การปิดปากประชาชน อันตรายกว่าการปิดกั้นแม่น้ำ

no

จิปาถะ
การปิดปากประชาชน อันตรายกว่าปิดกั้นแม่น้ำ
เมื่อปี 2554 เกิดมีมนุษย์บ้าๆกลุ่มหนึ่ง คิดว่าสามารถจะบังคับน้ำให้ไหลไปทางไหนก็ได้ตามที่ตนปรารถนา จนเกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร สร้างความเดือนร้อนไปทั่ว แต่ถ้าจะมองในแง่ดี (เนื่องจากเหตุได้เกิดขึ้นแล้ว) ก็ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ได้เห็นน้ำท่วมกรุงเทพฯก่อนตาย
ใน นทีสุกตะ บทมนต์สรรเสริญแม่น้ำในฤคเวท ปรากฏความตอนหนึ่งว่า “ สายน้ำไหลไปตามลำคลองที่เทพเจ้าได้เตรียมไว้ให้ การไหลไปของกระแสน้ำเป็นไปตามบัญชาแห่งสวรรค์ ไม่อาจหยุดหรือไหลกลับตามใจปรารถนาของใครได้”(ประมวล เพ็งจันทร์.2554 :1) ถ้ามนุษย์บ้าๆเหล่านั้นเข้าใจเรื่องนี้ ที่เขารู้กันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลแล้วนั้น น้ำก็คงจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ
การปิดกั้นน้ำนั้นถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง แต่ เซ่ามู่กง ขุนนางอาวุโส กล่าวว่า การปิดปากประชาชนมีอันตรายยิ่งกว่า
การปิดปากประชาชน อันตรายกว่าปิดกันแม่น้ำ เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์โจว เรื่องมีอยู่ว่า
จักรพรรดิโจวลี่อ๋อง ทรงเป็นจักรพรรดิที่โหดเหี้ยมทารุณไร้คุณธรรมจริยธรรมอย่างสิ้นเชิง จนเป็นที่เกลียดชังของประชาชนทั่วไป
เซ่ามู่กง ขุนนางอาวุโสได้ถวายคำเตือนหลายครั้งหลายหน แต่พระองค์ก็หาได้ฟังไม่ แต่กลับใช้มาตรการเด็ดขาดในการปิดปากประชาชน “หนังสือ “กั๋วอี่” ได้บันทีกไว้ว่า ประชาชนพบกันตามถนนหนทางไม่กล้าทักทายปราศรัยกันสักคำ ได้แต่ทักทายกันด้วยสายตา”(ส.สุวรรณ.2541.81)
จักรพรรดิโจวลี่อ๋อง ทรงภาคภูมิพระทัยเป็นอย่างยิ่ง กล่าวกับ เซ่ามู่กง ว่า เจ้าเห็นไหม ว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีไม่มีใครกล่าวติเตียนข้าเลย
“เซ่ามู่กง กราบบังคมทูลว่า น่าเสียดาย นั้นไม่ใช่ความสงบเรียบร้อยที่แท้จริง การปิดปากประชาชนอันตรายกว่าการปิดกั้นแม่น้ำ อันแม่น้ำนั้นย่อมปิดกั้นไม่ได้ เมื่อถูกปิดกั้นน้ำย่อมท่วมล้นฝั่ง กลายเป็นอุทกภัย ทำให้เกิดภัยพิบัติใหญ่หลวง ดังนั้น การป้องกันอุทกภัยจำเป็นต้องใช้วิธีระบายน้ำให้เป็นทางระบายออกไปได้คล่อง การปกครองประชาชนก็เช่นกัน จำเป็นต้องปล่อยให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ถึงจะปิดกั้นก็ปิดกั้นไม่อยู่หรอก”(ส.สุวรรณ.2541.82)
แต่จักรพรรดิโจวลี่อ๋อง หาฟังไม่ สามปีต่อมาประชาชนทนต่อการกดขี่ไม่ไหว จึงลุกฮือขึ้นต่อต้าน จักรพรรดิโจวลี่อ๋องถูกโค่นล้ม และถูกขับออกไปจากเมืองหลวง
ประวัติศาสตร์จีนตอนนี้อาจจะเป็นเครื่องช่วยเตือนให้ผู้บริหารของผมสำนึกอะไรได้บ้างกระมัง
………….
อ้างอิง
ประมวล เพ็งจันทร์.(2554).อินเดีย จาริกด้านใน 2 คารวะภารตคุรุเทพ.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
ส.สุวรรณ.(2541).สำนวนจีน.พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิราบ.