การสร้างสรรค์งานศิลปะ จากงานวิจัย

samaa

จิปาถะ

การสร้างสรรค์งานศิลปะ จากงานวิจัย

1

มีบางคนชอบดูพูดถูกตัวเองว่า เป็นคนไม่มีศิลป์ หรือพูดเป็นปกติว่า “ไม่มีพรสวรรค์ทางด้านนี้” เมื่อดูงานศิลปะ เช่น ดูภาพเขียน หรือภาพจิตรกรรม ก็จะดูไปอย่างนั้นเอง  ดูไปดูมาก็อดแคลงใจไม่ได้ว่า พวกนี้เขาเขียนภาพอะไรกันนะ  ดูไม่เห็นรู้เรื่องเลย แถมยังตั้งราคาแพง ขายกันเป็นหมื่นเป็นแสนอีกด้วย ไม่รู้จะซื้อเอาไปทำไม และยิ่งได้มีโอกาสเห็นศิลปินสร้างสรรค์งานก็ยิ่งงงไปใหญ่  เห็นเอาสีต่างๆมาปาดป้ายลงบนผืนผ้าใบ จิ้มตรงโน้นที จิ้มตรงนี้ที เขียนแป๊บเดียวก็บอกว่าเสร็จแล้ว ราคาขายเป็นพันเป็นหมื่น นี่มันคืออะไรกันแน่

2

คำตอบที่ไม่มีเอกสารอ้างอิงก็คือ ศิลปินจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากการสะสมประสบการณ์และทักษะความสามารถเฉพาะตัว  แต่ก่อนที่เขาจะสร้างสรรค์งาน หรือเขียนรูปอะไรขึ้นมาสักรูปหนึ่ง เขาจะใช้เวลาศึกษาค้นคว้าเรื่องราวที่เขาจะเขียน จินตนาการรูปแบบโดยการสเก็ต  เพื่อให้ได้รูปแบบตามสิ่งที่เขาต้องการแสดงออก เขาคิดเขียน ออกแบบบนกระดาษ บนโต๊ะกาแฟ หรือที่ไหนก็ตาม  เมื่อเขาเกิดนึกอะไรขึ้นได้ตอนนั้น   แก้ไขปรับปรุงจนสามารถนำเสนอรูปแบบของความคิดที่เขาต้องการ และเมื่อลงมือเขียนจริง  เขาก็จะใช้เวลาเขียนไม่มากนัก ในการสำแดงสิ่งที่เขาต้องการออกมา  แต่บางครั้งก็ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเสร็จ  และเมื่อเราได้ดูผลงานที่เขาสร้างสรรค์  บางทีเราก็แทบจะไม่เข้าใจอะไรเลย  นอกจากศิลปินจะอธิบายสิ่งที่เขาสร้างสรรค์นั้นให้เราฟัง แต่นั่นแหละ  ศิลปินก็จะไม่อธิบายอะไร  เพราะศิลปิน คือผู้สร้างสรรค์งาน ไม่ใช่ผู้อธิบายงาน  จึงเห็นได้ว่า การสร้างสรรค์งานของศิลปินนั้น เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมากว่า ไม่มีระบบระเบียบอะไรแน่นอน

3

แต่ในปัจจุบัน มีการเรียนการสอนศิลปะถึงระดับดุษฏีบัณฑิต   ผู้ศึกษาในระดับนี้หรือระดับอื่นๆจะสร้างสรรค์งานศิลปะแบบเดียวกับศิลปิน แต่เนื่องจากเขาเป็น “ศิลปินบัณฑิต” เขาจะต้องสามารถอธิบายผลงานของเขาให้คนอื่นเข้าใจได้  มีการศึกษาวิจัยตามระเบียบวิธีวิจัยอย่างเป็นระบบ จนได้คำตอบของสิ่งที่เขาต้องการจะนำเสนอ มีรายงานวิจัยที่เป็นรูปเล่มชัดเจน จากนั้นจึงนำสิ่งที่เขาศึกษาค้นคว้านั้น มาคิดค้นรูปแบบ เพื่อสื่อสิ่งที่ได้ศึกษานั้นออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันมีการให้ทุนวิจัยสร้างสรรค์แก่ผู้ที่ทำงานศิลปะด้วย  ซึ่งก็คงจะไม่ได้หมายความว่าเขียนรูปขอทุนอย่างเดียว แต่ต้องมีรายงานการวิจัย ประกอบผลงานสร้างสรรค์ ดังนั้น เมื่อเราดูผลงานของเขา  เราก็จะสามารถเข้าใจได้ ว่าผู้สร้างสรรค์งานนั้นเขาต้องการสื่ออะไร สื่อได้ตรงตามที่ศึกษามาหรือไม่ ผลงานสร้างสรรค์มีคุณค่าทางความงาม ทั้งทางด้านรูปแบบและเนื้อหาหรือไม่อย่างไร  ขอยกตัวอย่าง งานจิตรกรรมสื่อผสม : ความกลัวในวิถีชีวิต PAINTING MIXED MEDIA : FEAR IN THE WAY OF LIFE หัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาดุษฏีบัณฑิต  คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2554 ของนางสาวสมาพร  คล้ายวิเชียร  ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารวบรวมความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับความกลัวในวิถีชีวิตที่ถ่ายทอดออกมาเป็นสัญลักษณ์ในการป้องกันภัย  และนำสัญลักษณ์ตามความเชื่อที่ได้ศึกษามาสร้างผลงานจิตรกรรมสื่อผสม ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีขั้นตอนคือ

1) ศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องทางศาสนา ความเชื่อ จิตวิทยา และศิลปะ เพื่อกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย

2)สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมสื่อผสม

3) วิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมสื่อผสมในด้านรูปแบบ ความงาม และการสื่อความหมาย โดยใช้ทฤษฏีสีของโคบายาชิ  ทฤษฏีการวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์ระหว่างส่วนมูลฐานทางศิลปะและหลักการทางศิลปะของ ยีน มิทเลอร์ (สมาพร.2554.4)

4

จากที่นำเสนอมาก็เพื่อจะแบ่งผู้สร้างสรรค์งานศิลปะออกเป็น  2 กลุ่ม คือ กลุ่มศิลปิน กับกลุ่มศิลปินบัณฑิต ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะใช้วิธีในการสร้างสรรค์งานศิลปะในลักษณะเดียวกัน คือ ศึกษาข้อมูลจนถ่องแท้แล้ว ก็สร้างสรรค์ผลงานที่ต้องการ จะแตกต่างกันตรงที่ กลุ่มศิลปินบัณฑิต จะมีรายงานการวิจัย การออกแบบตามข้อค้นพบจากงานวิจัย และสร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบโจทย์งานวิจัยที่ศึกษานั้น สำหรับครูศิลปะ  นี่คือทางเลือกหนึ่ง ในการสร้างสรรค์งานเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ

แต่ถ้าอยากจะเขียนแต่รูปอย่างเดียว ก็ไม่ว่ากัน

…..

สมาพร  คล้ายวิเชียร.2554.จิตรกรรมสื่อผสม : ความกลัวในวิถีชีวิต.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตร์ดุษฏีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *