เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอนท่องยมโลก (เพื่อน 22)

milars

จิปาถะ
เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอนท่องยมโลก (เพื่อน 22)
51
“นี่แต้ม ในโลกนี้เธอรักใครมากที่สุด” ตู้อบถามนางแต้มในขณะที่เธอนอนเหม่อมองเพดานห้องเพลินอยู่
“รักพ่อแม่มากที่สุด ถ้ามีลูกก็จะรักลูกมากที่สุด รักน้องแจ๊ดแจ๋ นอกนั้นก็เป็นพี่น้อง รวมทั้งตู้อบด้วย”
“เป็นคำตอบที่เสแสร้ง หลอกตัวเอง ไม่จริง เธอตอบเพื่อทำให้ตัวเองดูดีเท่านั้นเอง”
“หมายความว่าอย่างไร” นางแต้มหันหน้ามาทางตู้อบ
“เพราะเป็นคำตอบที่ผิดไปจากธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์”
“นี่แหละธรรมชาติที่แท้จริงของแต้ม และของมนุษย์ละ” นางแต้มเถียง
“ไม่ใช่…ธรรมชาติที่แท้จริงหรือสัญชาตญาณของมนุษย์ คือ “รักตัวเองมากที่สุด”
“มีหลักฐานไหมล่ะ”
52
“ในพระไตรปิฏก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค,มัลลิกาสูตร มีเรื่องราวกล่าวว่า…
วันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงถามนางมัลลิกามเหสีของพระองค์ว่า “เธอรักใครมากที่สุด”
นางมัลลิกา ตอบว่า “หม่อมฉันรักตัวเองมากที่สุด”
คำตอบนี้ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสงสัยพระทัย จึงได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ตรัสรับรองคำพูดของนางมัลลิกาว่า
“ไม่มีใครรักคนอื่นเท่ากับตนเองหรอก ตนเองเป็นที่รักยิ่งของคนทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักตนเองจึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น”(เสฐียนพงษ์ วรรณปก.2542:76)
53
“ก็อย่างที่ตู้อบบอกเธอไปแล้วว่า การรักตัวเองเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ ส่วนที่ว่ารักคนอื่นอย่างเหลือล้นนั้น เป็นการ
เสแสร้ง หลอกตัวเอง เพราะสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ลึกๆหรือตัวตนที่แท้จริงของเธอก็คือความโลภ โกรธ หลง และความตะกละ ที่ได้คิดคำนวณแล้วคำนวณอีกถึงประโยชน์ที่จะได้รับ มันเป็นความโลภมากของเธอ ซึ่งไม่สามารถแยกมันออกไปจากตัวเธอได้”
“แต้ม เป็นอย่างนั้นรึ ตู้อบ”
“ถูกต้อง เป็นอย่างนั้นแหละ”
“แล้วจะต้องทำอย่างไรล่ะ ตู้อบ”
“ถ้าเธอใช้ปัญญาสักนิดหนึ่ง เธอก็จะสามารถนำเอาการรักตัวเองซึ่งมีอยู่ติดตัวเธอมาตั้งแต่เกิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์ได้ เพราะการรักตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการที่จะรักคนอื่น” ตู้อบหยุดนิดหนึ่งก่อนที่จะอธิบายต่อไปว่า
“ถ้าเธอไม่รักตัวเองเธอก็คงรักคนอื่นไม่ได้”
“ถูกต้อง” นางแต้มเสริม
“การรักตัวเองและการรักคนอื่นเป็นความรักอย่างเดียวกัน เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ และนี่เองคือสิ่งที่เรียกว่าความ เมตตากรุณาในพระพุทธศาสนา”
“แล้วอย่างไรต่อไปอีกล่ะ” นางแต้มถาม
54
“พระพุทธองค์ทรงมองเห็นอย่างชัดเจนว่า การรักตัวเองเป็นสัญชาตญาณ เงื่อนไขนี้เองคือสิ่งที่พระองค์ทรงกล่าวว่า “ผู้ที่รักตนเองจึงไม่ควรเบียดเบียนหรือทำร้ายคนอื่น” จะเห็นได้ว่า การไม่ทำร้ายคนอื่นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อไม่มีการทำร้ายซึ่งกันและกันความเดือดร้อนก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เราจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทุกคนรักตัวเองเหมือนอย่างที่เรารัก เราคงไม่ต้องการความผิดหวัง เจ็บปวด เศร้าโศกเสียใจจากคนที่ไร้หัวใจบางคน ในทำนองเดียวกัน คนอื่นก็ไม่ต้องการความผิดหวัง เจ็บปวด เศร้าโศกเสียใจจากคนที่ไร้หัวใจบางคนเช่นกัน ในส่วนของความสุขก็ทำนองเดียวกัน ทุกคนอยากมีความสุขเช่นเดียวกับเรา “ดังนั้น อย่าทำร้ายคนอื่นเลย อย่าทำให้พวกเขาต้องเจ็บปวดและประสบกับความทุกข์ ขอให้พวกเราทุกคนจงนำความสุขมาแก่ผู้คน และเมื่อนั้นเองความหมายที่สุดของการรักตนเองนั้นก็จะแปรเปลี่ยนเป็นการรักคนอื่นๆ และนั้นคือจุดที่สูงที่สุดแล้วของการรักตนเอง” (ชุนโด อาโอยามา.2549: 187187-188)
ตู้อบอธิบายยังไม่ทันจบ เสียงนางแต้มกรน ครอก ครอก เป็นจังหวะลีลาสั้นยาวสลับไปมาอย่างคล้องจอง
ตู้อบเอื้อมมือไปหยิบกระดาษทิชชู่เช็ดน้ำลายย้อยที่ปากนางแต้มอย่างกรุณา
……………..
ชุนโด อาโอยามา, ภิกษุณี. ช่อฟ้า เจตนาวีระบุตร แปล.(2549).งามอย่างเซน เมล็ดพันธุ์แห่งธรรม จากมุมมองของ
ผู้หญิง.นครนายก: เสมสิกขาลัย.
เสถียรพงษ์ วรรณปก.(2542) พุทธวิธีสอนจากพระไตรปิฏก.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : หจก.อรุณการพิมพ์.

Comments are closed.