ชีวิต ความงาม และความรัก

water
จิปาถะ
ชีวิต ความงาม และความรัก
ผมเพิ่งซื้อหนังสือเรื่อง ชีวิต ความงาม และความรัก เขียนโดย คาลิล ยิบราน แปลโดย กอบกุล อิงคุทานนท์ ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2553 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็อย่างว่าแหละ เรื่องการอ่านหนังสือดีๆนี่ ผมมักจะช้าไปเสมอๆ
คาลิล ยิบราน นักเขียนที่ยิ่งใหญ่ ที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสาร ไทมส์ สตีเฟ่น แคนเฟอร์ เขียนไว้ใน The New York Times ว่า เป็นกวีที่มีผลงานขายดีที่สุดในอเมริกา ส่วนในประเทศไทย คนไทยรู้จัก คาลิล ยิบราน นานมาแล้ว ในผลงานที่ทรงคุณค่า “The Prophet” แปลโดย ระวี ภาวิไล ในชื่อภาษาไทยว่า ปรัชญาชีวิต เล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2504
คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran : 1883-1931) เป็นชาวเลบานอน แต่พออายุได้ 11 ปี เขาและครอบครัวก็อพยพมาอยู่ที่อเมริกา และต่อมาได้ถูกส่งกลับไปเรียนภาษาอาหรับและวรรณคดีที่บ้านเกิด แต่อยู่ที่นั่นได้เพียง 3 ปีก็กลับมาอเมริกา คาลิล ตายเมื่ออายุเพียง 48 ปีเท่านั้น แต่ผลงานของเขายังเป็นอมตะอยู่ในปัจจุบัน
หนังสือ ชีวิต ความงาม และความรัก เป็นเรื่องสั้นๆ เกือบ 20 เรื่อง เช่น การกลับมาของผู้เป็นที่รัก, พลยักษ์, แลไปข้างหน้า ฯลฯ ผมเพิ่งอ่าน การกลับมาของผู้เป็นที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องของวีรบุรุษที่เสียชีวิตในสงคราม ผมขอนำส่วนสำคัญ (ความจริงสำคัญทุกส่วน)มาให้ลองอ่านดูนะครับ

“ผู้เป็นหัวหน้าก้าวเข้ามาใกล้ และคุกเข่าข้างร่างไร้วิญญาณนั้น เขาเพ่งพิศร่างของนักรบที่ถูกสังหารและพบว่ามีผ้าพันคอปักดิ้นทองผูกที่รอบแขนคนตาย พลันเขานึกถึงมือที่ปั่นเส้นไหมและร้อยเส้นด้าย เขาซ่อนมันไว้ใต้ร่างผู้ตายและซบหน้ากับมืออันสั่นเทาซึ่งเคยเข่นฆ่าข้าศึก มือของเขาสั่นก็เพราะว่ามันได้สัมผัสผ้าพันคอซึ่งผูกรอบแขนวีรบุรุษผู้สิ้นชีพโดยมือที่ห่วงใยและรักใคร่เขา ผู้ซึ่งจะกลับไปหาเธอด้วยร่างไร้วิญญาณซึ่งถูกแบกไว้บนบ่าของเหล่าสหาย (คาลิล.38)

จากนั้นได้มีการกล่าวถึงวิธีปฏิบัติต่อศพของวีรบุรุษท่านนี้ให้สมเกียรติ ดังตัวอย่าง
“ขอให้เราแบกเขาขึ้นบ่าโดยใช้โล่และทวนของเราเป็นแคร่หามร่างของเขาแล้วเดินวนหุบเขาแห่งชัยชนะของเรานี้ พร้อมกับร้องเพลงพิชิตชัยเพื่อว่าริมฝีปากแห่งบาดแผลของเขาจะยิ้มได้ก่อนที่มันจะถูกดินกลบ”(คาลิล.39)
ฯลฯ
จากนั้น
“ผู้เป็นหัวหน้าได้เดินมาหยุดยืนอยู่ตรงกลาง ทำท่าทางให้ทุกคนเงียบ เขาถอนใจพลางกล่าวว่า “อย่ารบกวนผู้ตายด้วยความทรงจำเกี่ยวกับสงครามเลย หรือทวนซ้ำเรื่องคมหอกคมดาบให้ดวงวิญญาณของเขาได้สดับตรับฟัง เรามาช่วยแบกร่างเขาไปอย่างสงบเงียบสู่บ้านเกิดของเขาที่อยู่ข้างหน้านี้เถิด ที่ซึ่งวิญญาณอันเปี่ยมไปด้วยความรักกำลังรอคอยการคืนสู่เหย้าของเขา…วิญญาณของสาวน้อยซึ่งเฝ้ารอการกลับมาของเขาจากสนามรบ เราจะนำร่างของเขาไปมอบให้นางผู้ไม่ปฏิเสธที่จะยลใบหน้าของเขา และประทับรอยจุมพิตบนหน้าผากเขาเป็นครั้งสุดท้าย”(คาลิล.40)

ผมอ่านแล้วได้รับรู้ถึงความรักความผูกพันของคนที่รอคอยการคืนสู่เหย้าของคนที่เป็นที่รักและห่วงใย ทำให้ผมนึกเลยเถิดไปถึงพ่อแม่ที่รอการคืนสู่เหย้าของลูกหลานที่อยากจะกลับไปอยู่กับครอบครับเพื่อปฏิบัติรับใช้ ความงดงาม ในหนังสือเรื่องชีวิต ความงามและความรัก และความละเอียดอ่อนในการมองเห็นความทุกข์ยากของผู้คน ของ คาลิล ยิบราน เช่น “มือของเขาสั่นก็เพราะว่ามันได้สัมผัสผ้าพันคอซึ่งผูกรอบแขนวีรบุรุษผู้สิ้นชีพโดยมือที่ห่วงใยและรักใคร่เขา” อ่านแล้วน้ำตาจะไหล
และผมยังนึกไปถึงข้อเขียนของท่านประมวล เพ็งจันทร์ ใน อินเดียจารึกด้านใน 1 การศึกษาที่งดงาม ความว่า “การมองเห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ เป็นการมองเห็นที่ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่ามหาศาล ผมต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เป็นเวลายาวนานกว่าจะรู้สึกได้ถึงความเป็นเช่นนี้”(ประมวล.7)

ลองหาอ่านหนังสือประเภทนี้ดูซิครับ บางทีอาจจะช่วยขัดเกราจิตใจที่หยาบกระด้างให้ราบเรียบลง เพื่อจะได้มองเห็นความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมงานได้บ้าง
………
อ้างอิง
คาลิล ยิบราน (2553). ชีวิต ความงาม และความรัก.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว.
ประมวล เพ็งจันทร์(2554).อินเดียจารึกด้านใน 1 การศึกษาที่งดงาม.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

Comments are closed.