มาอ่านและเขียนหนังสือกันเถอะ

nos
จิปาถะ
มาอ่านและเขียนหนังสือกันเถอะ

ในสมัยที่เรียนศิลปะ ผมมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่หามรุ่งหามค่ำไปกับการเขียนรูปหรือปั้นรูป ส่วนการอ่านหนังสือนั้นแทบจะไม่สนใจเอาเสียเลย หากจะอ่านก็มักจะอ่านแต่เรื่องที่ค่อยมีสาระ ยิ่งบทเรียนยิ่งไปกันใหญ่ จะหยิบขึ้นมาอ่านก็รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมาทันทีทันใด ยิ่งการเขียนด้วยแล้ว ลืมไปได้เลย จะถนัดก็แต่การลอกเขาเท่านั้น สรุปได้ว่า ผมนั้นขี้เกียจอ่านและขี้เกียจเขียนจริงๆ”

ผมไม่เคยรู้เลยว่า เปาโล แฟรร์ (2547.44) นักปราชญ์ด้านการศึกษา ชาวบาซิล ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก กล่าวไว้ว่า “การอ่านคือการแสวงหา เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เราอ่าน ดังนั้น ในบรรดาความจำเป็นพื้นฐานทั้งหลาย การสอนให้อ่านและเขียนอย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด”

คำกล่าวของ เปาโล แฟรร์ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การอ่านกับการเขียนเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และควรส่งเสริมให้อ่านและเขียนอย่างถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร นักการศึกษาของเราจึงไม่ได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญเหล่านี้

ผมเคยฟังเขาพูดกันว่า การสอนให้อ่านนั้นสำคัญพอๆกับการสอนให้เขียน หมายความว่า เมื่ออ่านแล้วต้องนำเรื่องที่อ่านนั้นมาเขียนใหม่ให้ได้ คนที่พูดได้ยกเอาคำกล่าวของ เปาโล แฟรร์ ที่ว่า “เราต้องไม่ใช่แค่อ่านตัวบท แต่ต้องเขียนบันทึก ต้องเขียนรายงาน และเขียนตำราเล่มเล็กๆเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้อ่าน เราต้องอ่านงานเขียนของนักเขียนชั้นดี นักเขียนนวนิยายชั้นดี อ่านงานของกวี นักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญาตลอดจนผลงานของคนที่ไม่กลัวการใช้ภาษาเพื่อแสวงหาความงาม ความเรียบง่าย และความชัดเจน”(แฟรร์.2547.53)

นอกจากนั้นยังมีคนเสนอแนะผมว่า ถ้าผมอยากเขียนได้ ผมจะต้องอุทิศเวลาอย่างน้อยสัปดาห์ละสักสองสามครั้งเพื่อเขียนอะไรบางอย่าง อาจจะใช้วิธีบันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่ได้อ่าน หรือวิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานเหตุการณ์จากสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ หรือเขียนจดหมายถึงคนที่ไม่รู้จัก หรือเขียนอะไรก็ได้ แต่อย่าลืมลงวันที่ไว้ และเมื่อเวลาผ่านไป ลองกลับมาอ่านใหม่ วิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ข้อเขียนที่เขียนไว้

ผมไม่ได้ทำตามคำเสนอแนะนั้นหรอก เพราะผมขี้เกียจอ่าน ตอนที่ผมอยู่อยุธยา ผมจะไปเที่ยวดูตามสถานที่ต่างๆที่ผมสนใจ สังเกตสิ่งต่างๆที่พบเห็น หากเกิดข้อสงสัย ผมจึงมาหาคำตอบจากหนังสือ ท่านเชื่อไหมว่า ผมตกใจมากเมื่อได้อ่านหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก ที่เป็นเช่นนั้น เพราะหนังสือเหล่านี้ผมควรจะอ่านมาตั้งนานแล้ว

จากนั้นผมก็เริ่มเขียน เขียนสิ่งที่ผมรู้และสิ่งที่ผมได้เห็นมา และเขียนตามที่ผมเขียนได้ ผมจะเขียนไปที่ละบรรทัด จากหนึ่งบรรทัด เพิ่มเป็นหนึ่งพารากราฟ เป็น 1 หน้า 2 หน้า และเป็น 5-6 หน้าตามลำดับ เมื่อเขียนแล้ว ผมจะอ่านทบทวนอย่างน้อย 30 เที่ยว จงอย่าเบื่ออ่านสิ่งที่ตัวเองเขียน ที่ผมทำอย่างนี้ได้ ผมใช้คาถาครับ คาถาของผมคือ “ผมชอบเขียนและอยากเขียนได้” ฉะนั้น คุณต้องอยากเขียนก่อนแล้วคุณจะเขียนได้ และตอนนี้ผมเขียนได้แล้วครับ

เมื่อปีที่แล้วมีคนที่บุรีรัมย์ ขอให้ผมเลิกเขียน จะเพื่ออะไรก็ไม่รู้ได้ ผมเลยตอบไปว่า “ให้ตายซิครับ ผมทำตามที่ขอไม่ได้จริงๆ”
…….
อ้างอิง
เปาโล แฟรร์(2547) สดใส ขันติวรพงศ์ แปล.ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม จดหมายถึงผู้ที่กล้าสอน.
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

Comments are closed.