วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2566
เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน พ่อลูกเจ้าปัญหา โดยนายบวดหาย (เผยแพร่ในสารประชาสัมพันธ์สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 32 ประจำวันที่ 10-16 พฤศจิกาบน 2541)
“พ่อครับ ! นักศึกษาที่ทำข้อสอบปลายภาคได้คะแนนเต็มร้อย และครูจับได้ว่าเก็บคีย์ตรวจข้อสอบไป จะถูกไล่ออกไหมครับ ?” ลูกชายผมถามขณะที่เรารับประทานอาหารเย็นด้วยกัน
“ลูกคงหมายถึงนักศึกษาในเรื่องสั้น ข้อสอบรั่ว ที่เขียนลงในประชาสัมพันธ์ สถาบันราชกัฏบุรีรัมย์ ใช่ไหมลูก” ผมย้อนถาม ใช่ครับ” ลูกผมตอบสั้นๆ “เรื่องมันเป็นอย่างไรล่ะ ว่ามาซิ”
“ก็มีนักศึกษาคนหนึ่ง เรียนไม่ค่อยดีนัก สอบปลายภาคได้คะแนนเต็มร้อย ครูไม่เชื่อ ตรวจสอบจนได้ความจริงว่า นักศึกษาคนนั้น เก็บคีย์คำตอบที่อาจารย์ทิ้งไว้ในถังขยะไป”
ผมกลืนอาหารที่ค้างอยู่ในปาก ก่อนที่จะตอบลูก “ก็คงตอบได้เป็นสองนัย คือ นัยที่เป็นเรื่องจริง และนัยที่เป็นเรื่องสั้น” ผมตอบกว้างๆ เบนเรื่องให้ดูยืดยาวน่าเบื่อ เพื่อลูกจะได้เลิกสนใจ
แต่ผิดคาด ลูกผมแสดงท่าทางที่อยากจะรู้จริงๆ ผมจึงอธิบายต่อไปว่า
“ในนัยที่เป็นเรื่องสั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดจากจินตนาการของผู้เขียน ผู้อ่านคงตรวจสอบได้เองว่า เรื่องสมจริงสมจัง เป็นไปตามเหตุและผล เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่าน ในลักษณะที่เป็นตัวอย่างที่ดีหรือไม่ แต่ถ้าขาดเหตุขาดผล ก็ไม่เป็นสาระ ซึ่งผู้อ่านจะวินิจฉัยได้เอง” ผมอธิบายวกไปวนมา
“ต่อไปครับ พ่อ” ลูกผมเร่งเร้า คงอยากได้คำตอบเร็วๆ “ส่วนนัยที่สอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ในกรณีที่เป็นเรื่องจริง นักศึกษาคงจะไม่มีความผิด เพราะการทำข้อสอบได้เต็มร้อยไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การเรียนนั้นนักศึกษาจะต้องรู้จักค้นคว้า โดยปกติ จะทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้คะแนนมากที่สุด บางครั้งอาจทุจริต เช่น ลอกข้อสอบเพื่อน แอบจดใส่กระดาษเข้าไป หรือจดไว้ตามแขนขา เป็นต้น ซึ่งถ้าถูกจับได้ และอาจารย์เอาจริงเอาจังก็โชคร้ายไป ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าถามว่าผิดไหม ก็ตอบได้ว่า ถ้าจับได้ก็ผิด แต่ถ้าถามว่าควรไหม ก็ตอบได้เลยว่า ไม่ควร” ผมหยุดและยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม ก่อนที่จะพูดต่อ ซึ่งลูกผมก็ยังให้ความสนใจเรื่องนี้อยู่
“กรณีนักศึกษา ได้คีย์ข้อสอบจากรอยตอกบนกระดาษหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในถังขยะ ถือเป็นความบกพร่องของครู บกพร่องตั้งแต่นำคีย์ไปตอกนอกห้อง เสร็จแล้วไม่ทำลายหลักฐาน ตามปกติจะต้องนำไปเผาทำลาย แต่กลับนำไปทิ้งลงถังขยะ”
“เรื่องนี้ครูก็ผิดซิครับ” ลูกผมสรุป “ก็ไม่ถึงกับผิดหรอก ลูกอย่าสรุปเร็วเกินไป ครูคงไม่มีเจตนาอะไร เพียงแต่บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น” ผมช่วยแก้ข้อกล่าวหาให้ครู ซึ่งรู้สึกว่าลูกไม่ค่อยพอใจ
“นักศึกษาไม่ผิดใช่ไหมครับ พ่อ” ลูกผมถามเพื่อให้ผมเน้นคำตอบอย่างที่ต้องการอีกครั้ง “ก็คงจะเข้าในลักษณะไม่ควร ส่วนจะเอาผิดอะไรคงไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้ขโมยคีย์ข้อสอบ เขาเก็บหนังสือพิมพ์ที่มีรอยตอกของคีย์ข้อสอบไป” ผมพยายามเลี่ยงตอบ
ลูกผมแสดงท่าทางพอใจในคำตอบก่อนที่จะเดินไปเปิดตู้เย็นเพื่อนำแตงโมมาเสริฟ ผมก็ทำท่าจะลุกเดินลงไปข้างล่าง แต่ช้าไป ลูกผมตั้งคำถามใหม่อีก
“พ่อช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของครูในเรื่องข้อสอบรั่วให้ฟังหน่อยซิครับ ดูว่าจะตรงกับที่ผมวิเคราะห์หรือไม่”ลูกผมถาม และนั่งลงจิ้มแตงโมใส่ปาก
“ลูกบอกมาก่อนดีกว่าแล้วพ่อจะช่วยเสริม “แต่ก่อนอื่นพ่ออยากทำความเข้าใจกับลูกก่อนว่า เรื่องสั้นนั้นเป็นเรื่องของจินตนาการ ไม่ใช่เรื่องจริง ตัวละครแต่ละตัว ไม่มีตัวตน อย่าไปเหมาเอาว่า พฤติกรรมของตัวละครนั้น เป็นพฤติกรรมของผู้เขียน หรือของครูคนใดคนหนึ่ง อย่างที่หลายคนพยายามจะคิดอย่างนั้น” ลูกแสดงสีหน้าเข้าใจ
“เริ่มเลยลูก” ผมเร่งบ้าง “ผมว่า ครูคนนี้มีพฤติกรรมข่มขู่ ชอบอวดอ้าง ดูถูกและไม่ไว้ใจลูกศิษย์ ” ลูกผมตั้งข้อกล่าวหาหลายข้อ
“ขมขู่และดูถูกอย่างไร ลูก” ผมถามและแสดงท่าทางสงสัย
“คือเมื่อนักศึกษาทำข้อสอบได้คะแนนเต็มร้อย ครูก็ควรจะดีใจที่ตัวเองสอนได้ดี นักศึกษาสามารถทำข้อสอบได้ แต่นี่กลับสงสัย ไม่เชื่อว่านักศึกษาจะทำได้ ดูถูกลูกศิษย์ ก็เลยตรวจสอบ”
“ตรวจสอนก็ดีแล้วไงลูก เพื่อจะได้รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร” ผมแสดงความไม่เห็นด้วย
“ผมว่าครูมีเจตนาไม่ดีครับ” ลูกแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง
“ไม่ดีอย่างไร” ผมซัก
“ก็ครูอ้างอำนาจคนอื่นขู่ว่า ถ้าไม่สารภาพจะพาไปพบอธิการบดี อาจถูกไล่ออก เสียอนาคต นักศึกษาก็กลัวซิครับ ยิ่งอยู่ปีสุดท้ายด้วย…อีกอย่างหนึ่ง ครูใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ดึงดันเข้าไปในห้องของผู้อื่นโดยที่เขาไม่เต็มใจ ขู่ว่ามีกัญชาและยาบ้าด้วย ร้ายชมัด นี่ดีนะที่เป็นนักศึกษาชาย ถ้าเป็นนักศึกษาหญิงคงยุ่งไปแล้ว” ลูกคนนี้ดูจะมีพฤติกรรมต่อต้านอาจารย์ ผมคิดในใจ
“แล้วอย่างไรต่อไปอีก” ผมถามต่อ
“นักศึกษาในเรื่องนี้น่าสงสารมาก แกไม่ได้มีเจตนา แต่เพราะความอยากได้รางวัล ก็ครูไปตั้งรางวัลไว้สูง ตั้งหนึ่งพันบาท ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ ใครก็อยากได้… ดูตามเรื่อง แก่เป็นคนเรียบร้อย ซื่อๆ แต่พอดีมาเจอะครูที่โอ้อวด หลงตัวเอง คิดว่าข้อสอบของตัวเองดี มีมาตรฐาน ไม่มีใครทำได้คะแนนเต็มพอนักศึกษาทำได้คะแนนเต็มก็เลยสงสัย” ลูกผมกล่าวโทษ
ผมหยิบซ่อมจิ้มแตงโมใส่ปากใจคิดตำหนิลูกที่ค่อนข้างก้าวร้าวกับครู ในขณะที่ลูกเดินลงจากบ้าน พร้อมตะโกนกลับขึ้นมาว่า “พ่อ ผมไปหาเพื่อน เดี๋ยวมา เรื่องข้อสอบรั่วเป็นความผิดของครู ครูต้องรับผิดชอบ จะโยนความผิดให้นักศึกษาไม่ได้”
ผมเก็บของ ล้างจานชามทำความสะอาดโต๊ะอาหารอย่างครุ่นคิด ลูกออกจากบ้านไปนานแล้ว แต่เสียงของลูกยังก้องอยู่ ในหูทั้งสองข้าง “เรื่องข้อสอบรั่วเป็นความผิดของครู ครูต้องรับผิดชอบ จะโยนความผิดให้นักศึกษาไม่ได้”
นี่แหละ จรรยาครู ผมตะโกนใจ ช่วยตอบปัญหาลูกผมด้วยครับ !
….