มหาวิทยาลัย.(2525).สมุดภาพประติมากรรมในสมัยรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์กราฟิคอาร์ต.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *