เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน เผาหุ่น 16

buriram
จิปาถะ
เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน เผาหุ่น 16
41
“รู้สึกว่าช่วงนี้อาจารย์จะแก่พุทธศาสนาสุภาษิตไปซักหน่อยนะครับ” ถากถางต่อว่าผม
“ก็ไม่มากนะ แค่ 2- 3 บทเท่านั้นเอง เรื่องพุทธศาสนาสุภาษิตนี่ จำได้ไว้บ้างก็ดี เป็นเครื่องเตือนใจ
แต่ในสมัยก่อนนั้นเขานิยมกันมาก โดยเฉพาะสถานศึกษา เป็นคติธรรมประจำสถาบัน เช่น “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา บัณฑิตย่อมฝึกตน” คติธรรมของมหาวิทยาลัยชียงใหม่ หรือ “ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” คติธรรมของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นต้น”
“ของวิทยาลัยครูเราก็เคยมีนี่ครับอาจารย์ แต่เดี๋ยวนี้คงไม่มีใครจำได้แล้วละ” จานจินเสริม
“เธอพอจำได้ไหมล่ะ”
“จำได้ซิครับ “สุวิชฺโช ชเนสุโต โหติ ผู้มีความรู้ดี ย่อมเด่นในหมู่ชน”
42
“เธอรู้ที่มาที่ไปไหมล่ะ” จานจิน
“รู้ซิครับ เพราะผมเรียนที่นี่ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์…
คติธรรม สุวิชฺโช ชเนสุโต โหติ นี้ปรากฏอยู่ในเครื่องหมายของวิทยาลัย ซึ่งออกแบบเป็นรูปวงกลมสองวงซ้อนกัน ตรงกลางเป็นรูปแสงสว่างจากเทียนซึ่งตั้งอยู่บนหนังสือ แสงสว่างจากเทียนเปรียบเสมือนปัญญา หนังสือหมายถึงแหล่งที่แสวงหาความรู้ เบื้องหลังเป็นรูปปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ ใต้หนังสือมีชายผ้าจารึกตัวเลขไทย ๒๕๑๔ อันเป็นปีที่ก่อตั้ง ตอนบนระหว่างวงกลมเป็นชื่อ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ ตอนล่างเป็นพุทธศาสนาสุภาษิต สุวิชฺโช ชเนสุโต โหติ (สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ พิมพ์ ธมฺมธโร) แต่เสียดายครับอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นคนออกแบบ และไม่ทราบว่าตอนนี้เครื่องหมายนี้เก็บไว้ที่ไหน อาจขายเป็นเศษเหล็กไปแล้วก็ได้”
“ผมเคยเห็นอยู่ในห้องเก็บของ แผนกอาคารสถานที่ แต่นานมาแล้ว” ถากถางแสดงความเห็น
“ตอนนี้เขาอาจจัดเก็บไว้อย่างดีแล้วก็ได้ อย่ามองเขาในแง่ร้อย และพูดโดยไม่มีข้อมูล”
“ครับ อาจารย์”
43
จากนั้น ผมอธิบายเพิ่มเติมว่า อันวิชาความรู้หรือสิ่งที่ควรรู้ในโลกนี้มีเป็นจำนวนมาก เรียนเท่าไรก็รู้ไม่หมด ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงจะต้องเลือกรู้เฉพาะ คือ เลือกรู้ตามเพศ ตามภาวะ ตามฐานะ และตามอาชีพของตน”
“หมายความว่าอย่างไรครับ อาจารย์”
“รู้ตามเพศหมายถึงรู้ตามเพศหญิงหรือเพศชายที่พึงรู้ เช่น รู้ในหน้าที่ของตนที่ต้องปฏิบัติ”
“รู้ตามภาวะละครับ”
“รู้ตามภาวะก็คือถ้าเป็นบรรพชิตต้องรู้ธรรมวินัยที่ตนพึงปฏิบัติ ถ้าเป็นคฤหัสถ์พึงรู้ตามฐานะคือตำแหน่งหน้าที่และอาชีพที่ตนประกอบ ผู้ใดรู้ดีตามเพศ ภาวะ ฐานะ และอาชีพของตนนับว่าเป็นผู้เจริญ”
“แสดงว่า นางแต้ม ไม่ใช่ผู้เจริญนะซิครับ”
“เธอหมายความว่าอย่างไร ถากถาง”
“เพราะเธอจะรู้ไปทุกเรื่อง นี่ดีนะ ที่ศิลปะไม่มีวิชาที่มีค่าตอบแทนสูง
ถ้ามีเธอต้องมาสอนอย่างแน่นอน”
…………
ทองสืบ ศุภะมาร์ค.(2513).คำอธิบายพุทธศาสนาสุภาษิต.กรุงเทพฯ : ส.พยุงพงศ์.

Comments are closed.