ความปราโมทย์และความเศร้าโศก

olympia

จิปาถะ
ความปราโมทย์และความเศร้าโศก

ในหนังสือ ปรัชญาชีวิต (The Prophet) ของ คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran : 1883-1931)
หญิงหนึ่งพูดขึ้นว่า ท่าน อัลมุสตาฟา ผู้บริสุทธิ์และเป็นที่รัก ได้โปรดกล่าวแก่เราถึงความปราโมทย์และความเศร้าโศก
และท่านตอบว่า
“ความปราโมทย์ของเธอนั้น คือความเศร้าโศกถอดหน้ากากออก
และจากบ่อเดียวกัน ที่เสียงหัวเราะของเธอผุดขึ้นมานั้น
บ่อยครั้ง มันเปี่ยมไปด้วยน้ำตาของเธอ
มันจะเป็นอย่างอื่นใดได้อีกเล่า
ความเศร้าโศกยิ่งบาดลึกลงไปในผิวเนื้อของเธอได้เท่าใด เธอก็จะสามารถรับเก็บเอาความปราโมทย์ได้มากขึ้นเพียงนั้น”(คาลิล30)

“เธอบางคนกล่าวว่า ความปราโมทย์นั้นยิ่งใหญ่กว่าความเศร้าโศก
และอีกพวกแย้งว่า ไม่ใช่ ความเศร้าโศกต่างหากที่ใหญ่ยิ่งกว่า
แต่เราขอบอกแก่เธอว่า มันมิอาจแยกจากกันได้
มันมาด้วยกัน และขณะเมื่อสิ่งหนึ่งนั่งอยู่กับเธอที่โต๊ะ พึงระลึกไว้ว่า
อีกสิ่งหนึ่งหลับรออยู่บนเตียง”(คาลิล.31)

เมื่อศิษย์อ่านสิ่งที่ผมชี้ให้อ่านเสร็จ เขาหันมาแสดงความเห็นว่า
ทัศนะของคาลิล ก็เหมือนกับของ คาโบกุ มิซูโน นะซิ

มิซูโน กล่าวว่า
“ข้างแรมย่อมติดตามข้างขึ้นมาเสมอ นี่คือระเบียบของฟ้าดิน”(มิซูโน.22)

ผมตอบว่า เป็นเช่นนั้น
ศิษย์ผมสรุปว่า
ที่วันนี้นางแต้มโกรธเกลียดข่มเหงรังแกพวกเรานั้น หมายความว่าพรุ่งนี้เธอจะรักเราใช่หรือไม
ผมตอบว่า “ถูกต้อง”
“แต่” ผมหยุดนิดหนึ่ง
“แต่อะไรครับ” ศิษย์ผมถาม
“แต่อาจจะเป็นชาติหน้าตอนบ่ายๆนะเธอ”
ศิษย์ผมกระแทกเสียง “บัดซบ !” ก่อนเดินหายเข้าไปในเงามืด
….
อ้างอิง
คาลิล ยิบราน (2516) ระวี ภาวิไล แปล.ปรัชญาชีวิต.กรุงเทพฯ : ศึกษิตสยาม.
นัมโบกุ มิซูโน.(2536).อุดร ฐาปโนสถ แปล.อาหารกำหนดชะตากรรมของท่าน.กรุงเทพฯ : สาระ.

 

Comments are closed.