เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน ถูกค้น (2)

rasis

จิปาถะ

เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน ถูกค้น (2)

5

กระสอบป่านหัวเราะให้กับตัวเอง ขณะเดินทอดน่องไปตามถนนลูกรัง  เขาท่องอยู่ในใจมาตลอดทางว่า จะคิดหาสถานการณ์สมมุติให้มากๆ เพื่อจะได้เก็บไว้ใช้ป้องกันตนเอง หากเกิดเหตุการณ์ตามที่สมมุติเกิดขึ้น  จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที  เขาหยุดเดินและยืนดูต้นไม้ข้างทางที่เขียวชอุ่มในช่วงที่ฝนตกลงมาเกือบทุกวัน ขณะนั้น ดวงอาทิตย์สีซีดแดงออกส้มคล้อยต่ำลงเรื่อยๆ ท้องฟ้าปราศจากเมฆดูเวิ้งว้างไร้สีสัน  เขาพูดกับตัวเอง “นี่ กระสอบป่าน แกแก่มากแล้วนะ  จะไปห่วงใยอะไรกับเรื่องที่ยังไม่เกิด  หากเกิดเรื่องอะไรขึ้นมา ประสบการณ์ที่แกมีจะสามารถแก้ปัญหาได้เอง  แกไม่ต้องมาเสียเวลาคิดสถานการณ์สมมุติให้ปวดหัวกะโหลกเปล่าๆ”

“แต่คิดไว้ก็ดีนะ” เขาเถียงตัวเอง และทันใดนั้น เขาก็คิดสถานการณ์สมมุติขึ้นมาได้ใหม่อีก ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนัก แต่สักวันหนึ่ง อาจจะเกิดขึ้นกับเขาเองหรือกับใครก็ได้ แต่ถ้าไม่เกิดก็ดีไป แต่ถ้ามันเกิดขึ้นล่ะ  เขาจะทำอย่างไร

สถานการณ์สมมุติที่กระสอบป่านคิดขึ้นมาก็คือ  วันหนึ่ง ในขณะที่เขานั่งเขียนรูปอยู่ที่บ้านคนเดียว ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าตำรวจทั้งหญิงและชายจำนวนหลายนายทั้งนอกและในเครื่องแบบได้พากันมาและแจ้งว่าจะขอค้นบ้านเขา  และเนื่องจากเขาไม่เคยมีประสบการณ์จากการถูกค้นมาก่อน เขาจึงงงเป็นไก่ตาแตก เขาถามตัวเองว่า “จะทำอย่างไรดี”

6

เรื่องแบบนี้กฎหมายเขาว่าอย่างไร กระสอบป่านเปิดหนังสือ “บุญร่วม เทียมจันทร์(2544.99-101)   อดีตอธิบดีกรมอัยการ กล่าวถึงเรื่องนี้ ซึ่งสรุปได้ว่าการค้นนั้น มี 2 แบบ คือ 1) การค้นในที่รโหฐาน (ที่อยู่อาศัย) และ 2) การค้นตัวบุคคล ซึ่งโดยหลักการแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่าย  ปกครอง หรือศาลจะออกหมายค้นบุคคลทั่วไป หรือค้นในที่รโหฐานของบุคคลไม่ได้  เว้นแต่จะมีเหตุดังต่อไปนี้

  1. เพื่อพบหรือยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา เช่น เข้าไปยึดปืนเถื่อน หรือของผิดกฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นพยานหลักฐานการสอบสวน
  2. เพื่อพบหรือยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือสิ่งของนั้นได้มาโดยผิดกฎหมาย เช่น รับของโจร หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ หรือตั้งใจจะใช้เพื่อจะกระทำความผิด
  3. เพื่อพบหรือช่วยบุคคลซึ่งถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยมิชอบ
  4. เพื่อพบบุคคลที่มีหมายให้จับ
  5. เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษา หรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่พบและยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว

7

ตามสถานการณ์สมมุติ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พากันมาที่บ้านของกระสอบป่านและขอค้น ซึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกเลิกไปแล้ว มาตรา 238 ได้บัญญัติว่า การค้นในที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล (คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็น่าจะมีบทบัญญัติมาตรานี้ให้ความคุ้มครองอยู่เช่นเดิม)  จากที่กล่าวมาหมายความว่า ตำรวจจะค้นในที่รโหฐานหรือบ้านของกระสอบป่านไม่ได้ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

  1. มีหมายศาล
  2. เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน
  3. เมื่อปรากฏว่ามีความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำในที่รโหฐาน
  4. เมื่อบุคคลที่ได้กระทำผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปในบ้าน
  5. เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในบ้าน
  6. เมื่อที่รโหฐานนั้น ผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าของบ้าน”

8

กระสอบป่านสรุปในใจว่า “การค้นในที่รโหฐานหรือบ้านพักโดยหลักการแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานฝ่ายปกครอง ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะมีหมายค้นของศาลตามข้อ 1 หรือค้นได้ตามข้อ 2 ถึง ข้อ 6 เท่านั้น  ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานฝ่ายปกครองเข้ามาค้นบ้านเล่นให้เสียอารมณ์  ดีไม่ดีเกิดใครแกล้งเอาสิ่งผิดกฎหมายมาซุกไว้ ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้นจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้  คือ  1) อย่ากักขังใครไว้ในบ้านอย่างเด็ดขาด  2) อย่าให้ใครมาทำเรื่องผิดกฎหมายในบ้าน 3) อย่าเปิดประตูบ้านอ้าทิ้งไว้ เพราะผู้กระทำผิดอาจจะหนีเข้ามาหลบซ่อนได้  4) อย่าเก็บวัตถุที่ผิดกฎหมายไว้ในบ้านและ 5)  อย่าได้กระทำอะไรที่เป็นการผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด  และ 6) ถ้าเกิดเจ้าหน้าที่มาขอค้นบ้าน ต้องขอดูหมายค้นและอ่านให้ละเอียด และในขณะเดียวกันนั้นจะต้องรีบโทรหาเพื่อนหรือคนรู้จักมาอยู่เป็นเพื่อน

“มีอะไรอีกไหม” กระสอบป่านถามตัวเอง “มีซิ  อยากจะเตือนไว้สักนิด ใครที่ปล่อยให้แม่ซึ่งชราภาพมากแล้วไว้ที่บ้าน  ให้ระวังด้วยนะ  เพราะคนแก่เวลาเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมากันมากๆเพื่อขอค้นในที่รโหฐาน ก็อาจตกใจช็อกเอาง่ายๆได้  “สวัสดี”

…….

บุญร่วม เทียมจันทร์.(2544).ทำอย่างไรเมื่อไปโรงพัก. (7) กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์บุ๊คแบงก์.

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *