ดวงเทียนริบหรี่ในแรงลม

light

จิปาถะ
“ดวงเทียนริบหรี่ในแรงลม”
มีผู้บริหารบางคนได้ตำแหน่งมาโดยใช้ “กลอุบาย” แปลว่า ล่อลวง ชั้นชิง เป็นของร้าย และเมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้วแทนที่จะใช้กุศโลบาย หรือ กลยุทธ (strategy) แปลว่า เชิงฉลาด เป็นของดี ในการบริหารงาน ให้เจริญก้าวหน้าไปตามปกติ แต่หลงเพลินไปกับการใช้กลอุบายบริหารงานเพราะคิดว่าคนอื่นโง่ ซื้อได้ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นในองค์กรเป็นอันมาก และทำท่าจะไปไม่รอด ซึ่งจะตรงกับวาทะของปราชญ์จีนที่ว่า “ดวงเทียนริบหรี่ในแรงลม” ซึ่งหมายถึง กิจการใดๆที่ปราศจากความมั่นคง จะล้มแหล่มิล้มแหล่หาความแน่นอนอะไรไม่ได้ หรือหมายถึงผู้สูงอายุที่เหมือนไม้ใกล้ฝั่งจะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ (ผมอยู่ในกลุ่มไม้ใกล้ฝั่งจะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้นี้ด้วย)
คำพังเพยนี้มาจากเรื่องจริงในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271-1367) ซึ่งเป็นเรื่องของความกตัญญู มีเรื่องราวคล้ายๆกับเรื่องของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ลาออกจากราชการเพื่อไปดูแลมารดาซึ่งป่วย เรื่องโดยย่อมี ดังนี้
หลิวอิน เป็นคนขยันหมั่นเพียร มีความกตัญญูเต็มร้อย บิดาตายตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก มารดาจึงเป็นผู้เลี้ยงดูให้การศึกษา
เมื่อจบการศึกษา ได้เข้ารับการการมีตำแหน่งสูง มีแววว่าจะเจริญก้าวหน้ารุ่งโรจน์ต่อไป แต่บังเอิญมารดาเขาล้มป่วย หลิวอิน จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ เพื่อกลับมาปรนนิบัติดูแลมารดาที่บ้าน
ทางราชการเห็นว่า หลิวอิน มีความรู้ความสามารถ ได้ส่งคนมาเชิญให้กลับไปรับราชการอีก หลิวอินกล่าวว่า
“ข้ามีมารดาอยู่เพียงท่านเดียว สูงอายุถึง 90 ปีแล้วในปีนี้ จะเปรียบไปก็เหมือนดวงเทียนริบหรี่ในแรงลม จะดับมืดสิ้นไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ คนอื่นปรนนิบัติหรือจะอุ่นใจเท่าลูกในไส้ จะให้ข้าตัดใจทิ้งแม่ไปเพื่อหาลาภยศสรรเสริญเฉพาะตัวได้อย่างไร”(ศุภนิมิต.69)
ความกตัญญูรู้คุณมารดาบิดานั้นเป็นเรื่องดี เป็นมงคล ดังคำบาลีในมงคลสูตรว่า “มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” แปลว่า การบำรุงมารดาบิดา นี้เป็นมงคลสูงสุด ดังนั้นใครก็ตามที่มีความกตัญญูมารดาบิดาจึงควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริม ไม่ใช้หาวิธีกรีดกันกลั่นแกล้งหน่วงเหนี่ยว ซึ่งถือเป็นการกระทำที่สร้างความเจ็บปวดอย่างที่สุดต่อผู้มีใจกตัญญู หรือว่าผู้บริหารสามารถกตัญญูมารดาบิดาได้แต่เพียงผู้เดียว ผู้ใต้บังคับบัญชาจะกตัญญูบ้างไม่ได้ ไม่ยอม คิดแล้วก็สงสารผู้ใต้บังคับบัญชานะ จะเป็นคนกตัญญูกับเขาบ้างก็ไม่ได้
….
อ้างอิง
ธนิต อยู่โพธิ์ (2517).ทวาทปริตต์ หรือ สิบสองตำนาน.กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธจักร
วิจิตรวาทการ,หลวง.(2531) กุศโลบาย.พิมพ์ครั้งที่ 6.กรุงเทพฯ : บริษัท สารมวลชน จำกัด.
ศุภนิมิต(แปลเรียบเรียง).(2535).ปราชญ์สอนว่า.กรุงเทพฯ : บริษัท มีเดียโฟกัส จำกัด

 

 

 

 

 

Comments are closed.