น้ำลายรดหน้าจงอย่าเช็ด

จิปาถะ

ประวัติศาสตร์จีนในสมัย บูเซ็กเทียน มีมหาอำมาตย์ที่มีคุณธรรมสูงท่านหนึ่ง ชื่อโหลวซือเต๋อ เมื่อน้องชายของท่านได้รับพระมหากรุณาแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้ว่าราชการใต้โจว ก่อนไปรับตำแหน่งน้องชายท่านได้เดินทางมาลาท่านเพื่อขอคำชี้แนะ
โหลวซือเต๋อพูดกับน้องชายของเขาว่า
“ครั้งนี้เจ้าได้รับพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงนัก อาจมีเหตุให้เกิดการอิจฉาริษยาได้ เมื่อพบคนเช่นนี้เข้า เจ้าจะหลีกเลี่ยงด้วยประการใด”
น้องชายตอบว่า
“ถ้าหากเขาถ่มน้ำลายรดหน้า ข้าพเจ้าก็จะเช็ดเสียเองโดยไม่โต้ตอบ”
มหาอำมาตย์โหลวหัวเราะแล้วชี้แจงว่า
“นั่นยังไม่ถูกต้อง การที่เขาถ่มน้ำลายรดหน้าเจ้า แสดงว่าเขาโกรธเกลียดเจ้า หากเจ้าเช็ดน้ำลายของเขาออกเสีย ก็เท่ากับเป็นการยั่วยุให้เขาโกรธเกลียดเจ้ามากขึ้น สิ่งที่เจ้าควรทำคือยิ้มรับแล้วปล่อยให้น้ำลายแห้งไปเอง”(ศุภนิมิต.21)
เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องของขันติ คือ“ความอดทน, ความทนทานทางจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติหรือการปฏิบัติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบ ไม่ลุอำนาจกิเลส”(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยฺโต).(2553 :239 )
ดังนั้น คำของโหลวซือเต๋อ ที่ว่า “น้ำลายรดหน้าจงอย่าเช็ด” ถือได้ว่าเป็นใบเบิกทางให้น้องชายก้าวไปสู่ความสำเร็จ
แต่สำหรับนางแต้มของผม อย่าไปพูดถึงถ่มน้ำลายรดหน้าจงอย่าเช็ดเลย เพียงแต่จะอ้าปากพูด แม่ก็แหวใส่เสียก่อนแล้ว
(แม่แหว) แต่ดีแล้วละ ขืนปล่อยให้ถ่มน้ำลายรดหน้า ก็จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเต็มไปหมด เดี๋ยวจะไม่รู้ว่าเป็นหน้าใคร
………………………..
อ้างอิง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยฺโต).(2553).พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
เพิ่มทรัพย์การพิมพ์
ศุภนิมิต(แปลเรียบเรียง).(2535).ปราชญ์สอนว่า.กรุงเทพฯ : บริษัท มีเดียโฟกัส จำกัด
face

 

Comments are closed.