อนุสาวรีย์เราสู้

fight fightsfightss

จิปาถะ
อนุสาวรีย์เราสู้
ไหนๆก็ผ่านอำเภอปะคำแล้ว เลยไปสักนิดหนึ่ง ตามทางหลวงหมายเลข 348 ประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงอำเภอโนนดินแดง ที่นั่นจะมีอนุสาวรีย์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ คือ อนุสาวรีย์ “เราสู้”
อนุสาวรีย์ เราสู้ เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเกียรติประวัติและวีรกรรมของประชาชน เจ้าหน้าที่พลเรือน ทหาร ตำรวจ กองอาสารักษาดินแดน (อส.) และไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ได้ผนึกกำลังกันต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ขัดขวางการสร้างทางสายยุทธศาสตร์สายสำคัญที่มีผลต่อการเมืองการปกครองและความมั่นคงของชาติ สร้างขึ้นเพื่อสกัดกั้นการเจริญเติบโตของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา
ทางหลวงสายนี้ กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างให้เป็นทางลาดยาง ระยะทางทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร เริ่มจากหลักกิโลเมตรที่ 61 ท้องที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ผ่านบ้านโนนดินแดง(ปัจจุบันยกฐานะเป็นอำเภอ) ช่องตะโก อันเป็นช่องทางที่ไปบรรจบกับทางหลวงสายตาพระยา ตรงหลักกิโลเมตรที่ 118 อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดสระแก้ว) บริษัทเกอร์สันแอนด์ซัน และบริษัทฟ้าสางหนองแคเหรียญเจริญเป็นผู้ประมูลก่อสร้างตามลำดับ แต่เนื่องจากผู้ก่อการร้ายได้ขัดขวางการก่อสร้างทาง และได้มีการต่อสู้กันในระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 110 คน ได้รับบาดเจ็บและทุพลภาพและทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก การสร้างทางใช้เวลานานถึง 5 ปี 8 เดือน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2517-2522
“เราสู้” เป็นอนุสาวรีย์ที่ กอ.รมน.จว.บร. และข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์สร้างขึ้น และได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ขอพระราชทานนาม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “เราสู้” เป็นชื่อของอนุสาวรีย์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯแก่ชาวบุรีรัมย์
อนุสาวรีย์เราสู้ตั้งอยู่ที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างเป็นประติมากรรมกลุ่มคนแบบลอยตัว ประกอบด้วยภาพ
ราษฎรชาย-หญิง ทหารตำรวจ อส. และ ทสปช. หล่อด้วยโลหะรมดำ ขนาดเท่าตัวจริง ยืนอยู่ในลักษณะหันหลังชนกัน มือถือธงชาติไทยและอาวุธในลักษณะรวมพลังต่อสู้ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูง
ที่ฐานทั้งสี่ด้าน เป็นภาพนูนสูงหล่อด้วยปูนซีเมนต์ เป็นภาพแสดงเรื่องราวของผู้คนที่แต่เดิมอยู่กันอย่างปกติสุข ภาพแสดงการสร้างทางสายยุทธศาสตร์ ภาพแสดงความร่วมมือระหว่างทหาร ตำรวจ อส. ทสปช. และประชาชนรวมพลังกันต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายจนได้รับชัยชนะ
อนุสาวรีย์นี้ออกแบบและสร้างโดยหน่วยงานในจังหวัดบุรีรัมย์ คือ ภาควิชาศิลปศึกษา วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์) ดังนั้นรูปลักษณ์ที่ปรากฏจึงแตกต่างไปจากอนุสาวรีย์แห่งอื่นๆ คือมีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นท้องถิ่น ใบหน้าของวีรชนแต่ละคน จึงเป็นใบหน้าที่คุ้นเคยของญาติพี่น้องชาวบุรีรัมย์ ถึงแม้ว่าใบหน้าเหล่านั้นจะปรากฏร่องรอยของความวิตกกังวลอยู่บ้าง แต่ดวงตาที่แสดงถึงความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ในการต่อสู้เพื่อป้องกันชาติบ้านเมือง อันเป็นคุณลักษณะของชาวบุรีรัมย์ที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้ที่มีกล้าหาญอดทนมาตั้งแต่อดีต สามารถสร้าง
อัตลักษณ์เฉพาะได้อย่างงดงาม
เนื่องจากการก่อสร้างอนุสาวรีย์ เราสู้ มีงบประมาณจำกัด ขนาดของประติมากรรมจึงสร้างได้เพียงเท่าตัวจริง ดังนั้นเมื่อนำเอาอนุสาวรีย์นี้ไปติดตั้งในบริเวณที่เป็นลานกว้าง และเป็นที่สูง อนุสาวรีย์นี้จึงดูมีขนาดเล็กลงไปถนัดตา
สำหรับผม ทุกครั้งที่ผ่านอนุสาวรีย์แห่งนี้ ก็จะแวะเข้าไปสักการะผู้กล้าทั้งหลายที่เป็นคนไทยด้วย และต้องมาต่อสู้กันเอง
ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากปัญหาการสร้างทางหลวงสายละหานทราย-ตาพระยา คิดแล้วก็ปวดหัวครับ
………
อ้างอิง
กอ.รมน.จว.บร.(2523).เราสู้. (ม.ป.ท.)
https://www.wisut.net/bureerum-article/226/ (28 เมษายน 2558)

Comments are closed.