เพราะบ้านเมืองมิได้อยู่ในยามปกติ

naress

จิปาถะ
เพราะบ้านเมืองมิได้อยู่ในยามปกติ
คราวที่แล้วผมได้นำเสนอเรื่องของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับการปกครองที่เข็มงวดกวดขันของพระองค์ ปรากฏว่ามีผู้สนใจตามสมควร วันนี้อยากจะนำเรื่องเกี่ยวกับวิธีการปกครองในหนังสือเรื่อง คนไท ทิ้งแผ่นดิน มาเล่าให้ฟังกัน พอเป็นตัวอย่างครับ
ในเรื่องคนไททิ้งแผ่นดิน ซึ่งแต่งโดย สัญญา ผลประสิทธิ์ หนังสือที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมจากมูลนิธิ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2516 ซี่งเป็นหนังสือที่น่าอ่านอีกเล่มหนึ่ง ขอสรุปความเฉพาะตอนที่พูดถึงการปกครองโดยย่อ ดังนี้

เมื่อคนไทเมืองลือและเมืองเชียงแสรวมตัวกันจนสามารถขับไล่ทหารจิ๋นที่เข้ามาปกครองชาวไทเยี่ยงทาสออกไปได้แล้ว คณะกู้เมือง
ประกอบด้วย บุญปัน เจ้าเมืองเชียงแส สีเภา กุมภวา จุไท จันเสน ลำพูน นางบุญฉวีและกุฉิน ชาวมืองเชียงแสและชาวเมืองลือ ได้ประชุมกันเพื่อตั้งเจ้าเมืองปกครองเมืองลือใหม่
ในที่ประชุม สีเภา คณะกู้เมืองชาวลือ กล่าวขึ้นเป็นคนแรกว่า เมืองลือใหม่อันมีเมืองเชียงแสรวมอยู่ด้วยนี้เราจะปกครองด้วยวิธีใด
จันเสน ชาวเมืองเชียงแส กล่าวขึ้นเป็นคนที่สองว่า การปกครองนั้นต้องมีการใช้อำนาจ พวกเราได้เห็นทหารจิ๋นใช้อำนาจปกครองพวกเรามาแล้ว อำนาจทำให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าอยู่เหนือราษฏร ความกระด้างหยาบช้าต่างๆก็จะเกิดขึ้นในใจของผู้ใช้อำนาจ และข่มเหงรังแกพวกเราตามอำเภอใจ จะเห็นว่าอำนาจนั้นทำให้คนต่ำช้าได้
มาบัดนี้เราขับไล่ทัพจิ๋นออกไปแล้ว อำนาจตกอยู่กับไทพวกเรากันเอง ไม่ว่าเราจะให้ใครเป็นผู้มีอำนาจปกครองเรา ก็จะเกิดการแบ่งออกเป็นสองฝ่ายเสมอ ฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ใช้อำนาจ และอีกฝ่ายหนึ่งคือราษฏรที่อยู่ในอำนาจ ในที่สุดความชั่วจะเกิดแก่ผู้ใช้อำนาจและความเดือดร้อนจะเกิดแก่ผู้ถูกใช้อำนาจ ความอัปยศจะมีมากขึ้นกว่าที่เราอยู่ใต้การปกครองของจิ๋น เพราะคนไทยด้วยกันจะกดขี่กันเอง
ทำอย่างไรจึงจะหลีกเลี่ยงความชั่วร้ายนี้ได้ ข้าขอให้เปลี่ยนวิธีการปกครองใหม่ คือ เราควรให้อำนาจแก่ชาวเมือง ให้ชาวเมืองใช้อำนาจปกครองเท่าเทียมกัน งานใดที่ชาวเมืองสามารถทำกันเองได้ก็ให้เขาทำกันไป และถ้าจำเป็นต้องตั้งเจ้าเมือง ก็ให้ชาวเมืองมีอำนาจถอดถอนเจ้าเมืองได้ และอย่าให้เจ้าเมืองอยู่ในตำแหน่งเกิน 1 ปี เพราะเหตุว่า “ผู้ใดอยู่ในอำนาจนาน ผู้นั้นจะรักในอำนาจนั้นและจะชั่วเพราะอำนาจนั้น”(สัญญา.56)
จุไท กรมการเมืองเชียงแสลุกขึ้นกล่าวว่า การปกครองโดยชาวเมืองตามที่จันเสนกล่าวมานั้นเป็นของใหม่ข้าเพิ่งได้ยินและขอยกย่องความเห็นที่จะให้อำนาจเด็ดขาดแก่ชาวเมือง ส่วนที่จันเสนตำหนิการให้อำนาจของเจ้าเมืองนั้นข้าไม่คัดค้าน แต่ข้าเห็นว่าที่พวกเราเสี่ยงชีวิตขับไล่ทหารจิ๋นออกไปนั้น เราเพียงเพื่อให้ชาวเชียงแสและชาวลือพ้นจากความเป็นทาส มิได้คิดไกลไปถึงให้ชาวเมืองปกครองตนเอง ซึ่งหากทำเข้าจริงๆก็มิได้ง่ายนัก พร้อมกับตั้งคำถามว่า “ ฝูงชนนั้นควรมีอำนาจอยู่ในมือหรือ แท้จริงแล้วฝูงชนไม่ต้องการอำนาจ แต่ต้องการตาม นี่เป็นธรรมดาของฝูงชน และมีบ่อยๆที่ฝูงชนปรวนแปรเหมือนเด็ก เราต้องการหนีความชั่วของเจ้าเมืองที่ใช้อำนาจเด็ดขาด แต่วิธีของจันเสนจะทำให้เกิดความชั่วของชาวเมืองที่ไม่รู้จักใช้อำนาจให้ถูกต้องแต่ถูกขืนให้ใช้อำนาจนั้น ข้าจึงไม่เห็นด้วย”(สัญญา.56) และเสริมว่า เมื่ออำนาจไม่ควรอยู่กับคนคนเดียว และไม่ควรอยู่กับฝูงชน อำนาจเด็ดขาดก็ควรจะอยู่กับคณะบุคคลคณะใดคณะหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้นั้นข้าคิดว่าไม่มีคณะใดเหมาะสมเท่ากับคณะของเรา
ที่ประชุมเงียบไปครู่ใหญ่ ในที่สุด สีเภา กล่าวขึ้นว่า อำนาจปกครองจะอยู่ที่ใครนั้นไม่สำคัญแต่อยู่ที่ว่าทำอย่างไรการปกครองจึงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกปกครอง ขณะนี้คนไทต้องการปกครองตนเองไม่ต้องการให้จิ๋นมาปกครอง แต่เรารู้ว่าจิ๋นจะกลับมาอีก “ข้างหน้าของเราจะมีแต่การต่อสู้ การทำงานในยามไม่ปกติเพื่อความอยู่รอดของปวงชนนั้นต้องรวดเร็ว ให้ทันความเร็วของศัตรู ถ้าจะมัวถกเถียงกันอยู่ข้าศึกจะมาถึงประตูเมืองเสียก่อน ยามฉุกเฉินอำนาจปกครองควรอยู่แก่คนคนเดียว”(สัญญา.57)
ที่ผมนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังก็เพียงแต่จะบอกว่า การที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปกครองบ้านเมืองอย่างเข็มงวดกวดขันนั้น ก็เพราะว่าบ้านเมืองขณะนั้นมิได้อยู่ในยามปกติ พระองค์จึงใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด เพื่อประโยชน์แก่พระสกนิกรของพระองค์
…..
อ้างอิง
วันวลิต(2546)พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิดต พ.ศ. 2182.กรุงเทพฯ : มติชน.
สัญญา ผลประสิทธิ์ (2552) คนไททิ้งแผ่นดิน.พิมพ์ครั้งที่ 20.กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.

Comments are closed.