คน

operations

จิปาถะ

คน

คำว่า “คน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554  ให้ความหมายว่า น. มนุษย์.ก. กิริยาที่เอามือหรือสิ่งอื่นกวนเพื่อทําสิ่งที่นอนก้นหรือที่เกาะกันอยู่ เป็นกลุ่มเป็นก้อนให้กระจายขยายตัว หรือกวนสิ่งต่าง ๆ ให้เข้ากัน. ส่วนความหมายของคำว่ามนุษย์ คือ น. สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล สัตว์ที่มีจิตใจสูง คน.  เป็นอันว่าจบส่วนที่เป็นสาระ   เพื่อปูทางไปยังส่วนที่ทั้งเป็นสาระและไม่เป็นสาระ ดังนี้

คำว่า“คน”นั้นเขียนด้วย ค. ควายไถนา และสะกดด้วย น. หนูฝักใฝ่  ซึ่งอาจเป็นเหตุให้คนมีลักษณะดังนี้ คือ มีร่างกายแข็งแรง บึกบึน แต่อาจทึบตัน ไม่ได้เรื่องได้ราวเหมือนควาย แถมยังสะกดด้วย น. หนู  ซึ่งเป็นสัตว์ที่น่ารักเกียจ ดังนั้นคนบางคนจึงน่ารังเกียจ แต่ก็มีคนส่วนใหญ่ ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองจนเป็นมนุษย์  หรือ เป็นสัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล สัตว์ที่มีจิตใจสูง  แต่เมื่อคำว่าคนนี้ เมื่อใช้ในรูปกริยา คนก็จะชอบทั้งกวนและคนให้เข้ากันหรือกวนและคนให้แตกแยกกันเป็นปกติ

น. หนูฝักใฝ่ ที่ใช้เป็นตัวสะกดของคำว่าคนอาจจะไม่ได้หมายถึงหนูสกปรกอย่างที่ว่า อาจจะหมายถึงน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับควายซึ่งเป็นสัตว์ชอบน้ำ ที่นี้ธรรมชาติของน้ำจะไหลไปสู่ที่ต่ำเสมอ  ควายซึ่งอยู่หน้าน้ำก็จะลอยเล่นตามน้ำไปสู่ที่ต่ำ  ดังนั้นคนบางคนจึงมีจิตใจตามคุณสมบัติของน้ำที่ไหลไปสู่ที่ต่ำเสมอ  ที่นี้วิธีที่จะไม่ให้น้ำไหลลงไปสู่ที่ต่ำ ก็ต้องหาวิธีกั้น เป็นเขื่อน เป็นฝาย กำหนดกรอบให้อยู่ในขอบเขต เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ แทนที่จะไหลไปตามเรื่องตามราวลงทะเลไป คนก็เหมือนกัน เมื่อมีคุณสมบัติของน้ำ ก็จะไหลไปที่ต่ำเสมอเช่นเดียวกัน วิธีที่จะส่งเสริมพัฒนาจิตใจคนให้สูงขึ้น ก็ต้องมีกรอบมีขอบเขตคอยควบคุม กรอบที่ใช้ควบคุมก็คือคุณธรรมจริยธรรม  ซึ่งสามารถอบรมสั่งสอนให้คนเป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่เบียดเบียนคนอื่นได้  แต่นั่นแหละ บางคนก็ทึบตัน สอนเท่าไรก็ไม่ฟัง ดื้อด้านดันทุรัง เนื่องจากไม่ได้ทำบุญไว้ตั้งแต่ชาติก่อน ตรงตามบาลีใน มงคลสูตร ความว่า “บุพเพ จะ กะปุญญตา แปลว่า  ความเป็นผู้มีบุญอันทำแล้วในกาลก่อน”            พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน ธชัคสูตร ส่วนที่เป็นพุทธคุณ  หรือ บทอิติปิโส ภะคะวา ที่เรารู้จักกันดี ความตอนหนึ่งว่า “อนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ  แปลว่า  เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า” จะเห็นได้ว่า แม้แต่พระพุทธองค์ซึ่งเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  จะฝึกเฉพาะผู้ที่ควรฝึกเท่านั้น ส่วนผู้ที่ฝึกไม่ได้ พระพุทธองค์ก็ทรงละเสีย

ผมเองโง่ดักดาน  หลงฝึกนางแต้มมาเป็นเวลาเกือย 2 ปี เพิ่งมารู้แจ้งแทนตลอดตอนนี้เองว่า “นางแต้มนั้นฝึกเท่าไรก็ฝึกไม่ได้” ที่เกริ่นมานี้ก็เพื่อจะบอกว่าเพื่อนเฟสบุกส์ ที่ตามอ่าน  เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ว่า ผมขี้เกียจฝึกแล้ว  และจะโพสต์ตอนจบในวัน ที่ 28 หรือ 29 กรกฏาคมนี้ แน่นอน  อย่าลืมติดตามอ่านนะครับ

เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนกับมนุษย์ ผมขอนำบทกลอนบางส่วนของ ท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งท่านเขียนได้ชัดเจนแจ่มแจ้งจับใจจริงๆ เกี่ยวกับความแตกต่างระว่างมนุษย์ กับคน ดังนี้

“เป็นมนุษย์หรือเป็นคน?”

“เป็นมนุษย์  เป็นได้  เพราะใจสูง     เหมือนหนึ่งยูง  มีดี  ที่แววขน

ถ้าใจต่ำ  เป็นได้  แต่เพียงคน         ย่อมเสียที  ที่ตน  ได้เกิดมา

ใจสะอาด  ใจสว่าง  ใจสงบ             ถ้ามีครบ  ควรเรียก  มนุสสา

เพราะทำถูก  พูดถูก  ทุกเวลา         เปรมปรีดา  คืนวัน  สุขสันต์จริง

ใจสกปรก  มืดมัว  และร้อนเร่า      ใครมีเข้า  ควรเรียก  ว่าผีสิง

เพราะพูดผิด  ทำผิด  จิตประวิง        แต่ในสิ่ง  นำตัว  กลั้วอบาย” (2499.144)

ท่านละครับอยากเป็นมนุษย์หรือเป็นคนครับ

………

พุทธทาสภิกขุ (2501).คู่มือมนุษย์.กรุงเทพฯ.ศูนย์สืบพระพุทธศาสนาวัดชลประทานรังสฤษฏ์.

ท.ธีรานันท์.(2549).สิบสองตำนานปล.(3)กรุงเทพฯ.สหธรรมิก.

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *