ปู่สลด

coffee

สคริฟ บทละครโทรทัศน์ เรื่อง หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน ปู่สลด*  เค้าโครงจากเรื่องจริง
ผู้แต่ง วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ
………
ปู่สลด
ฉาก : ภายในร้านกาแฟ ที่สถานีบริการน้ำมัน
เพลง : Unforgettable,Originated by: Nat King Cole,Covered by : Natalie Cole; duet with the late, great Nat King Cole
บรรยากาศ : ที่เคาเตอร์มีพนักงานหญิง 2 คน กำลังง่วนอยู่กับการจัดโน่นจัดนี่ในการบริการลูกค้า มุมโต๊ะด้านขวา เป็นวัยรุ่นหญิงชายนั่งเล่น iPhone หัวเราะต่อกระซิกกันอยู่ บนโต้มีกาแฟปละขนมเค้ก บริเวณอื่นเป็นโต๊ะว่าง นานๆครั้งจะมีคนเดินเข้าออกเพื่อซื้อกาแฟ
ชอตที่ 1 : กล้องจับไปที่หญิงวัยเกษียณในชุดเขียวอ่อนลายดอกไม้ เดินเข้ามาพร้อมกับพ่อที่แต่งกายลำลองสบายๆ ตรงไปที่โต๊ะว่างด้านซ้ายมือ ลูกสาวช่วยเลื่อนเก้าอี้ให้พ่อนั่ง และถามพ่อว่า
ลูก : พ่อเอากาแฟอะไร ร้อนหรือเย็น (ว่างสิ่งของที่ถือมา เช่น กระเป๋า โทรศัพท์ กุญแจรถไว้ที่มุมโต๊ะ มีเสียงพ่อตอบ)
พ่อ : เอา เอสเปรสโซ ร้อน ลูก
ลูก : เค้กไหม พ่อ
พ่อ :ไม่ ไม่
กล้องจับภาพตามลูกสาวซึ่งกำลังเดินไปที่เคาเตอร์ จากนั้นแพนกล้องไปรอบๆเพื่อนำเสนอบรรยากาศภายในร้าน ช่วงนี้มีคนเดินเข้ามาซื้อกาแฟแล้วเดินออกไป จากนั้นกล้องแพนไปที่สภาพแวดล้อมที่เป็นต้นไม่ ดอกไม้รอบๆร้าน

ชอตที่ 2 : ลูกสาวถือถ้วยกาแฟร้อนมาให้พ่อ ด้วยมือขวา มือซ้ายถือกาแฟเย็นเดินมานั่งที่โต๊ะ นั่งหันหน้าเข้าหากัน ทั้งคู่เริ่มดื่มกาแฟที่ซื้อมา จากนั้นพ่อจึงเริ่มต้นสนทนา (ใช้กล้อง 2 ตัว สลับไปมาในนำเสนอบรรยากาศของการสนทนา)
ลูก : เป็นไงพ่อ กาแฟ
พ่อ : ก็โอ เค (เงียบไปคู่หนึ่ง และพ่อเริ่มตั้งคำถาม)
พ่อ : นี่ลูก พ่อขอถามอะไรหน่อยนะ
ลูก : ได้ พ่อ
พ่อ : เรื่องอาจารย์ที่เขาลาออกจากราชการ ลูกอนุมัติให้เขาลาออกหรือยัง (ตามองมาที่ลูก)
ลูก : หนูเซนต์ให้ออกไปแล้วพ่อ ขืนช้าก็จะโดนข้อหา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นะซิพ่อ (พูดและยกถ้วยกาแฟขึ้นดูด)
พ่อ : ทำไมล่ะ (เน้นเสียงเล็กน้อย)
ลูก : ทีแรกหนูคิดว่า มันจะลาออกไม่ได้ ถ้าหนูไม่เซ็นอนุมัติ ทั้งนี้เพราะมันติดทุน สกอ. และทุนเงินเดือน หนูให้มันเอาเงินสดมาจ่ายก่อน ถ้าไม่จ่าย หนูจะไม่อนุมัติให้ออก
พ่อ : ใช้สรรพนาม “เขา” แทนคำว่า “มัน” ไม่ดีกว่าหรือลูก
ลูก : “มัน” นะดีแล้วล่ะ สาสมแล้ว (เน้นเสียง)
พ่อ : เอา..ตามใจลูก
พ่อ : แล้วอย่างไร (แสดงสีหน้าสงสัย)
ลูก : มันแย้งว่า เรื่องการลาออกกับเรื่องทุนเป็นคนละเรื่อง มันว่าเมื่อลาออกจะต้องอนุมัติให้ออกหรือถ้ายังไม่ให้ออก ก็ต้องยับยั้งหลังจากได้รับใบลาออกภายในเวลา 1 เดือน การยับยั้งทำได้ครั้งเดียวเป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน ส่วนทุนมันว่าเป็นเรื่องของมัน มันว่ามันมีสิทธิใช้ทุนด้วยเวลาในที่ทำงานใหม่ได้ แต่หนูไม่สนใจหรอก มันก็พูดเอาแต่มันได้
พ่อ : แล้วต่อไปอย่างไรล่ะ
ลูก : เมื่อครบ 90 วัน มันก็หายหัวไปเลย หนูทำหนังสือไปสั่งให้มันกลับมาเซ็นชื่อปฏิบัติงาน บอกมันไปว่า ถ้าไม่มาจะตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัย โทษไล่ออกเชียวนะพ่อ แต่มันไม่ยอมมา (ทำสีหน้าหยิ่ง ๆ )
พ่อ : แล้วลูกทำอย่างไร (แสดงสีหน้าสงสัยยิ่งขึ้น พร้อมยกกาแฟขึ้นดื่ม)
ลูก : หนูเลยตรวจสอบข้อกฏหมายดูว่า จะจัดการกับมันอย่างไรได้บ้าง แต่ ปรากฏว่า เรื่องลาออกเป็นสิทธิของมันจริงๆ ทำอะไรมันไม่ได้ เพราะมันลาออกเกิน 90 วันมาแล้ว หนูจึงต้องรีบเซ็นอนุมัติย้อนหลังให้มันออกไป
พ่อ : ก็ดีแล้วนี่ลูก จะได้หมดเรื่องหมดราวกันไปเสียที เพราะสิ่งที่ลูกทำนั้น พ่อก็ไม่ค่อยเห็นด้วยหรอก (หยุดนิดหนึ่งและพูดต่อ) เขาเป็นลูกคนเดียว พ่อก็เสียแล้ว เขาจะไปดูแลแม่เขาซึ่งป่วย พ่อไม่เข้าใจว่าลูกหน่วงเหนี่ยวเขาไว้ทำไม
ลูก : พ่อ..พ่อไม่รู้อะไร อียายนี่มันร้าย มีแบ็คดีเสียด้วย ดูเหมือนเพื่อนพ่อนั่นแหละเป็นแบ็ค ลูกต้องจัดการมันให้ได้ (เน้นเสียงที่คำว่าต้อง)
พ่อ : ลูกจะทำอย่างไรล่ะ
พ่อ : ที่แรกหนูจะให้มันใช้ทั้งทุน สกอ.และทุนเงินเดือน แต่ทาง สกอ.เขาไม่สนับสนุนก็เลยต้องยินยอมให้มันไปใช้ทุนเป็นเวลาในที่ทำงานใหม่ ส่วนทุนเงินเดือนหนูไม่ยอม มันต้องเอาเงินมาใช้ เพราะมันเป็นอำนาจของหนู
พ่อ : ทำไมลูกถึงทำอย่างนั้นล่ะ เมตตาเขาบ้างซิลูก เงินก็ไม่ใช่ของลูกสักหน่อย
ลูก : ไม่ได้ อียายนี่ต้องเอามันให้เข็ด (เน้นปากและเสียง)
พ่อ : ลูกทำไมถึงได้อาฆาตมาดร้ายเขาอย่างนั้น (ท่าทางตัดพ้อ)
ลูก : ไม่รู้ละ ตอนนี้มันทำเรื่องมาขอให้ทบทวนคำสั่งการใช้ทุนเงินเดือนมาด้วยนะ อวดดีจริงๆ อ้างว่า มันมีสิทธิตามระเบียบที่ให้ไปใช้ทุนเป็นเวลาในที่ทำงานใหม่ได้ แต่ลูกตอบมันไปแล้วว่า ไม่ และไม่เป็นไม่ (เน้นเสียงหนักแน่นที่คำว่า ไม่เป็นไม่) เพราะระเบียบได้ให้อำนาจหนูไว้ และหนูจะใช้อำนาจนั้น
พ่อ : ลูกทำอย่างนั้นได้ไงล่ะ อำนาจนั้นเขาให้ลูกไว้จริง แต่ลูกต้องใช้อำนาจนั้นด้วยความชอบธรรม ไม่ใช่ทำตามใจตนเอง
ลูก : ไม่รู้ละ จะต้องเล่นงานมันให้ได้ (พ่อทำท่าจะพูดต่อ)
ลูก : พ่อ.. พอแล้วพ่อ หยุด..หยุด..หยุดพูดเรื่องนี้ได้แล้ว (เน้นเสียงดังและลุกขึ้นจากเก้าอี้)
ลูก : ไป….ไปเถอะ พ่อ (เสียงลักษณะออกคำสั่ง)
พ่อ : เดี๋ยวก่อนลูก นั่งลงก่อนซิลูก…. ลูกนั่งลงก่อน (เอื้อมมือไปแตะแขนลูก ทำเสียงอ่อน)
ลูกสาวไม่ฟังเสียง เดินสะบัดก้นออกจากร้านไป กล้อง ซูมไปที่ใบหน้าสลดของพ่อ เน้นที่ดวงตาทั้งคู่ ซึ่งเอ่อด้วยน้ำตา ซูมให้ภาพมัว และมีเสียงแหบแห้งของพ่อ
พ่อ : ท่านนิรยบาล ผมเข้าใจแล้วละ พาผมกลับเถอะ
……..
พจนานุกรม *สลด[สะหฺลด] ก. สังเวชใจ รู้สึกรันทดใจ เผือด ถอดสี เช่น หน้าสลด
เฉา เหี่ยว (ใช้แก่ใบไม้ดอกไม้ซึ่งขาดนํ้าเลี้ยงหรือถูกความร้อน) เช่น ต้นไม้ถูกความร้อนมาก ๆ ใบสลด.