ท้าวอู่ทอง

dragon

จิปาถะ
ท้าวอู่ทอง
เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ผมช่วยราชการอยู่ที่สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ปรกกฏว่าในขณะนั้นโบราณสถานในเกาะเมืองและนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยายังมีสภาพที่เป็นโบราณสถานจริงๆ ไม่ได้ออกแบบบูรณะขุดตกแต่งให้มีลักษณะเป็นของใหม่เหมือนทุกวันนี้
แต่ก่อนนั้นซากปรักหักพังของวัดวาอารามที่มีเถาไม้เกาะเกี่ยวเป็นเสน่ห์ตรึงใจให้หลงใหล สามารถสร้างความรู้สึกรักและหวงแหนสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ผมจะเพลิดเพลินอยู่กับการสำรวจวัดโน้นวัดนี้แทบทุกวัน แสงอาทิตย์ยามเย็นสร้างแสงเงาบนพระเจดีย์สามองค์ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ยังคงประทับใจผมอยู่ไม่รู้ลืม
ทุกครั้งที่ผมถูกขอร้องให้นำชมโบราณสถานในนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อได้ไปยืนอยู่ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์นี้ ผมชอบที่จะอธิบายว่า ชนชาติไทยของเราเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลายามนานมาก แต่น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์ของเรากระท่อนกระแท่นเต็มที แค่ 400 กว่า ปี เรายังไม่รู้อย่างแน่ชัดเลยว่า สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 1893 นั้น ท่านเสด็จมากจากไหน แต่ช่างเถอะ เมื่อยืนอยู่ ณ ที่นั้น ผมชอบเล่าเรื่องที่วันวลิตเขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2182 ถึงสาเหตุที่ท้าวอู่ทองสร้างเมืองบนเกาะนี้ ดังความโดยย่อ ดังนี้
วันหนึ่งเมื่อท้าวอู่ทองเสด็จเข้าไปในเกาะ พระองค์ทรงฉงนพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่สถานที่สวยงามเช่นนี้ ไม่มีคนอาศัยหรือตั้งเมืองอยู่ ณ ที่นั้นพระองค์ได้พบพระฤาษีตนหนึ่ง ซึ่งทูลพระองค์ว่า ณ ที่นี้เป็นเมืองมาก่อน แต่ได้เสื่อมโทรมลงไป และทูลว่าไม่มีใครกล้าสร้างเมืองบนเกาะนี้ได้อีก สาเหตุก็คือ บริเวณกลางเกาะมีบ่ออันเป็นที่อยู่อาศัยของมังกรหรือนาคราช เมือใดก็ตามที่มังกรนี้ถูกรบกวน มันก็จะพ่นพิษออกมา ทำให้บริเวณเกาะเกิดโรคระบาดผู้คนเจ็บป่วยล้มตายกันจนหมดสิ้น
ท้าวอู่ทองตรัสถามพระฤาษีว่า จะฆ่ามังกรนี้และถมบ่อนั้นได้หรือไม่
พระฤาษีกราบทูลว่า ไม่มีวิธีใดที่จะแก้ไขได้ นอกจากต้องหาฤาษี(มีลักษณะเช่นเดียวกับข้าพระองค์นี้)โยนลงไปให้มังกร และกล่าวต่อว่า ผู้ที่จะสร้างเมืองบนเกาะนี้ได้ ต้องสามารถทำสิ่งทั้ง 3 ประการนี้ได้ด้วย คือ
1. ยิงธนูออกไปแล้วให้กลับมาเข้ากระบอกธนูได้
2. ต้องชโลมร่างกายทุกวันด้วยมูลโค
3. ต้องเป่าเขาสัตว์ทุกวัน
ท้าวอู่ทองตรัสว่า พระองค์สามารถทำตามที่พระฤาษีแนะนำได้ จึงมีพระบรมราชองค์การให้สืบเสาะหาพระฤาษีที่มีลักษณะดังกล่าว และ พระองค์เสด็จลงเรือเล็ก มุ่งสู่กลางแม่น้ำ พระองค์ยิงลูกธนูไปยังต้นน้ำ ในขณะที่ลูกธนูไหลตามน้ำลงมา พระองค์จะใช้กระบอกลูกธนูตักลูกธนูไว้ได้ แทนที่พระองค์จะใช้มูลโค ชโลมพระวรกาย พระองค์กลับใช้ข้าวผสมกับน้ำมันขี้ผึ้งเล็กน้อย ตรัสว่าข้าวขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้ใส่ปุ๋ยมูลโค ทั้งนี้พระองค์ทรงหมายความว่ามูลโคเป็นส่วนหนึ่งของข้าว ส่วนเรื่องเป่าเขาสัตว์นั้น พระองค์ให้มวนใบพลู และเสวยเป็นหมากพลู ซึ่งย่อมมีลักษณะเหมือนเป่าเขาสัตว์

 

“ พระฤาษีทูลว่า พระองค์ทรงสามารถทำลูกธนูให้หวนกลับมาหาพระองค์ได้ หมายความว่าประชาชนของพระองค์จะสามัคคีซึ่งกันและกัน สงครามภายในอาณาจักรจะไม่ปรากฏ ประการที่สองเนื่องจากพระองค์ใช้วิเทโศบายในการใช้มูลโค ดังนั้น พระองค์และประชาชนของพระองค์จะได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไข้ทรพิษบ้างเล็กน้อย ประการที่สาม เนื่องจากพระองค์ได้ใช้ใบพลูมวนให้เหมือนเขาสัตว์ เทพยดาจะรักพระองค์มากมาย และจะนำโชคชัยมาสู่พระองค์ด้วย” (วันวลิต.28)
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าท้าวอู่ทองไม่สามารถหาพระฤาษีที่มีลักษณะตามที่กล่าวนั้นได้ ดังนั้นขณะที่พระองค์และพระฤาษียืนอยู่ขอบบ่อ ท้าวอู่ทองได้ทรงเหวี่ยงพระฤาษีลงไปในบ่อและถมบ่อเสีย
ครับ แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มรดกโลก ก็เป็นเมืองที่น่าจะต้องไปเที่ยวชมและศึกษากันเสียแล้วละครับ

อ้างอิง
วันวลิต(2546)พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิดต พ.ศ. 2182.กรุงเทพฯ : มติชน.

 

Comments are closed.