จงเจริญเมตตาพรหมวิหารอยู่เป็นนิตย์

monk

จงเจริญเมตตาพรหมวิหารอยู่เป็นนิตย์
บางครั้งเราก็หลงไปแสวงหาเมตตาพรหมวิหารจากคนที่ไม่มี อันเป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่จะมาเจริญพรหมวิหารธรรมให้เป็นปกติเสียเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องต้านทานป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้น ทั้งอาจเป็นเครื่องช่วยดึงดูดนิสัยสันดานอันโหดร้ายทารุณของผู้ที่คอยกดขี่ข่มเหงเราให้จางลงได้บ้าง

เพื่ออธิบายเรื่องนี้ให้กระจ่าง ขอนำเสนอการปุจฉาวิสัชนา ระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน มาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์ “ดูก่อนพระนาคเสน เมตตาพรหมวิหารมีอานิสงส์เท่าไร”
พระนาคเสน “มี 11 ประการคือ 1) นอนเป็นสุข 2) ตื่นก็เป็นสุข 3) ฝันดีเป็นมงคล 4) เป็นที่รักใคร่ของหมู่มนุษย์ 5) เป็นที่รักใคร่ของพวกอมนุษย์ 6) เทพยดาย่อมรักษา 7) เพลิงหรือพิษหรือศัสตราวุธย่อมไม่ตกต้อง 8) จิตย่อมมั่นคง 9) ผิวหน้าผ่องใส 10) จะตายก็มีสติ 11) ถ้ายังไม่บรรลุมรรคผลก็ไปเกิดยังพรหมโลก”
พระเจ้ามิลินท์ “อานิสงส์ 11 ประการนี้พระพุทธเจ้าตรัสแจงไว้หรือ”
พระนาคเสน “ขอถวายพระพร”
พระเจ้ามิลินท์ “ถ้าเช่นนั้น พระสุวรรณสาม ผู้เจริญเมตตาพรหมวิหารอยู่เนืองๆ เหตุไฉนจึงถูกลูกศรของปิลิยักษ์ล้มสลบอยู่กับที่เล่า”
พระนาคเสน“เป็นเพราะขณะนั้นพระสุวรรณสาม ประมาทมิได้เจริญเมตตาพรหมวิหาร เนื่องจากต้องดูแลบิดามารดาทำให้เผอเรอไป ท่านจึงถูกยิง”
พระเจ้ามิลินท์ “พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบให้ฟัง”
พระนาคเสน“ลูกศรที่ข้าศึกยิงมา จะป้องกันมิให้ถูกตัวได้ก็เพราะเวลาสวม เกราะมิใช่หรือ ขอถวายพระพร เมตตาพรหมวิหารก็เช่นเดียวกันจะเกิดผลตามที่พระพุทธองค์ตรัสแจงไว้ก็ต่อเมื่อเจริญจิตภาวนาอยู่เป็นนิตย์ ถ้าประมาทละเลยเสีย เมตตาพรหมวิหารก็ไม่มีกระแสพอที่จะต่อต้านอันตรายนั้นได้
ขณะที่ปิลิยักษ์ทรงยิงศรมานั้น พระสุวรรณสามประมาทมิได้เจริญเมตตาพรหมวิหาร ทำให้เมตตาจิตมีกระแสน้อยลง มีกำลังไม่พอที่จะดึงดูดพระนิสัยอันทารุณของปิลิยักษ์ให้จางลงได้”(แก้วชาย.140-142)

ดังนั้น พวกเราจะต้องไม่ตั้งอยู่ในความประมาทละเลย ควรเจริญเมตตาพรหมวิหาร ตั้งจิตภาวนาอยู่เป็นนิตย์ ทั้งนี้เพื่อสร้างกระแสเมตตาจิตให้แข็งแรง ให้มีกำลังพอที่จะดึงดูดนิสัยสันดานอันทารุณโหดร้ายของผู้บริหารของผมให้จางลงได้บ้าง

คำถามก็คือ “ผมฝันไปหรือเปล่า”
…………
อ้างอิง
แก้วชาย ธรรมาชัย.(มปป)ปัญหาพระเจ้ามิลินท์.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตรงหัว
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต).(2553).พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.พิมพ์ครั้งที่ 8.กรุงเทพฯ :
เพิ่มทรัพย์การพิมพ์.

 

Comments are closed.