คุณธรรมของหัวหน้า

monky

จิปาถะ
คุณธรรมของหัวหน้า (ปรับจากนิทานชาดกเรื่อง มหากปิชาดก ในพระสุตันตปิฏก)
ในกาลอดีต พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาวานร มีฝูงวานรบริวารเป็นจำนวนมาก อาศัยอยู่ในป่า ณ ริมฝั่งแม่น้ำนั้นมีต้นมะม่วงใหญ่ต้นหนึ่งมีผลใหญ่และดกตลอดปี อีกทั้งมีรสหอมหวานดังผลไม้ทิพย์ วานรฝูงนั้นได้อาศัยอยู่กินที่บริเวณนั้นอย่างมีความสุข พญาวานรเกรงว่าอาจมีภัย หากความอร่อยของผลมะม่วงจะเป็นที่เลื่องลือกระจายไป จึงสั่งให้พวกวานรเก็บมะม่วงกิ่งที่ยื่นลงไปด้านแม่น้ำก่อน เพราะเกรงว่ามะม่วงจะหล่นลอยน้ำไป อาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายมาถึงพวกวานรได้

ฝูงวานรได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่บังเอิญว่ามีผลมะม่วงสุกลูกหนึ่ง ซ่อนอยู่ข้างรังมดแดง ไม่มีวานรตัวใดมองเห็น เมื่อผลมะม่วงสุกงอมแล้วได้ล่นลอยตามน้ำไปติดตาข่ายของพระราชาที่ขึงไว้สำหรับเล่นกีฬาทางน้ำ หลังจากพระราชาเสด็จกลับจากเล่นกีฬา เจ้าพนักงานได้เก็บตาขายพบผลมะม่วงจึงนำไปถวายพระราชา เมื่อพระองค์ได้ลองชิมมะม่วงแล้วติดใจในรสชาติ พระองค์จึงสั่งให้เจ้าพนักงานออกค้นหามะม่วงต้นนั้น และก็พบจนได้แต่มีปัญหาตรงที่มีฝูงวานรอาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนมากถึงแปดหมื่นตัว
พระราชาได้เตรียมทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เดินทางไปยังต้นมะม่วงนั้น และจะจัดการฝูงวานรให้พ้นไป เพื่อพระองค์จะได้เสวยผลมะม่วงได้อย่างสบาย
เมื่อกองทหารใกล้เข้ามา พญาวานรได้เตรียมพาฝูงวานรหนีไปยังฝั่งตรงข้าม โดยนำเอาปลายเถาวัลย์ผูกไว้กับกิ่งมะม่วง ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งผูกไว้กับเอว จากนั้นก็กระโดดข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อใช้เถาวันเป็นเส้นทางให้ฝูงวานรหนี แต่ปรากฏว่าเถาวัลย์ที่เตรียมไว้สั้นเกินไป พญาวานรจึงต้องใช้มือจับกิ่งไม้ไว้ สั่งให้ฝูงวานรข้ามไป ฝูงวานรได้ไต่ไปตามเถาวัลย์ ไหว้ขอขมาแล้วเหยียบหลังของพญาวานรข้ามไปได้อย่างปลอดภัยทั้งหมด

เรื่องยังไม่จบแค่นั้นครับ เพราะไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ เมื่ออาศัยอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ใหญ่ก็ต้องมีทั้งคนที่รักและคนที่ชัง จึงปรากฏว่ามีวานรใหญ่ตัวหนึ่งซึ่งไม่ชอบพญาวานรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้โอกาสที่จะทำร้ายพญาวานร จึงกระโดดจากต้นมะม่วง ใช้เท้าเหยียบหลังพญาวานรเต็มแรง เป็นผลให้พญาวานรหลังหัก บาทเจ็บ อยู่ ณ ที่นั้น

พระราชาได้เห็นเหตุการณ์นี้โดยตลอด รู้สึกชื่นชมในความเสียสละของพญาวานรนั้นเป็นอันมาก ได้เสด็จข้ามไปที่พญาวานรได้รับบาดเจ็บ จัดการให้การรักษาพยาบาลและตรัสถามว่า
“ท่านพญาวานร ท่านเป็นอะไรกับพวกวานรเหล่านี้หรือ ถึงได้ยอมเสียสละชีวิต ทอดตัวเป็นสะพานให้พวกวานรเหล่านั้นข้ามไปได้อย่างปลอดภัยทั้งหมด”
พญาวานรตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าของฝูงวานรเหล่านั้น เมื่อมีภัยเกิดขึ้น ข้าพเจ้าต้องช่วยพวกเขาให้รอด แม้ข้าพเจ้าจะต้องตายก็ไม่เสียดายชีวิต เพราะได้ช่วยให้เขารอดตาย และไปมีความสุข สมกับที่พวกเขาพากันเลือกให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า”
จากนั้นพญาวานรทนพิษจากบาดแผลไม่ได้ ก็เสียชีวิตลง

อำไพ สุจริตกุล (21) ได้ให้ข้อคิดจากนิทานชาดกเรื่องนี้ว่า “คุณธรรมของหัวหน้าหรือผู้นำ คือ อดทน เสียสละ มีพรหมวิหารธรรมและไม่เห็นแก่ตัว ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของผู้น้อย บริวารหรือผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อจรรโลงคุณธรรมดังกล่าวนี้ แม้ชีวิตก็ยังเสียสละได้ มิใช่เป็นผู้นำประเภทไม่อดทน เอาตัวรอด และเห็นแก่ตัว”

อ้างอิง
ศ.กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล.(ม.ป.ป.) คุณธรรมของผู้นำ ใน จินตนาการสืบสานวรรณกรรมไทย.กรุงเทพฯ : บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด
(มหาชน)

Comments are closed.