คำเปรียบเทียบ

golf

จิปาถะ
คำเปรียบเทียบ
เพื่อนต่อว่ามาอีกแล้วครับ กล่าวหาว่า เดี๋ยวนี้อายุมาก ไม่แน่เหมือนแต่ก่อน ไม่กล้าชนตรงๆแต่ใช้วิธีเปรียบเทียบ กว่าจะรู้ว่าเป็นเรื่องอะไรก็ต้องอธิบายกันยาว เยิ่นเย้อ ยืดยาด น่ารำคาญ
ผมก็ได้แต่หัวเราะ และยกนิทานอุปมาจีนโบราณมาเล่าให้ฟัง 1 เรื่อง “คำเปรียบเทียบ” เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ซัวย่วน” สรุปความย่อๆ ดังนี้
ครั้งหนึ่ง กษัตริย์เหลียวหวังโปรดให้ฮุ่นจือมหาดเล็กเข้าเฝ้า และตรัสว่า “มีคนมาฟ้องว่า ท่านฮุนจื่อ ไม่ชอบพูดตรงๆ ชอบใช้คำเปรียบเทียบเสมอ เวลาอธิบายอะไรก็ไม่ชัดแจ้ง” และตรัสว่า “ต่อไปนี้จะพูดอะไรให้พูดตรงๆ ไม่ต้องเปรียบเทียบได้ไหม”
แทนที่ฮุนจื่อจะทูลว่า ได้ หรือ ไม่ได้ แต่ฮุนจื่อทูลว่า “สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งไม่รู้จักเครื่องยิงกระสุน และถามพระองค์ว่ามันคืออะไร พระองค์ก็คงจะตอบเขาว่าเครื่องยิงกระสุนรูปร่างเหมือนเครื่องยิงกระสุน ชายคนนั้นจะเข้าใจหรือไม่พระเจ้าข้า”
กษัตริย์เหลียวหวังตรัสตอบว่า “คงจะไม่เข้าใจ แล้วจะทำอย่างไรล่ะ” กษัตริย์เหลียวหวังตรัสถามฮุนจื่อ
ฮุนจื่อทูลว่า “พระองค์ต้องบอกเขาว่า เครื่องยิงกระสุนนั้นมีรูปร่างคล้ายกับเกาทัณฑ์ เปรียบเทียบเช่นนี้เขาก็จะเข้าใจ” กษัตริย์เหลี่ยวหวังทรงตรัสว่า “ถูกต้องแล้ว”

ส่วนผมนั้นปกติก็จะพูดตรงๆกับคนที่รู้เรื่องเดียวกัน เช่น เรื่องการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ร. 1 ที่บุรีรัมย์ผิดแบบ เมื่อข้อมูลชัดเจนตามเอกสารว่าจะสร้างพระบรมรูป ร. 1 ประทับบนคอช้างศึก แต่เวลาสร้างจริงๆปรากฏว่าพระบรมรูปเปลี่ยนไปประทับบนหลังช้าง เมื่อนักข่าวมาถาม ผมก็ตอบว่าสร้างผิดแบบ นักข่าวถามต่อว่า “ใครสร้างละ” ผมก็ตอบว่ากรมศิลปากร ก็ว่าไปตามข้อเท็จจริงอย่างนั้น ปรากฏว่านายนิคม มุสิกคามะอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น แทนที่จะอธิบายถึงเหตุและผลที่สร้างอย่างนั้น แต่ท่านกลับกล่าวหาว่าผมหมิ่นประมาทและแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจชนะสงคราม ผมก็ต้องไปรายงานและประกันตัว แต่ท้ายที่สุดอัยการก็ยกฟ้อง

แต่บางครั้ง ผมก็ใช้วิธีเปรียบเทียบ ไม่ใช้เพราะว่าอายุมากหรือกลัว แต่เนื่องจากพูดกับคนที่ไม่รู้เรื่องที่จะพูด เช่น เรื่องความโลภ ก็เขาไม่รู้จักว่าความโลภคืออะไร จะบอกว่าโลภคือโลภ ก็คงไม่รู้เรื่องไปกันใหญ่ ก็ต้องหาเรื่องมาเปรียบเทียบหรือเอานิทานอีสปเรื่องหมากับเงามาเล่าให้ฟัง ว่าหมาตัวหนึ่งคาบชิ้นเนื้อ ผ่านไปที่ท่าน้ำ มองเห็นหมาอีกตัวหนึ่งในน้ำมีชิ้นเนื้อชิ้นใหญ่กว่า ก็คายชิ้นเนื้อในปาก กระโดดลงไปแย่งชิ้นเนื้อหมาในน้ำ ก็เลยทั้งเปียกและอด เรียกว่าโลภมาก ชอบยื้อแย่ง ผมบอกเพื่อนว่า“สำหรับนางแต้ม ผมก็ต้องใช้การเปรียบเทียบ เพราะเธอไม่รู้”
เพื่อผมบอกว่า “ถูกต้องแล้ว”
…..
เว่ย จินจือ (ม.ป.ป.)นิทานอุปมาอุปไมยจีน.สำนักพิมพ์ยินหยาง.

Comments are closed.