ต่างชนิดกัน

differ
จิปาถะ
ต่างชนิดกัน
การทำงานนั้น นอกจากจะมีเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาคอยดูแลให้คุณให้โทษแล้วก็จะมีเพื่อนร่วมงาน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใกล้ชิด ถ้าเราเป็นคนโชคดีได้ผู้ใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานที่ดี การทำงานก็จะสนุกสนาน เรื่องยากก็กลายเป็นเรื่องง่าย และเรื่องง่ายก็จะง่ายยิ่งขึ้น แต่ถ้าได้เพื่อร่วมงานที่เห็นแก่ตัวเอารัดเอาเปรียบก็ต้องมีเรื่องให้หงุดหงิดใจ หากยอมเสียเปรียบบ้างก็พอถูๆไถๆไปได้ นอกเวลาทำงานก็อย่าได้มายุ่งกัน แต่ก็คงไม่หนักหนาสากรรจ์เท่ากับมีเจ้านายที่เห็นแก่ตัว คิดเล็กคิดน้อย อาฆาตแค้น กีดกันกลั่นแกล้ง ขาดเมตตาธรรม อันนี้ถือว่าสุดโหดสำหรับการทำงาน ซึ่งถ้าไม่มีทางไปก็ทนๆเอา เพราะเจ้านายนั้นอยู่ไม่นานเดียวก็ไป แต่ถ้ามีช่องทางที่ดีกว่าก็เปิดตูดไปเลย อย่าอยู่ให้ปวดกะโหลก

“ธรรมดาคนที่อยู่ใกล้ชิดกัน ถ้าเราทำเอื้อเฟื้อเห็นแก่เขาๆก็คงเห็นแก่เราบ้าง เว้นแต่เมื่อเขาเป็นสัตว์ต่างชนิดกับเรานั่นแหละจนใจอยู่ (น.ม.ส.2539:72) ที่ยกมานั้นเป็นคำกล่าวของ น.ม.ส. หรือ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ในจดหมายจางวางหร่ำ ซึ่งเป็นจดหมายของนายจางวางหร่ำ เศรษฐีเมืองฉะเชิงเทรา เขียนอบรมสั่งสอนบุตรชายซึ่งออกไปเรียนวิชาอยู่ในเมืองอังกฤษ

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ยังได้แนะนำต่อไปอีกว่า “การที่จะประพฤติอย่างไรจึงจะสมควรกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดนั้น จะเปรียบได้อีกอย่างหนึ่งก็ว่า ถ้าแม่โคของเจ้าเป็นสัตว์ใจหงุดหงิด แลถ้าเจ้าไม่ต้องการอันใดนอกจากความสนุก เจ้าจะฉุดหางล้อมันเล่นก็ได้ แต่ถ้าเจ้าต้องการนมงัว ไม่ต้องการสงคราม เจ้าก็คงจะเข้าข้างๆแล้วพูดปลอบโยนมันด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวาน อนึ่ง เจ้าจะต้องเข้าใจตำราสัตว์พอที่จะทราบว่าแม่โคตัวไหนเตะเก่งก็จริง แต่ถ้าปลอบโยนดีๆ ก็ยอมให้รีดนมง่ายๆ แลตัวไหนไม่ใช่แต่เตะเก่งอย่างเดียว ถึงเจ้าจะนอบน้อมเข้าไปหยุดนั่งพนมมือไหว้ทุกๆสามก้าวก็ยังเตะอยู่นั่นเอง งัวชนิดนี้เรื่องรีดนมเป็นอันยก ถ้าจะเข้าใกล้มันก็ต้องให้มีรั้วคั่น ถ้าไม่เช่นนั้นขึ้นนั่งบนคบไว้ก่อนเป็นดี” (น.ม.ส.2539:73) สรุปว่าสัตว์ทุกชนิดนั้นจะเข้าใกล้ทำเป็นเล่นกับมันไม่ได้ ต้องรู้ธรรมชาติของมันพอสมควร

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ สิ่งที่ต้องการจะนำเสนอมีเพียงประโยคเดียว เพราะชอบมาก คือ “ธรรมดาคนที่อยู่ใกล้ชิดกัน ถ้าเราทำเอื้อเฟื้อเห็นแก่เขาๆก็คงเห็นแก่เราบ้าง เว้นแต่เมื่อเขาเป็นสัตว์ต่างชนิดกับเรานั่นแหละจนใจอยู่”
…..
อ้างอิง
น.ม.ส.(2539).จดหมายจางวางหร่ำ.กรุงเพทฯ : ลายกนก.