สังคหวัตถุธรรม 4

 

จิปาถะ
สังคหวัตถุธรรม 4
มีคนถามมาว่า ทำไมท่านพญายมราชถึงได้มีใจเมตตากรุณา แตกต่างไปจากที่เขาคิดเอาเองว่า นรกภูมินั้นสยดสยองน่ากลัว ใครๆก็ไม่อยากตกนรก และนึกเลยเถิดไปว่า ท่านพญายมราชก็ดี ท่านยมทูต หรือ ท่านนิรยบาลก็ดี คงจะน่ากลัวไปด้วย

ผมเองก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะไม่เคยมีประสบการณ์เหมือนท่านจี้กงซึ่งไปท่องอเวจี หรือ พระมาลัยที่เคยไปเยี่ยมเมืองนรก
หากว่าตามเรื่องพระมาลัยนั้น ที่แรกพระมาลัยก็คิดเหมือนกับที่ท่านผู้ถามคิดนั่นแหละว่า พญายมราชนั้นจะต้องมีจิตใจโหดเหี้ยมทารุณ มิเช่นนั้นจะปล่อยให้พวกวิญญาณเหล่านั้นต้องได้รับความทุกข์ทรมานต่อหน้าต่อตาอยู่เช่นนั้นได้อย่างไร

เรื่องนี้พญายมราชได้อธิบายให้พระมาลัยฟังว่า ตัวท่านเองมีความเมตตา แต่ทุกอย่างมันเกิดจากกรรมที่วิญญาณสัตว์พวกนั้นก่อไว้เองทั้งสิ้น และกรรมนั่นแหละที่ทำร้ายพวกเขาอยู่ ซึ่งใครจะคัดค้านทัดทาน หรือช่วยเหลืออย่างไรก็ไม่ได้ ใครทำไว้อย่างไร ก็ต้องได้รับอย่างนั้น”
พระมาลัยยังติดใจสงสัยอีกว่า เมื่อท่านช่วยเหลืออะไรเขาไม่ได้ท่านจะมาอ้างว่ามีความเมตตาได้อย่างไร
พญายมราชอธิบายว่า เมื่อคนตายดวงวิญญาณจะถูกนำมาที่นี่ ข้าพเจ้าจะให้สุวานเปิดดูบัญชีความดี ความชั่วที่เขาทำไว้ ใครทำความดีไว้มากก็จะส่งไปสวรรค์ แต่ถ้าทำความชั่วไว้มาก ก็จะส่งไปลงโทษตามความผิดทันที โดยไม่มีการลดหย่อนใดๆทั้งสิ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังให้โอกาสซักถามเขาถึงความดี ที่เขาทำอีกหลายครั้ง เพราะบางทีท่านสุวานอาจจะลืมจด เพื่อจะให้เขาได้สติ ระลึกนึกถึงความดีบางสิ่งบางอย่างที่เขาทำไว้บ้าง จนกระทั่งเห็นว่าเขาไม่ได้ทำความดีอะไรจริงๆ นั่นแหละ จึงจะส่งตัวไปลงโทษ และถ้าตอนนั้นเกิดนึกขึ้นมาได้ ก็จะส่งตัวไปสวรรค์ทันที
คำถามของท่านอาจยากเกินไป พระมาลัยยังติดใจ
ไม่ยากหรอกขอรับ เรื่องความดี ข้าพเจ้าถามว่าเมื่ออยู่เป็นมนุษย์ ได้ทำบุญให้ทาน หรือช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากบ้างหรือไม่ เท่านั้นแหละ

ส่วนผมคิดว่าพญายมราชนั้น ท่านน่าจะเป็นผู้ที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะท่านเป็นผู้พิพากษาตัดสินลงโทษดวงวิญญาณให้ไปสวรรค์หรืออยู่นรก ท่านจึงต้องมีพรหมวิหารธรรม นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้ปกครองดวงวิญญาณทั้งหลายในนรกภูมิ ท่านจึงไม่ลุแก่อำนาจอคติ สามารถผูกใจเหล่าดวงวิญญาณด้วยสังคหวัตถุธรรม 4 ประการ ได้แก่

1. ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของ ตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน)
2. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือ กล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยินดี)
3. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม)
4. สมานัตตตา (ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะบุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี) (พระพรหมคุณาภรณ์.143)
ที่นำเสนอมานี้ก็เพื่อว่า หากท่านพญายมราชถามถึงความดี จะได้พอตอบท่านได้บ้างว่าได้ช่วยเหลือเกื้อกูลใครบ้าง แต่อย่าไปบอกท่านละว่า ช่วยเหลือเกื้อกูลเฉพาะแต่พวกพ้องเท่านั้น
….
อ้างอิง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต).(2553)พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.พิมพ์ครั้งที่ 18.กรุงเทพฯ:มูลนิธิ การศึกษาเพื่อสันติภาพ.

rodang

 

Comments are closed.