ไม่ปรารถนา

teach

จิปาถะ
ไม่ปรารถนา

จากเรื่อง “ปรารถนา” ที่โพสต์ ไว้เมื่อ 15 ตุลาคม 2557 ได้นำเสนอเรื่องชะตากรรมของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ขอไปช่วยราชในหน่วยงานที่เป็นบ้านเกิด เพื่อจะได้มีโอกาสดูแลแม่ซึ่งอายุมากและป่วย เนื่องจากเป็นลูกคนเดียวและพ่อได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ผู้บังคับบัญชาซึ่งเพิ่งได้รับตำแหน่งใหม่ ได้ใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาเรียกตัวกลับโดยไม่สนใจว่า ผู้ที่ได้ขอไปช่วยราชการนั้นมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน โดยให้เดินทางกลับมาโดยด่วน ดังนั้นเมื่อถูกเรียกตัวกลับก็ต้องกลับ

เมื่อกลับมาแล้วได้มีการหาหนทางเพื่อกลับไปปฏิบัติงานที่ยังคั่งค้างตลอดจนการแลกเปลี่ยนอัตราแต่ไม่เป็นผล สุดท้ายอาจารย์ท่านนั้นจึงเลือกวิธีลาออก โดยยอมสละสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว คือการเป็นข้า ของราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพราะอย่างไรก็ต้องเลือกกลับไปดูแลแม่

ความจริงเรื่องน่าจะจบกันเท่านั้น แต่เปล่า ได้มีการหน่วงเหนี่ยวในหลายรูปแบบ เช่น นำเรื่องทุนมาผูกกับการลาออก และยืนยันนั่งยันว่า ลาออกไม่ได้ถ้าฉันไม่อนุมัติ แม้กระทั่งหน่วยงานใหม่ที่อาจารย์ท่านนั้นจะไปอยู่ยินดีที่จะใช้ทุนให้ทั้งเป็นเวลาหรือเป็นจำนวนเงิน ก็ไม่ยอม อ้างว่าไม่มีระเบียบ อย่างนี้ไม่เรียกว่าแกล้งกันก็ไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไร

สุดท้ายเมื่อจนด้วยข้อกฎหมาย ถึงได้ยอมเซ็นอนุมัติให้ลาออก ผมเสียดายที่นางแต้มยังพลิกตัวทัน ไม่เช่นนั้นก็คงจะได้รับชะตากรรมเช่นเดียวกับอธิการบดี ม. อุบลราชธานีอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการแก้แค้นจองล้างจองผลาญกลุ่มอาจารย์ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม เรียกได้ว่าไม่ยอมให้ผุดไม่ให้เกิดกันที่เดียว ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ อาจารย์เหล่านี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน สนุกสนานเฮฮาโวกเหวกจนน่าอิจฉา แต่เมื่อนางแต้มมีอำนาจ ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างก็เปลี่ยนไป ได้มีการกรีดกันเรื่องการเป็นผู้สอนและกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา ท่านลองคิดดูซิครับว่า เป็นครูแล้วไม่ยอมให้สอนวิชาที่ร่ำเรียนมานั้นมันเจ็บปวดแค่ไหน

แต่ไม่เป็นไร บ้านเมืองมีขื่อมีแปร มิเช่นนั้นจะอยู่กันได้อย่างไร ได้มีการร้องทุกข์เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมไปยังสภาฯ ที่ประชุมสภาของหน่วยงานนี้ มีมติมอบให้คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ของหน่วยงานดำเนินการ ลองมาดูมติของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ดูซิครับ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

“เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการอุทธรณ์และร้องทุกข์ดำเนินการด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง และเป็นธรรม จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาโทษวินัยไม่ร้ายแรง พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ ปรากฏว่า ข้อบังคับดังกล่าวคณะกรรมการ มีอำนาจเพียงรับเรื่องราวร้องทุกข์ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้หน่วยงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงาน โดยยึดระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม”

จบครับ จบบริบูรณ์