
วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565
จิปาถะ เรื่องสั้น (ฉันชอบ)
2
มีนา จัน ตำหนิ คม หักศอกว่า “ระยะนี้ แกบริภาษ หรือ กล่าวติเตียน กล่าวโทษ หรือด่าว่า ตัวละครของแก ใน จิปาถะ เรื่องสั้น ค่อนข้างมากและบ่อย เช่น ด่าว่า ไอ้เวรตะไล อีเปรต เป็นต้น ซึ่งฉันคิดว่า อาจทำให้คนอ่านเรื่องสั้นของแกรับไม่ได้ที่แกใช้คำหยาบ และอาจจะเลิกอ่านเรื่องของแกไปเลย”
คม หักศอก แก้ตัวว่า “การสื่อสารความคิดและอารมณ์ความรู้สึกด้วย “ภาษาที่ดีนั้น จะต้องสื่อให้ได้ทุกอารมณ์ ทั้งรัก โกรธ เกลียด และสนุกสนาน ฉะนั้น เรื่องสั้นของฉันจึงต้องมีคำด่า เพื่อเป็นการชูรส ถ้าไม่มีคำด่าก็จะจืดชืด ไม่น่าสนใจ และย้ำว่า นักวิชาการทางด้านวัฒนธรรมยืนยันว่า “การด่าหรือการบริภาษคนที่ทำให้เราไม่พอใจนั้น มีทุกชาติทุกภาษา” ของชาติเราปรากฏหลักฐานว่ามีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา มันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมนะจะบอกให้ …
แกรู้เปล่า คำด่าหรือคำหยาบคายนั้นช่วยระบายอารมณ์เครียด โกรธ เกลียด และสิ้นหวัง จากตัวเราได้พอๆกับการร้องไห้ นอกจากนั้นยังช่วยลดความเจ็บปวดทางกายภาพด้วย “ผลการวิจัยของ ริชาร์ด สตีเฟ่น (Richard Stephen) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เผยว่า การสบถหรือพูดคำหยาบช่วยต้านทานความเจ็บปวดได้ถึง 1 ใน 3”
“ดังนั้น “การบริภาษบำบัด” อาจเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของฉัน นอกจากศิลปะบำบัดที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึกเครียดจากตัวละครที่ฉันสร้างขึ้นมาเอง เท่าที่สังเกต หลังจากเขียนเรื่องสั้นตอนที่ด่าพวกเขาว่า “ไอ้พวกห่าจิก” จบตอนแล้ว ฉันจะนอนนึกถึงภาพประกอบเรื่องที่จะวาดในตอนเช้าและหลับไปอย่างมีความสุข มันเหมือนนักกรีฑาวิ่งผลัด ที่เมื่อส่งไม้วิ่งผลัดให้พ้นตัวไปแล้วก็จะรู้สึกโปร่งโล่ง เป็นสุขอย่างยิ่ง..
มีนา จัน ฉันจะบอกให้นะ เมื่อฉันด่าพวกเขาว่า ไอ้ห่าจิก หรือ อีห่าจิก ฉันได้พิจารณาแล้วว่า เขาพวกนั้นควรถูกด่า ส่วนฉันมีความสุขที่ได้ด่า มีบางคน ที่คิดว่าฉันด่าคนที่เขาเองต้องการจะด่าอยู่แล้ว เขาก็พลอยมีความสุขไปด้วย แต่อาจมีบางคนที่เป็นทุกข์ เพราะหลงเข้าใจว่า ฉันด่าเขา เพราะพฤติกรรมบางอย่างของเขาเกิดไปคล้องจองกับตัวละครของฉันเข้า ก็อาจจะเกลียดโกรธ โมโหฉุนเฉียวฉัน ซึ่งก็ไม่เป็นไร เจอะหน้าฉันค่อยด่ากลับก็ได้ มันเป็นการบริภาษบำบัด ฉันชอบ
…..