พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จังหวัดบุรีรัมย์

ramaramasla-ongs

จิปาถะ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จังหวัดบุรีรัมย์

จังหวัดบุรีรัมย์นั้น นอกจากจะเป็นเมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรมแล้ว ยังมีทั้งอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานอีกหลายแห่ง ซึ่งผมได้นำเสนอไปแล้ว 2 แห่ง คือ อนุสาวรีย์ “เราสู้” และ “อนุสรณ์สถานประชาชน อีสานใต้” วันนี้จึงขอนำเสนออนุสาวรีย์ที่สำคัญที่สุดของจังหวัดบุรีรัมย์อีกแห่งหนึ่ง คือ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฏความตามคำกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารในพิธีวางศิลาฤกษ์พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ณ บริเวณวงเวียนสี่แยกถนนสายบุรีรัมย์-สตึก ตัดกับถนนสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย เมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2538 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ (นายพร เพ็ญภาส) ความว่า
“จากหลักฐานการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ทราบว่า เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2319 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี ได้เป็นแม่ทัพยกไปปราบกบฏพระยานางรอง เมื่อเสด็จฯกลับได้พบเมืองร้างมีชัยภูมิดี จึงได้รวบรวมผู้คนแล้วก่อตั้งเมือง ชื่อว่า “เมืองแปะ” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เมืองบุรีรัมย์”
ด้วยจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ และเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีพุทธศักราช 2539 ประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ จึงต่างพร้อมใจกันจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์สถานในการสักการะและน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศูนย์รวมจิตใจที่แสดงออกถึงความยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และมหาจักรีบรมราชวงศ์”
การก่อสร้างพระบรมรูปฯ มีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง พระบรมรูปฉลองพระองค์แบบนักรบตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ประทับอยู่บนคอช้างศึก หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ตั้งอยู่บนฐานกว้าง 4 เมตร ยาว 8.80 เมตร และสูง 10 เมตร กรมศิลปากรรับเป็นหน่วยดำเนินการปั้นและหล่อ งบประมาณดำเนินการจากเงินบริจาค ประมาณ 15 ล้านบาท”
เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเปิดพระบรม ราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2542 เวลา 17.00 นาฬิกา ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้
เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา คือเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วยข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และพ่อค้า ประชาชนได้ทำพิธีบวงสรวงสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งที่ 29 โดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ (นายทำนอง ศรีเมือง) เป็นประธานในพิธีฯ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ นายอำเภอประโคนชัย และคณะฯ เป็นเจ้าภาพประกอบพิธีบวงสรวงฯ ผศ.ดร.ละออง ภู่เงิน ประธานชมรมจิตอาสาบุรีรัมย์สันติสุข และคณะฯ เป็นเจ้าภาพ ประสานงานและอำนวยการจัดพิธีบวงสรวงฯ นายสุเทพ พันธุระ ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอเมืองบุรีรัมย์บันทึกภาพกิจกรรม
จากที่นำเสนอมาแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ยังคงแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และมหาจักรีบรมราชวงศ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดมา จึงปรากฏว่าได้มีการทำพิธีบวงสรวงสักการะพระบรมรูปฯ เป็นครั้งที่ 29 ท่านละครับ เคยไปร่วมกิจกรรมอันเป็นความงดงามและเป็นมงคลนี้บ้างแล้วหรือยัง ครับ
……….
อ้างอิง
จังหวัดบุรีรัมย์.(2538)พิธีวางศิลาฤกษ์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช.กรุงเทพฯ : จูน พับลิชชิ่ง.
………………(2542).พิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จังหวัดบุรีรัมย์.อยุธยา : สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.
วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ.(2541).การประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
มหาราช. จังหวัดบุรีรัมย์.อยุธยา: สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

Comments are closed.