ศาลยกฟ้อง รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดี ม.อุบลฯ

บทความ

 

รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี:ตัวอย่างการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบของทางราชการอย่างรอบคอบรัดกุมเที่ยงธรรม

 

ตามที่ข้าพเจ้าได้นำเสนอบทความเรื่อง “อำนาจ คือ ศาลสถิตยุติธรรม ครับ บ่แม่น มึง!” โพสต์ไว้ในเวปไซด์ของข้าพเจ้าเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗ ความว่า  “รองศาสตราจารย์ธาดา สุทธิธรรม อดีตคณบดีคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องรองศาสตราจารย์นงนิตย์  ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จนเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๗ ศาลอุบลราชธานี ได้พิพากษาจำคุกรองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  เป็นเวลา ๑ ปี ๔ เดือน ปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท โทษจำรอลงอาญา ๒ ปี”  ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจผิดว่า คดีได้ถึงที่สุดแล้ว จึงไม่ได้ติดตามผลของคดี  แต่ในความเป็นจริงทั้งโจทก์และจำเลยได้ต่อสู้คดีถึงชั้นศาลฏีกา  จนคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ กลับคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานีเป็นให้ยกฟ้อง และต่อมาศาลฏีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่  ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ให้ยกฟ้อง  จากผลคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าว รองศาสตราจารย์นงนิตย์  ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงไม่มีความผิดตามฟ้องโจทก์   ฉะนั้น ข้อเขียนของข้าพเจ้าจึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้ติดตามเผยแพร่ผลของคดีถึงที่สุดในชั้นศาลฏีกาให้ครบถ้วน อันอาจเป็นเหตุให้ผู้อ่านพบเข้าใจผิดได้  เมื่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้แจ้งข้อเท็จจริงให้ข้าพเจ้าทราบ ข้าพเจ้าได้รีบดำเนินการลบโพสต์บทความที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ดังกล่าว และได้กราบขออภัย รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนะสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในความผิดพลาดบกพร่องของข้าพเจ้าเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว

 

คดีนี้ ข้อเท็จจริงมีว่า สาเหตุที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำเป็นต้องชะลอการปฏิบัติตามมติของอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (อ.ก.พ.อ.) เกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และ จรรยาบรรณ ที่ให้มหาวิทยาลัยเพิกถอนคำสั่งลงโทษวินัย รองศาสตราจารย์ธาดา นั้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยฯ และสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาในขณะนั้น มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ที่กระทำโดย มติอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (อ.ก.พ.อ.ฯ) ให้มหาวิทยาลัยปฏิบัติ โดยที่ไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ถือเป็นการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย เพราะ อ.ก.พ.อ. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์แทน ก.พ.อ. เนื่องจากกฏหมายกำหนดให้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอำนาจโดยเฉพาะของ  ก.พ.อ. ที่ไม่สามารถมอบให้บุคคลและคณะบุคคลอื่นใดทำการแทนได้

 

ปัญหาข้อกฎหมายหมายกรณี อ.ก.พ.อ.ฯ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยแทน ก.พ.อ. นี้ ได้มีความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา จำนวน ๒ ฉบับ คือ  ๑) บันทึกความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เรื่องเสร็จที่  ๓๘๙/๒๕๕๗ คณะกรรมการกฤษฏีกา คณะที่ ๙ เห็นว่า อ.ก.พ.อ. มีเพียงอำนาจในการพิจารณาดำเนินการ ตามขั้นตอนต่างๆที่เกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.อ.  ที่กำหนดในข้อบังคับของ ก.พ.อ. เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอความเห็นต่อ ก.พ.อ. เท่านั้น โดยไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์แทน ก.พ.อ. แต่อย่างใด  ๒) บันทึกความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๑๓๑๔/๒๕๕๗ คณะกรรมการกฤษฎีกาโดยที่ประชุมร่วมระหว่างสามองค์คณะ มีความเห็นยืนยันความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๙ ตามบันทึกเรื่องเสร็จที่  ๓๘๙/๒๕๕๗   จึงถือเป็นยุติในฝ่ายบริหารว่า        อ.ก.พ.อ.ฯ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์แทน ก.พ.อ.  ดังนั้น ผลการพิจารณาอุทธรณ์ที่กระทำเป็น มติ อ.ก.พ.อ.ฯ ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันต่อมหาวิทยาลัยเพราะกระทำโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจ

 

จากข้อเท็จจริงดังนำเสนอมา ข้าพเจ้าขอเรียนให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่า การที่รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยฯ ได้ชะลอการปฏิบัติตามมติ อ.ก.พ.อ. ฯ เพื่อรอการตรวจสอบความชอบด้วยกฏหมายของคำสั่งดังกล่าว  อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามกฏหมาย ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเที่ยงตรงรอบครอบรัดกุม มิได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามกฏหมาย คือ มิได้เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด ซึ่งศาลฏีกาพิพากษา “ยกฟ้อง” เป็นที่สิ้นสุดไปแล้ว  ข้าพเจ้าจึงเรียนมาเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบและเข้าใจตามนี้ด้วย

ข้าพเจ้า รองศาสตราจารย์วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ขอกราบขออภัย รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อีกครั้งหนึ่ง ในข้อบกพร่องที่ปล่อยปะละเลยมิได้ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน

ข้าพเจ้าขอความกรุณาให้ผู้อ่านได้โปรดช่วยแชร์บทความนี้ให้กว้างขวางเพื่อทราบความเป็นจริงโดยทั่วไปด้วยครับผม

ขอขอบคุณครับ

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

……………..

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *