จิตและวิญญาณ 1

minds

จิปะถะ
จิตและวิญญาณ 1
1
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งรจนาโดย พระพุทธโฆสเถระ(2551:756) อธิบายว่า “ วิญญาณ จิต มโน” โดยเนื้อความก็อันเดียวกัน วิญญาณนี้นั้น แม้เป็นอย่างเดียวกันตามสภาพ โดยลักษณะก็คือความรู้แจ้ง” ส่วนลัทธิโยคีถือว่า ดวงจิตหรือ จิต,ใจ กับวิญญาณ เป็นคนละอย่างกัน และถือว่าวิญญาณอยู่สูงกว่าจิต
2
เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ ควรพิจาณาคำดังต่อไปนี้ ซึ่ง หลวงวิจิวาทการ(2553:28) นำเสนอว่า
“1) หัวใจ ตรงกับคำภาษาบาลีว่า หทยํ ภาษาอังกฤษว่า Heart (ฮาร์ต)
2) จิตหรือดวงจิต ตรงกับภาษาบาลีว่า จิตตํ ภาษาอังกฤษว่า Thought (ท้อต)
3) ใจหรือดวงใจ ตรงกับภาษาบาลีว่า มนะ หรือ มโน ภาษาอังกฤษว่า Mind (ไมน์ด)
4) วิญญาณ ตรงกับภาษาบาลีว่า วิญญาณํ ภาษาอังกฤษว่า Spirit (สปิริต)
3
หัวใจ หรือ Heart หมายถึงใจเนื้อ ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตในร่างกาย ส่วนจิต Thought กับ ใจ Mind เป็นธรรมชาติอีกอันหนึ่ง จิต ทำหน้าที่คิด ส่วนใจ หรือ มโน ทำหน้าที่สั่งการ ส่วนคำว่า วิญญาณ ในพระพุทธศาสนา แปลว่าความรู้ หรือความรู้แจ้ง ในลัทธิโยคี คำว่า วิญญาณ แปลว่า “รับรู้” สิ่งต่างๆที่ผ่านอายตนะจะเข้าถึงจิต จิตวินิจฉัยอย่างไรก็สั่งการไปยังใจ จิตกับใจ ทำผิดถูกอย่างไร วิญญาณจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด
4
ดวงจิต
คำว่า “ดวงจิต” ในที่นี้จะหมายถึง จิต กับ ใจ ในลัทธิโยคี หรือ “จิต ใจ วิญญาณ” ในพระพุทธศาสนา
ซึ่งทั้งพระพุทธศาสนาและลัทธิโยคีมีคำอธิบายไปในทำนองเดียวกัน ดังนี้
ในลัทธิโยคี ดวงจิตปกติเป็นสภาพที่ผ่องใสอยู่เสมอ แต่เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบจึงทำให้ดวงจิตเปลี่ยนไป กลายเป็นดีหรือร้ายตามสภาพของอารมณ์ เหมือนน้ำที่ใสบริสุทธิ์ เมื่อมีสิ่งปลอมปน เช่น มีสีเขียวมาผสมก็จะกลายเป็นน้ำเขียว หรือสิ่งที่เข้ามาผสมสกปรกโสโครก น้ำก็จะขุ่นมัวสกปรกโสโครกไปด้วย
ในพระพุทธศาสนา จิตเป็นประภัสสร “ หมายถึงจิตเดิมแท้ที่ยังว่างอยู่ ยังไม่ถูกอะไรปรุงแต่ง ยังไม่ถูกหุ้มห่อด้วยกิเลส ไม่ถูกหุ้มห่อด้วยผลของกิเลส คือความดี ความชั่ว เป็นต้น เหมือนอย่างเพชร มันมีรัศมีในตัวมันเอง มันเรืองแสงของมันได้ เหมือนอย่างจิตเดิมแท้ประภัสสร แต่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ มันจึงเปลี่ยนแปลงได้ มันจึงต้องมีการอบรมจนเป็นประภัสสรที่ถาวร ชนิดที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้เปลี่ยนแปลงได้” (พุทธทาสภิกขุ .2002 :144)
5
ในลัทธิโยคี ดวงจิตหมายถึงดวงจิตที่ได้รับการฝึกฝนแล้วเป็นอย่างดี คือ มีสภาพอยู่เบื้องสูง ส่วนดวงจิตที่ไม่สามารถฝึกฝนให้อยู่ในเบื้องสูงได้ ไม่เรียกว่าดวงจิต จะเรียกว่าอะไรไม่มีชื่อ ซึ่ง หลวงวิจิตวาทการ(2553:31) อธิบายว่า “ ดวงจิตคือธรรมชาติอันหนึ่ง ซึ่งอยู่เหนือความรู้สึกธรรมดา (สัญญา) และอยู่เหนือปัญญา เมื่อดวงจิตมีกำลังแรงกล้า มนุษย์ก็มีสภาพสูงขึ้น มีความเลื่อมใสในศาสนาและปฏิบัติตาม มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ มีความยุติธรรม ไม่เห็นแก่ตัว”
จากที่นำเสนอโดยย่นย่อมาจะเห็นได้ว่า ดวงจิตแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคจิต ที่ได้รับการฝึกฝนให้คิดอะไรถูกต้องเที่ยงธรรม และภาคใจที่ได้รับการฝึกฝนให้มีอำนาจหาความถูกต้องเที่ยงธรรมให้แก่จิต ทั้งสองประการนี้เป็นหลักปฏิบัติของลัทธิโยคี
ส่วนดวงจิตของบางคนที่ไม่สามารถฝึกฝนให้อยู่เบื้องสูงได้นั้น น่าสงสารมาก เพราะลัทธิโยคีไม่เรียกว่าดวงจิต เรียกว่า “ไม่มีชื่อ”
……
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)(2551)คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระรจนา.พิมพ์ครั้งที่ 7.กรุงเทพฯ ธนาเพรส.

พุทธทาสภิกขุ (2002)พจนานุกรมธรรมของท่านพุทธทาส กรุงเทพฯ ธรรมสภา
วิจิตรวาทการ,หลวง.(2553).ลัทธิโยคีและมายาศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ สาร้างสรรค์บุ๊คส์.

 

 

Comments are closed.