ปราสาทโคกงิ้ว กับ เด่น บ้านด่าน

ปราสาทโคกงิ้ว (ถ่ายจากด้านหลัง) อ.ประคำ จ.บุรีรัมย์

ปราสาทโคกงิ้ว กับ เด่น บ้านด่าน

รศ. วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

หน้าฝนปี 2000 นี่ตกชุกจริงๆ ตกแทบจะทุกวัน บางวันตกตลอดทั้งวันเลยมองไปทางไหนก็ชุ่มฉ่ำเฉอะแฉะไปหมด ต้นไม้เปียกปอนใบเขียวสดสะอาดตา ดูแล้วน่าจะสดชื่น แต่ที่ไหนได้ไข้หวัดเล่นงานผู้คนเสียงงอมแงม มีหลายคนดูหงอยๆ
เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ไม่ค่อยจะดี เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายและนานวันกว่าจะหาย ยิ่งฝนตกทุกวันอย่างนี้ยิ่งแย่ ฝนแต่ละเม็ดที่ถูกตัวเหมือนกับฝนพิษที่ทำให้ครั่นเนื้อครั่นตัวจะเป็นไข้ บางครั้งเพียงแค่ละอองฝนโชยพัดมาโดนเท่านั้นแหละ เนื้อตัวก็ร้อนผ่าวไปหมด เซน-ซิทีฟ จริงๆ ผมนั่งรำพึงรำพันในใจอยู่ที่หน้าตึก
เสียง เด่น บ้านด่าน ศิษย์ที่ใกล้ชิด เปรยขึ้นเบา ๆ ว่าอาจารย์ครับ “ข้อเขียนเรื่อง กู่ฤาษีของอาจารย์ อ่านแล้วน่าเบื่อจังเลย”
“ก็ต้องหน้าเบื่อเป็นธรรมดาเพราะว่าเป็นเรื่องของข้อมูล” ผมตอบแบบป้องกันตัวเองได้โดยอัตโนมัติ “ไม่มีวิธีนำเสนออย่างอื่นหรือครับ” เด่น ถาม “ก็มี แต่ค่อนข้างยาก เรื่องของข้อมูล เขียนเล่นเขียวหัวไปข้อมูลก็ไม่น่าเชื่อถือ” ผมหันหน้าไปทาง เด่น “ไหนลองยกสักตัวอย่างซิครับอาจารย์” “ก็ได้ และตอนนี้มีข้อมูลของอโรคยาศาลที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเรา” ผมชูกระดาษอวด เด่น

ภายในคูหาปราสาท  ช่าวบ้านกำลังทำพิธีกรรม

“อยู่ที่ไหนครับอาจารย์” เด่นถาม ขยับมาใกล้ แสดงอาการอยากรู้ “ อยู่ที่หมู่ 3 บ้านโคกงิ้ว ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ พิกัดภูมิศาสตร์ เส้นรุ้ง 14 องศา 27 ลิบดา 45 ฟิลิบดา เหนือเส้นแวง 102 องศา 43 ลิปดา 55 ฟิลิบดา ตะวันออก” ผมอ่านให้เด่นฟัง
“วิชาการอีกแล้ว ไม่เห็นรู้เรื่องเลย” เด่น พ้อ “เอาอย่างนี้อีกว่า เด่น ไป จากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 218 บุรีรัมย์ – นางรอง ระยะทางประมาณ 65 กิโล จากอำเภอนางรองใช้ทางหลวงหมายเลข 348 นางรอง-ปะคำ ระยะทาง ประมาณ 22 กิโล ก่อนเข้าตัวอำเภอปะคำ ประมาณ 2 กิโล วัดโคกงิ้วจะอยู่ทางขวามือ ปราสาทตั้งอยู่ทางทิศจะวักตกเฉียงเหนือภายในวัดรวมระยะทางจากบุรีรัมย์ประมาณ 85 กิโล” “อย่างนี้ค่อยรู้เรื่องหน่อย” เด่นทำท่าเข้าใจ
“ก็เป็นปราสาทประเภทอโรคยาศาล หรือ โรงพยาบาล จึงมีรูปแบบเดียวกับอโรคยาศาลทั่วไป คือมี
หนึ่ง ปราสาทประธานเป็นอาคารรูปสีเหลี่ยมจตุรัสย่อมุมขนาดประมาณ 5 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาทำเป็นประตูทางเข้า ส่วนอีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก กรอบประตูทางเข้าทำด้วยหินทรายหลังคาส่วนที่เป็นมุขยื่นออกมาพังแล้ว
สอง บรรณาลัย เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 4 คูณ 7 เมตร ก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน ส่วนที่เป็นหลังคาพังแล้ว ที่น่าสนใจก็คือประตูทางเข้าบรรณาลัยแทนที่จะอยู่ทางทิศตะวันตก แต่กลับอยู่ทางทิศใต้ ไม่เหมือนกับอโรคยาศาลแห่งอื่นๆ
สาม กำแพงแก้ว เป็นกำแพงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาว 25 เมตร ก่อด้วยศิลาแลงมีซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก
สี่ โคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้า รูปกากบาท ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีสภาพปรักหักพัง
ห้า บาราย หรือสระน้ำตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือสภาพตื้นเขินจนเกือบจะดูไม่ออก และด้านหน้าปราสาทมีสระน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งบางส่วนถูกถมทำเป็นถนนสายนางรอง-ปะคำที่ยังเหลืออยู่ขุดลอกเรียบร้อยแล้ว”
ผมอธิบายเสียยืดยาว พร้อมเขียนแผนผังประกอบ “ฟังดูก็คล้ายๆ กับอโรคยาศาลแห่งอื่นๆ ทั่วไป” เด่น บ้านด่านออกความคิดเห็น “ใช่แล้ว” ผมตอบและเน้นว่า “แต่ที่นี่ เราพบจารึกนะ” “ศิลาจารึกหรือครับ” “ไม่ใช่ เป็นจารึกบนแผ่นสำริดรูปวงโค้ง สูง 13.5 เซน กว้าง 21.7 เซน จารึกด้วยอักษรและภาษาขอม” “จารึกว่าอย่างไรครับอาจารย์” “จารึกว่า มหาศักราช 1115 ไทยธรรมของพระบาทกมรเตงอญศรีชยวรมเทวะ ถวายแด่พระอโรคยาศาล ณ วิเรนทรปุระ” “มหาศักราช 1115 ตรงกับ พ.ศ. อะไรครับ อาจารย์” “ มหาศักราช (ม.ศ.) เป็นศักราชที่เริ่มเมื่อ พ.ศ. 621 อาจเกี่ยวข้องกับปีครองราชย์ของพระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรกุษาณะ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย มหาศักราชแพร่เข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้จารึกต่าง ๆ ที่พบ จะใช้มหาศักราชเป็นส่วนใหญ่” “ก็ตรงกับ พ.ศ. 1736” เด่น ทำท่าคิดบวกเลข “ถูกต้อง เก่งมาก” “แล้วพระบาทมกรเตงอญศรีชยวรมเทวะ ผมเดาว่า คงเป็นพระเจ้าชัย วรมันที่ 7”
“ถูกต้องเดาได้เก่งมาก” ผมชมเด่น “แล้ววิเรนทรปุระ ก็คงเป็นเมือง” “เป็นเมืองแน่นอนเพียงแต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนเท่านั้น” “ก็คงแถวนั้นแหละ” “เดาอีกแล้ว แต่ก็อาจเป็นได้หากมีหลักฐานสนับสนุน” “แล้วพบอะไรอีกครับอาจารย์” เด่นถามต่อ “พบรูปแกะสลักด้วยหินทราย และรูปพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กทม. “ผมว่าปราสาทบ้านโคกงิ้วคงสร้างในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรเขมร” เด่น ออกความเห็น “ถูกต้อง” “กรมศิบป์ฯ เขาขึ้นทะเบียนไว้แล้วใช่ไหมครับ” “ใช่แล้ว มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 และประกาศกำหนดเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 100 ตอนที่ 36 วันที่ 15 มีนาคม 2526 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 87 ตารางวา” ผมอ่านให้เด่นฟัง
“อาจารย์ไปดูมากี่ครั้งแล้วครับ” “ยังไม่ถึงสิบครั้งเลย เมื่อเดือนที่แล้วก็ไป” ผมตอบ และอธิบายว่า “ปราสาทตั้งอยู่ในวัด อาจเป็นสำนักสงฆ์ เพราะยังไม่เห็นมีอะไรมาก มีเพียงศาลากับกุฏิ ในคูหาปราสาทมีคนนำพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยและเหวัชระ เทพผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนามหายานไปประดิษฐานไว้ มีชาวบ้านมากราบไหว้บูชากันมากมายเลย แสดงว่าสถานที่นี้ยังเป็นที่เคารพสักการะของชุมชน” “กรมศิลป์ฯ เขาบูรณะหรือยังครับ” “ยังเลย ปราสาทจึงชำรุดทรุดโทรมมาก เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ไปดู เห็นวัดกำลังปรับพื้นที่ และตัดถนนเข้าไปใกล้ ต้องมีผลกระทบกับโบราณสถานแน่นอน” แล้วมีอะไรน่าสนใจอีกครับ” “ก็มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมดูร่มรื่นดี รอบๆ เป็นที่นา สระน้ำโบราณตื้นเขินจนเกือบมองไม่เห็น มีศาลปู่ตา 2 ศาล ตั้งอยู่ด้านหน้า กำแพงแก้ว และบรรณาลัย ถูกดินทับถมเกือบมิดแล้ว เท่าที่สังเกตได้ก็มีเท่านี้”
“ก็เป็นปราสาทที่น่าสนใจนะครับอาจารย์” “ก็น่าสนใจ แต่ขาดการเอาใจใส่ดูแลรักษาเท่าที่ควรเท่านั้นทางที่ดีควรพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของ อำเภอปะคำ โดยดำเนินการบูรณะขุดแต่ง” “แล้วอะไรอีกครับ” “กรมศิลป์ควรประสานงานกับวัดและชุมชน เพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญ จะได้ช่วยในเรื่องการดูแลรักษา” ทั้งคู่เงียบไป ท้องฟ้าด้านทิศใต้สีดำทะมึน บ่งบอกว่าพายุฝนกำลังจะมา เด่น บ้านด่าน ทำท่าลุกขึ้นจะไป ถามเหมือนเพิ่งจะนึกได้ว่า “ไหน อาจารย์จะบอกวิธีนำเสนอที่ไม่น่าเบื่อไงล่ะ” “ก็ที่ว่ามาทั้งหมดนั่นแหละ” ผมเฉลย “ก็ยังน่าเบื่ออยู่ดีแหละครับ อาจารย์” “ไป..ไป ….ไปได้แล้ว” ผมทำมือไล่ เด่น “โธ่ ! อาจารย์ครับ ก็มันน่าเบื่อจริง ๆ นิ ” เด่น บ้านด่าน ทำเสียงอ่อย

12 thoughts on “ปราสาทโคกงิ้ว กับ เด่น บ้านด่าน

  1. ปราสาทโคกงิ้ว ปัจจุบันบูรณะมาได้ประมาณ สองเดือนแล้ว และที่สำคัญ ณ วันนี้ 9 เมษายน 2554 ได้พบทับหลังชิ้นหนึ่ง และเสาประดับกรอบประตู 2 เสา มีลวดลายสวยงามมาก ซึ่งส่วนประกอบของบรรณาลัยทั้งสองอย่างนี้ ไม่ได้มีศิลปะบายนตามยุคของปราสาทโคกงิ้วหรอกระครับ แต่เป็นศิลปะบันเตียสไรย์ Banteay Srei (อย่าออกเสียงว่าบันทายศรีนะครับ เพราะมันไม่มีความหมาย ) แต่บันเตีย=บันทาย=บ้าน ส่วน สไรย์=ผู้หญิง ซึ่งผมได้คุยกับผู้คุมการขุดค้นท่านหนึ่ง เขาว่าน่าจะนำมาจากปราสาทอื่น เช่นปราสาทบ้านใหม่ไทยเจริญ (ซึ่งมีศิลปะบันเตียสไรย์) โดยเป็นปราสาทที่อยู่ใกล้ๆกัน คืออยู่ในเขตอำเภอปะคำเหมือนกัน หรืออาจจะเป็นของดั้งเดิม ณ ที่นี้ แต่ปราสาทโคกงิ้วมาสร้างทับที่เก่าก็ได้ เพราะด้านหน้าของปราสาทประธานมีมุขยื่นออกมาจากตัวปราสาท ท่านผู้คุมการขุดบอกว่า มีลักษณะเป็นการสร้างอยู่ 2 ยุคที่ห่างกัน
    นอกจากนี้ ยังพบแขน น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศาร เพราะมีสายลูกปะคำอยู่ในมือ เห็นว่าเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจะเอาไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์พิมายอะไรประมาณนั้น

    และตอนนี้ ก็กำลังเขียนหมายเลขกำกับหินแต่ละก้อน เพื่อรื้อลงมา แล้วประกอบขึ้นไปใหม่ ที่น่าสังเกตุก็คือ ปราสาทหลังนี้ ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะมีส่วนประกอบปราสาทเป็นจำนวนมากที่โกลนหินยังไม่เสร็จ ยังมีร่องรอยของการโกลนอยู่ แม้แต่บัวยอดของปราสาทก็ตาม
    และที่เป็นไปได้มาก คืออาจจะพบวัตถุสำคัญของปราสาทหลังนี้อีกหลายๆอย่าง ที่ทำให้สันนิษฐาน ปะติดปะต่อเรื่องราวในยุคนั้นได้ แต่เป็นห่วงว่ามันจะรั่วไหลไปกับมือชาวบ้านที่กำลังรับจ้างขุดปราสาทหลังนี้ ทั้งที่อย่างตั้งใจ และไม่ตั้งใจ เพราะผมดูพวกเขาขุดปราสาทลึกลงไปยังฐานดินเดิม แล้วขนดินที่ขุดไปถมทิ้งที่ใกล้ปราสาทนั่นแหละ ไม่รู้ว่าได้ตรวจตราเศษดินดังกล่าวอย่างดีหรือไม่ ????

    ครับผม

  2. กรณี ■wisut.net ชี้แจง angkor ประเด็นปราสาทโคกงิ้ว

    เรียน ท่านวิสุทธิ์ ด้วยความนับถือ
    ผมต้องขอขอบคุณท่านวิสุทธิ์ ที่ กรุณาอ่านคำโพสของผม และกรุณาชี้แจงข้อมูลของท่านที่คิดว่าไม่ตรงกับข้อมูลของผม ความจริงแล้วผมเคยทำงานที่บุรีรัมย์มาหลายปี ตอนนั้นพักอยู่ที่อำเภอนางรอง ฉะนั้น ปราสาทต่างๆและชุมชนโบราณในบุรีรัมย์ ไม่รอดสายตาของผมไปได้หรอกครับ
    สำหรับกรณ๊ คำว่า ” บันเตีย បន្ទាយ” ที่ท่านวิสุทธ์ แปลว่า “ป้อม” นั้น จริงๆแล้วตามหลักไวยกรณ์เขมร จะต้องออกเสียงว่า ” บนฺเตีย” และจะไม่อ่านว่า “บันทาย” ด้วย เพราะ สระ “-า” เมื่อใส่ตามอักษรตัว ” ឌ ” (อ่านว่า โต) ซึ่งเป็นตัวอักษรโฆษะ จะต้องออกเสียงเป็นสระ “เอีย” คือต้องออกเสียงว่า “เตีย” และที่ผมบอกว่าแปลว่า”บ้าน”นั้น ในความตั้งใจของผมก็คือ ที่อยู่ ที่พักอาศัย อะไรประมาณนั้น ครับ

    ถ้าท่านคิดว่า บันเตีย ต้องแปลว่า “ป้อม” อย่างเดียว นั้น ตัวอย่างคำต่อไปนี้ จะมีความหมายกันอย่างไร..??
    បន្ទាយស្រី อ่านว่า บนฺเตียสไรย์ แปลว่า ป้อมสตรี
    បន្ទាយសំរែ อ่านว่า บนฺเตียส็อมแร (มักอ่านกันว่า บันเตียสำเหร่) แปลว่า ???
    បន្ទាយក្តី อ่านว่า บนฺเตียกไดย์ แปลว่า ???
    បន្ទាយឆ្មារ อ่านว่า บนฺเตียฉมาร์ แปลว่า ???
    បន្ទាយមានជ័យ อ่านว่า บนฺเตียเมียนจัย (อุดรมีชัย) แปลว่า ???

    ครับผม

  3. ที่นี่เป็นสถานที่ศักสิทธ์ มาก และมีแม่ชีบอกหวยถูกด้วยเมื่องวดวันที่30 dec2011 เราก้อถูก

Comments are closed.