มรดกโลกอยุธยา : หมอกที่ยังพร่ามัว

วัดวรเขษฐาราม  อยุธยา

มรดกโลกอยุธยา : หมอกที่ยังพร่ามัว
รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

เผยแพร่ใน สยามอารยะ ปีที่ 2 ฉบับที่ 13 มกราคม 2537 : 38 – 41

บทนำ
เมื่อระหว่างวันที่ 22 – 28 พฤศจิกายน 2536 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมศิลปากร จัดให้มีงานเฉลิมฉลองนครประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในการประชุมสมัยที่ 15 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย ระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2534 การจัดให้มีงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีสำหรับพี่น้อง ประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง เพราะมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเราได้รับการยอมรับจากชาวโลก ย่อมเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจในสิ่งที่บรรพบุรุษได้ สร้างสมไว้ จนเป็นที่ยอมรับดังกล่าว
แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้สังเกตเห็น และมีความรู้สึกไม่สบายใจเนื่องจากคณะผู้จัดงาน ได้สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นแก่สาธารณชน คือมีการกล่าวถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในฐานะมรดกโลกไว้ 2 นาม คือ “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ” และ “ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” นามทั้งสองนี้ อะไรคือคำกล่าวขานที่ถูกต้อง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้ ความสับสนก็คงมีอยู่ และผลเสียจะตามมา เพราะอาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดต่อไปในอนาคตฉะนั้น คงจะเป็นเรื่องที่ดีหากจะมีการทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะกลายเป็นความเชื่อที่ผิด ๆ เหมือนหลาย ๆ เรื่องที่บิดเบือนกันเสียจนมองดูเหมือนเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ไทย
เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ควรจะได้ทำความเข้าใจเรื่องอุทยานประวัติศาสตร์ และนครประวัติศาสตร์ ดังนี้

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาคืออะไร
อุทยานประวัติศาสตร์ ตามการจำแนกประเภทโบราณสถานในปัจจุบัน ได้แก่ พื้นที่ใด ๆ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ถนนหนทาง และสภาพแวดล้อมพิเศษ ฯลฯ สมควรรักษาไว้ ( ศิลปากร . 2533 : 7 )
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยานั้น เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการพัฒนาเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและบริเวณใกล้เคียงตามข้อเสนอของสำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ให้กรมศิลปากรร่วมมือกับสำนักผังเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาเกาะเมือง โดยใช้ชื่อว่า “โครงการสำรวจ ขุดแต่ง และบูรณะโบราณสถานในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและบริเวณใกล้เคียง” โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาให้เกาะเมืองและบริเวณใกล้เคียงเป็นที่อยู่ดีกินดีของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เพื่อบูรณะให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ฯ สำหรับรักษามรดกวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติไว้ และเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชานชนด้วย
โครงการดังกล่าวจะดำเนินการโดยแบ่งเกาะเมืองและบริเวณใกล้เคียงออกเป็น 3 ส่วน
ได้แก่
1. เขตส่งเสริมให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่เจริญมั่งคั่งตามเทคโนโลยีแผนใหม่ และศูนย์อำนวยการ
2. เขตอนุรักษ์ให้เป็นเขตที่อยู่อาศัยของชุมชนแบบบ้านสวน หรือบ้านไร่
3. เขตอุทยานประวัติศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2519 กรมศิลปากรได้ประกาศเขตอุทยานประวัติศาสตร์ให้เป็นเขตโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2519 และกรมศิลปากรได้รับเงินงบประมาณสำหรับการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานมาตามลำดับ จนกระทั่งปรับปรุงเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2525 สืบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้
ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จึงได้แก่พื้นที่ใจกลางเกาะเมืองจำนวน 1,810 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยเขตที่เป็นโบราณสถานสำคัญ เช่น วังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และเขตที่เป็นสวนสาธารณะ คือสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นต้น

นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาคืออะไร
นครประวัติศาสตร์ ตามการจำแนกประเภทของโบราณสถานได้แก่เมือง หรือบริวารของเมืองที่มีแบบอย่างวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพของอาคาร สถานที่ หรือมีอาคารประเภท อนุสาวรีย์แห่งชาติ อาคารสถาปัตยกรรมแห่งชาติ อาคารสัญลักษณ์ของเมือง ย่านประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ (ศิลปากร. 2533 : 7)
นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยานั้น คือ นครที่คณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติ มีมติในการประชุมสมัยที่ 15 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2534 ให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (Ayutthaya Historic City) ซึ่งประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ วัดอาราม ซากโบราณสถานและสถานที่สำคัญโดยรอบที่เกี่ยวข้องกับนครประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะนครประวัติศาสตร์อยุธยา มีคุณสมบัติตามกฏเกณฑ์ ดังนี้
1. กรุงศรีอยุธยาเป็นตัวแทนของความเป็นเยี่ยมในการสร้างสรรค์อันทรงคุณค่า และการเลือกสรรตำแหน่งที่ตั้งของพระนครให้เหมาะสมกับความซับซ้อมของลักษณะผังเมือง เฉพาะตัวของชุมชนที่อาศัยการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก อันเป็นธรรมชาติการตั้งถิ่นฐานแบบไทย ๆ ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงพื้นฐานวัฒนธรรมที่สนองตอบความต้องการในการรักษาพระนคร ป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรู และความต้องการในการจัดระบบสาธารณูปการได้อย่างเหมาะสมกับสังคมพระนคร อันเอื้ออำนวยให้เกิดพัฒนาการสู่ความรุ่งเรืองในยามสงบสุข
ขณะที่ที่ราบลุ่มล้อมรอบกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นแนวยุทธการป้องกันการรุกรานของข้าศึก ณ ที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งอาหารอันอุดม ได้สมญา “อู่ข้าวแห่งเอเซีย” การตั้งพระนครในบริเวณที่มีแม่น้ำใหญ่มาบรรจบกันสามสาย คือแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ทำให้กรุงศรีอยุธยาสามารถควบคุมระบบการผลิต ระบบการสร้างงานเกษตรกรรม ระบบการค้าได้อย่างดี และยังใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างกัน ตลอดจนเส้นทางขนส่งค้าขายภาคในและต่างประเทศ โดยจัดให้มีการขุดคูคลองตัดผ่านเมืองอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นข่ายคมนาคมภายในเกาะเมือง คูคลองเหล่านี้แม้จะตื้นเขินไปมากแล้ว แต่ก็ยังสามารถมองเห็นร่องรอยได้อย่างชัดเจน
2. กรุงศรีอยุธยานับเป็นแม่แบบสำคัญในการสร้างกรุงรัตนโนสินทร์อันเป็นการชะลอเอาความงาม ความรุ่งเรืองของอยุธยามาไว้ในทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นระเบียบผังเมือง การจัดวางอาคาร ชื่อสถานที่ต่าง ๆ ลักษณะอาคารบ้านเรือน การอาศัยอยู่ในเรือนแพ ลักษณะและการใช้เรือพระที่นั่งตลอดจนถึงวิธีการดำเนินชีวิต
3. ความเป็นเอกลักษณ์ของนครประวัติศาสตร์แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านกาย ภาพ ด้านประวัติศาสตร์ และด้านอารยธรรม จะหานครโบราณใดเทียบได้ในเอเซียหรือในโลกเป็นไม่มี
4. อาคารโบราณสถานแต่ละหลังในพระนครศรีอยุธยามีลักษณะการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในภาคพื้นเอเซีย ลักษณะของสิ่งก่อสร้างหลายอย่าง เช่น เจดีย์ ปรางค์ และปราสาท มีความเป็นพิเศษไม่สามารถพบเห็นในที่อื่น ๆ แม้สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีกำเนิดที่มีอายุยืนยาวมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ต่อเนื่องทางสถาปัตยกรรมมาสู่ลักษณที่เป็นแบบไทยแท้และไม่สามารถทดแทนได้ในปัจจุบัน
นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว จิตรกรรมและศิลปวัตถุต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องก็มีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านรูปแบบ การออกแบบ ฝีมือช่างการเลือกวัสดุ การผสมผสาน การเป็นสิ่งหายาก สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแทนที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิด ความเชื่อ และความสามารถเชิงสร้างสรรค์ของชาวไทยในสมัยอยุธยาที่เผยแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง เช่น ลาว กัมพูชา
มรดกอันล้ำค่ายิ่งของอยุธยา มิได้ตกทอดมาเพียงแต่วัฒนธรรมทางวัตถุที่มองเห็นจับต้องได้เท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยรสชาติทางวัฒนธรรมอันเสพได้ด้วยความละเอียดอ่อนทางจิตใจ ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทย เป็นสิ่งที่ได้รับการสร้างสรรค์ปรุงแต่งด้วยความวิริยะอุตสาหะ ตกทอดลงมาถึงคนรุ่นเราในรูปของภาษา วรรณกรรม ดนตรี นาฏกรรม กีฬา รสอาหาร หัตถกรรม ประเพณี และพิธีกรรม ตลอดจนถึงจริยธรรม และการปฏิบัติตนภายใต้กฏเกณฑ์ของความสัมพันธ์แบบเครือญาติ (ศิลปากร. 2534 : 47 – 48)

ความสับสนระหว่างอุทยานประวัติศาสตร์กับนครประวัติศาสตร์
กรมศิลปากรได้มีการประชาสัมพันธ์ในประชาชนเข้าใจว่าอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก โดยเริ่มที่บทบรรณาธิการ นิตยสาร ศิล ปากร ปีที่ 34 เล่มที่ 4 พ.ศ. 2534 ความว่า “ แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติและสมบัติวัฒนธรรมของประเทศไทยได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากการประชุมคณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการมรดกโลก ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 รวมจำนวน 3 แห่ง คือ หนึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี สอง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและใกล้เคียง ซึ่งประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และสาม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ”
ความสับสนนั้นปรากฏชัดเจนขึ้นอีกในเอกสารเรื่อง มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา ของกรมศิลปากรที่พิมพ์แจกในงานฉลองมรดกโลกโดยมีข้อความในบทนำตอนหนึ่งความว่า “ด้วยลักษณะที่โดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ความเป็นเยี่ยมในด้านการสร้างสรรค์อันทรงคุณค่าและการเลือกสรรแหล่งที่ตั้ง ประกอบกับอาคารโบราณสถานแต่ละหลังในพระนครศรีอยุธยา มีลักษณะการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในภาคพื้นเอเซีย คณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโกแห่งองค์การสหประชาชาติ ในการประชุมสมัยที่ 15 ที่จัดขึ้นที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย ระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2534 มีมติให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และรัฐบาลสนับสนุนให้พัฒนาพื้นที่ 1 ใน 3 ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาให้เป็นนครประวัติศาสตร์ “พระนครศรีอยุธยา” ด้วยจำนวนเงินถึง 2 ,136.46 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปี 2547
การที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และรัฐบาลสนับสนุนให้พัฒนาเป็นนครประวัติศาสตร์เช่นนี้ ยังความปลื้มปิติยินดีให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง”
นอกจากนั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ใน อนุสาร อสท ฉบับพิเศษ ฉลองมรดกโลก “กรุงศรีอยุธยา” ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2536 แพร่กระจายความสับสนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ข้อสังเกต
จากที่ได้นำเสนอมา มีข้อสังเกตดังนี้
1) กรมศิลปากรได้พยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นนครประวัติศาสตร์ ดังข้อความที่ว่า “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก และรัฐบาลสนับสนุนให้พัฒนาพื้นที่ 1 ใน 3 ของเกาะเมืองเพื่อให้เป็นนครประวัติศาสตร์ ด้วยจำนวนเงินถึง 2136.46 ล้านบาท ใช้เวลาในการดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 – 2547”
จากข้อความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า กรมศิลปากรนั้น ขาดความเข้าใจและขาดทิศทางในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเพราะในความเป็นจริงอุทยานประวัติศาสตร์นั้น ไม่สามารถพัฒนาเป็นนครประวัติศาสตร์ได้และที่สำคัญพระนครศรีอยุธยาเป็นนครประวัติศาสตร์อยู่แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือรักษาสภาพของความเป็นนครประวัติศาสตร์ สถานที่และสิ่งก่อสร้างที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้ให้ได้มากกว่า
2) การที่นครประวัติศาสตร์อยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกนั้น ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก เพราะคุณลักษณะตรงตามกฏเกณฑ์ที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนด ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่นของนครประวัติศาสตร์อยุธยาในทุก ๆ ด้าน จึงทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ดังข้อความที่ว่า “ ความเป็นเอกลักษณ์ของนครประวัติศาสตร์แห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านภายภาพ ด้านประวัติศาสตร์ และด้านอารยธรรม จะหานครโบราณใดเทียบได้ในเอเซียหรือในโลกเป็นไม่มี” จากข้อความดังกล่าว จะเห็นได้ชัดว่านครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยานั้น ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก การนำเอาอุทยานประวัติศาสตร์เข้ามาสวมรอยนั้น ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง การพยายามที่จะเบี่ยงเบนความจริงนั้น ไม่ว่าจะเพื่อผลประโยชน์อะไรก็ตาม จะมีแต่ผลเสียเพราะถ้าสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว แผนการดำเนินงานหรือเป้าหมายในการที่จะพัฒนาก็จะผิดพลาดไปด้วย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติแต่อย่างใด

บทสรุป
จากที่ได้นำเสนอมา น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า มรดกโลกคือนครประวัติศาสตร์อยุธยา Ayuttaya Historic City The World Heritage มิใช่อุทยานประวัติศาสตร์ Ayutthaya Historical Park อย่างที่พยายามจะสร้างให้เข้าใจแต่อย่างใด

คงไม่เป็นสิ่งที่ผิดที่กรมศิลปากร ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบและได้บากบั่น บูรณะปฏิสังขรณ์ พัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ด้วยความอุตสาหะวิริยะ ใช้เวลานานหลายสิบปี ทุ่มเททั้งกำลังใจกำลังกายทำงานจน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชมศรัทธา ทั้งแก่ประชาชนชาวไทยเอง และชนชาติต่างๆที่ได้มาเยี่ยมเยือน แต่ถ้าพิจารณากันอย่างแม้จริงแล้ว มรดกโลกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับการขึ้นบัญชีไว้นั้น มิใช่เหตุเพราะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว หากยังรวมไปถึงสิ่งต่างๆอีกมากมายที่หล่อหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ทั้งศิลปะและวัฒนธรรม ของกรุงศรีอยุธยา นครโบราณแห่งนี้
ดังนั้น อุทยานประวัติศาสตร์พระนครอยุธยา ซึ่งเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเท่านั้น กรมศิลปากรเองคงต้อง ยอมรับความจริงและทำใจให้ได้อย่าสร้างความสับสนให้เกิดขึ้น เพียงเพื่อจะรักษา ผลงานของตนเองเอาไว้ ว่าได้ทำนุบำรุงอุทยานประวัติศาสตร์จนมีค่าถึงกับเป็นมรดกโลก การยอมรับความจริงนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ของชาติไทยต่อไปในภายภาคหน้า

เอกสารอ้างอิง

ศิลปากร, กรม. แผนแม่บทนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กองโบราณคดี, 2533.
. นิตยสารศิลปากร ปีที่ 34 เล่มที่ 4 พ.ศ. 2534.
. สุจิบัตร. มรดกโลก นครประวัติศาสตร์อยุธา. 22 – 28 พฤศจิกายน 2536.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. อนุสาร อสท. ฉบับพิเศษ ฉลองมรดกโลก “กรุงศรีอยุธยา” ตุลาคม 2536.

74 thoughts on “มรดกโลกอยุธยา : หมอกที่ยังพร่ามัว

Comments are closed.