ความดี ความชั่ว

boy

จิปาถะ
ความดี ความชั่ว
เรื่องของความดีและความชั่วนั้น เป็นของคู่กัน เหมือนกลางวันกับกลางคืน ข้างขึ้นกับข้างแรม หรือหยินกับหยาง หรืออาจว่าต่อไปให้ยาวเหยียดได้อีกมาก แต่ความดีต้องทำกันนาน ทำแล้วทำอีก กว่าคนจะเห็นความดีที่ทำ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะการทำความดี ผู้ทำเกิดปิติขึ้นในใจ อันถือได้ว่าสมบูรณ์แล้ว อีกประการหนึ่ง ความดีที่ทำนั้น เมื่อเล่าขานให้ใครฟัง เล่า 100 ครั้ง ก็มีความสุข 100 ครั้ง ผิดกับการทำความชั่ว ทำเพียงครั้งเดียวก็จะชั่วไปตลอด เล่าให้ใครฟังก็ไม่ได้ จึงอัดแน่นอยู่ในใจ ทำให้ใจไม่เป็นสุข หน้าตาเศร้าหมอง ถึงแม้ว่า ต่อมาได้เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทำคุณงามความดีก็ไม่มีใครไว้วางใจเสียแล้ว เพราะภาพของความชั่วนั้นปรากฏจนเจนตา ดังตัวอย่างเรื่องเจ้าแม่ผีเด็กอันเป็นเจ้าแม่ของชาวจีนท้องถิ่นเสฉวน ที่นับถือกันเฉพาะที่เท่านั้น ไม่แพร่หลายเหมือนเจ้าแม่อื่นๆ เจ้าแม่องค์นี้มีชื่อเป็นภาษาจีน สำเนียงแต้จิ๋วว่า
“กุ้ยจื่อบ้อ”
คำว่ากุ้ย แปลว่า ผี จื้อ แปลว่า เด็กชาย,ลูกชาย บ้อ แปลว่า เจ้าแม่ จึงแปลว่า เจ้าแม่ผีเด็ก เพราะเจ้าแม่องค์นี้มีประวัติเป็นผีกินเด็ก
ภาพเขียนของเจ้าแม่ผีเด็กนี้ จะเขียนให้ดูน่ากลัว คือ มีใบหน้ากลม ผมเป็นกระเซิงเป็นรูปเปลวไฟสีแดงจ้า สวมชุดสีทองคลุมท้องที่ป่อง ประทับอยู่กับเด็ก 9 คนและบริวารทั้งที่เป็นเทพและอสูร (ดูตามรูปก็ไม่ค่อยเห็นน่ากลัวเท่าไร) ตามตำนานกล่าวว่า
เสฉวนในอดีต เป็นถิ่นที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากมายหลายกลุ่ม ชนพวกนี้จะอพยพย้ายที่ทำไร่เลื่อนลอยไปเรื่อยๆ ครั้งหนึ่ง มีชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 500 คน ได้พากันอพยพย้ายที่ทำกิน ในการอพยพครั้งนั้นมีนางซื้อหลี ซึ่งกำลังท้องและแพ้ท้องมากอยู่ด้วย นางไม่สามารถเดินทางอย่างเร่งด่วนได้ นางจึงขอร้องให้พวกอพยพหยุดพักนานๆและบ่อยๆ แต่ไม่มีใครสนใจ จนในที่สุดนางก็แท้งลูกและตาย นางโกรธและอาฆาตคนเหล่านั้น ก่อนตายนางอธิฐานว่า เมื่อนางตายไป ขอให้ได้เกิดเป็นวิญญาณที่ทรงพลัง เพื่อตามกินลูกของคนทั้ง 499 คนที่โหดร้ายกับนาง แรงพยาบาท ทำให้ซื้อหลีเกิดเป็นวิญญาณที่ไล่ตามกินลูกของชนกลุ่มนี้ ทำให้เด็กที่เกิดใหม่และตายอยู่เสมอๆ ชาวบ้านพากันขนานนามว่านางผีกินเด็ก หรือ กุ้ยจือบ้อ
ต่อมาได้มีพระโพธิสัตย์ชื่อบุกท้อผ่อสัก ผ่านมา พระองค์ได้เทศนาเปลี่ยนใจวิญญาณนางซื้อหลี ทำให้วิญญาณนางเปลี่ยนเป็นวิญญาณดี คือรักเด็กและรักคนมีลูก ซื้อหลีจึงได้รับฉายาใหม่ว่า “ปุ่ยมึ้งซิ้ง” แปลว่า “เจ้าแม่ผู้มีเมตตา”
แต่ชาวเสฉวนทั่วไปยังคงนิยมเรียกเจ้าแม่กุ้ยจือบ้อ หรือเจ้าแม่ผีเด็ก แม้แต่ภาพวาดก็มีลักษณะน่ากลัวเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน
จะเห็นได้ว่าความชั่วนั้นติดแน่นตามตัวตลอดไป ดังนั้นจงอย่าได้ทำความชั่วเป็นเด็ดขาด
ส่วนที่เกี่ยวกับนางแต้มนั้น เห็นท่าจะต้องหาวิธีอัญเชิญท่าน “บุกท้อผ่อสัก” พระโพธิสัตย์ ให้มาเทศนาเปลี่ยนใจนางดู เผื่อจะได้ผลบ้างนะครับผม

อ้างอิง
จิตรา ก่อนันทเกียรติ.(2544).ทำเนียบเจ้าแม่และผู้วอเศษของจีน.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จิตรา
ภาพ : เจ้าแม่ผีเด็ก (กุ้ยจื่อบ้อ) หน้า 38 จิตรา.ทำเนียบเจ้าแม่และผู้วอเศษของจีน.

Comments are closed.